9 วิธีแก้ปวดหัวง่าย ๆ ทำได้ที่บ้าน

เมื่อมีอาการปวดหัว หลายคนมักนึกถึงการรับประทานยาแก้ปวดหัว แต่ความจริงแล้วมีวิธีแก้ปวดหัวหลายวิธีที่ทำได้ง่าย ๆ เช่น นอนพักผ่อน ดื่มน้ำให้เพียงพอ หรืออาบน้ำอุ่น ซึ่งช่วยให้อาการปวดหัวดีขึ้นโดยอาจไม่ต้องใช้ยาและไม่ต้องไปพบแพทย์

อาการปวดหัวเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยแต่ละคนอาจมีลักษณะอาการและความรุนแรงของอาการปวดหัวต่างกัน ตามปกติแล้วอาการปวดหัวในชีวิตประจำวันมักไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรง ส่วนมากจะเกิดจากความเครียดจากการเรียนหรือการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ และการที่ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งสามารถหายได้ด้วยการดูแลตัวเอง ในบทความนี้ พบแพทย์ได้รวบรวมวิธีแก้ปวดหัวง่าย ๆ ที่ทำได้ที่บ้านมาฝากกัน

วิธีแก้ปวดหัวง่าย ๆ ทำได้ที่บ้าน

รวม 9 วิธีแก้ปวดหัวง่าย ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง

หากมีอาการปวดหัว ลองทำตามวิธีแก้ปวดหัวเหล่านี้ จะช่วยให้อาการปวดหัวของคุณดีขึ้นได้ง่าย ๆ

1. พักผ่อนให้เพียงพอ

อาการปวดหัวอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายต้องการการพักผ่อน เมื่อมีอาการปวดหัวอาจลองหยุดทำงานและพักสายตาหรืองีบสัก 10 นาที เพราะการทำงานต่อทั้งที่มีอาการปวดหัวจะยิ่งทำให้ปวดหัวมากขึ้น 

และบางครั้งอาการปวดหัวอาจเกิดจากการนอนไม่พอหรือความผิดปกติด้านการนอน เช่น นอนไม่หลับ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับซึ่งอาจทำให้ปวดหัวเรื้อรัง 

เพื่อการนอนที่มีคุณภาพ ควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา ซึ่งระยะเวลาการนอนที่เหมาะสมของผู้ใหญ่โดยทั่วไปคือวันละ 7–9 ชั่วโมง เพราะหากนอนมากไปก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้เช่นกัน และก่อนเข้านอนควรทำกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย เช่น อาบน้ำอุ่น และอ่านหนังสือ หลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์ เล่นอินเทอร์เน็ต และดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้นอนหลับยาก

2. จิบชาอุ่น ๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มชาสมุนไพรอุ่น ๆ เช่น ชาขิง ชาคาโมมายล์ (Chamomile Tea) และชาเปปเปอร์มินต์ (Peppermint Tea) ที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดหัวก็เป็นวิธีแก้ปวดหัวที่แนะนำเช่นกัน แต่ผู้มีโรคประจำตัวหรือใช้ยารักษาโรคใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนดื่มชาสมุนไพร เพราะสมุนไพรเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่และประสิทธิภาพของยาได้

นอกจากนี้ การดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอในแต่ละวันจะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหัวได้ โดยทางกระทรวงสาธาณสุขแนะนำให้ดื่มน้ำวันละ 8–10 แก้ว ทั้งนี้ ปริมาณการดื่มน้ำของแต่ละคนจะแตกต่างกันตามเพศ ช่วงวัย และกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน และควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวมากขึ้น

3. ประคบเย็น

วิธีแก้ปวดหัวอีกวิธีคือการประคบเย็น โดยให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น เจลเย็นสำเร็จรูป หรือน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ห่อด้วยผ้าสะอาดแล้วนำมาประคบบริเวณที่รู้สึกปวด เช่น หน้าผาก ขมับ รอบดวงตา และท้ายทอย ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบ ชะลอการทำงานของเส้นประสาท และทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงช่วยให้อาการปวดหัวดีขึ้นได้

4. อโรมาเธอราพี (Aromatherapy)

