เช็กสัญญาณอาการขาดน้ำ พร้อมวิธีรับมืออย่างถูกต้อง

หลายคนอาจสังเกตสัญญาณอาการขาดน้ำได้เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำหรือของเหลวมากจนเกินไปไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แม้ปัญหานี้ดูไม่เป็นอันตรายอะไร