อโรมาเธอราพีเป็นการนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในการบำบัดและรักษาโรค โดยน้ำมันหอมระเหยบางชนิดนั้นมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดหัว เช่น น้ำมันลาเวนเดอร์และน้ำมันเปปเปอร์มินต์ โดยสามารถสูดดม สเปรย์ลงบนหมอน หยดลงในอ่างอาบน้ำ และนวดบริเวณศีรษะ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

อย่างไรก็ตาม น้ำมันหอมระเหยบางชนิดมีความเข้มข้นสูง การสูดดมหรือทาลงบนผิวหนังโดยตรงอาจทำให้แสบจมูกระคายเคืองผิวและเกิดอาการแพ้ได้ จึงต้องเจือจางกับน้ำมันชนิดอื่นก่อนใช้ เช่น โจโจบาออยล์ 

5. ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย

การทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายเป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ปวดหัวที่ได้ผล เช่น เล่นโยคะ ฝึกการหายใจ นั่งสมาธิ ชมภาพยนตร์ เล่นเกมเพื่อผ่อนคลาย รวมถึงฟังเพลง อย่างไรก็ตาม เพลงที่เลือกฟังเพื่อผ่อนคลายควรเป็นเพลงที่มีจังหวะช้า ๆ ฟังสบาย ไม่ควรเลือกเพลงที่มีจังหวะรุนแรง เพราะในบางคนอาจทำให้เกิดความรู้สึกตึงเครียดมากขึ้นได้

6. ฝังเข็ม

การฝังเข็มเป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกที่เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของพลังงานในร่างกาย และช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้ อย่างไรก็ตาม ผู้มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับการฝังเข็ม และควรเลือกฝังเข็มกับแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตฝังเข็มอย่างถูกต้อง

7. ปรับการรับประทานอาหาร

บางครั้งอาการปวดหัวอาจเกิดจากการไม่ได้รับประทานอาหาร ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง จึงควรแบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ ตลอดทั้งวันแทนการรับประทานอาหารมื้อหลักในปริมาณมาก ซึ่งช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงเช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดเชีย อัลมอนด์ ผักโขม และถั่วดำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้

นอกจากนี้ อาหารบางอย่างที่เรารับประทานอาจมีสารกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว เช่น ผงชูรสในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ชา กาแฟและช็อคโกแลตที่มีคาเฟอีน เนื้อสัตว์แปรรูป อย่างเบคอนและไส้กรอกที่มีสารไนเตรทสูง และเนื้อสัตว์รมควันและชีสบ่มที่มีสารไทรามีน (Tyramine) ผู้มีอาการปวดหัวบ่อยจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้

8. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นอาการปวดหัว

การอยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เสียงดัง มีกลิ่นฉุนหรือกลิ่นเหม็น และที่กลางแจ้งที่มีแสงแดดจัด อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้มากขึ้น โดยอาการปวดหัวของแต่ละคนอาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างกัน จึงควรสังเกตปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวและหลีกเลี่ยงสถานที่นั้นก็อาจช่วยให้อาการปวดหัวดีขึ้นได้

9. รับประทานยาแก้ปวดหัว

หากลองใช้วิธีอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล อาจเลือกใช้วิธีแก้ปวดหัวด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นวิธีแก้ปวดหัวที่หลายคนคุ้นเคยกันดี ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดหัวที่ไม่รุนแรงมากให้ดีขึ้น ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไปให้รับประทานครั้งละ 500–1,000 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง และรับประทานไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน

นอกจากยาพาราเซตามอล บางคนอาจรับประทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาแอสไพริน (Aspirin) ซึ่งยามีข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับและโรคไต และผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด 

ยาไอบูโพรเฟนและแอสไพรินควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ผู้ที่ปัญหากระเพาะอาหารอักเสบหรือมีแผลในกระเพาะอาหารควรหลีกเลี่ยงการใช้ และห้ามใช้ยาแอสไพรินในเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้

หากดูแลตัวเองด้วยวิธีแก้ปวดหัวข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ปวดหัวบ่อยและปวดรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสม รวมทั้งผู้ที่มีอาการปวดหัวรุนแรงอย่างเฉียบพลัน ปวดหัวหลังประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ คอแข็งเกร็ง ผื่นขึ้น ตาพร่า ร่างกายอ่อนแรง สับสน พูดไม่ชัด และชัก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที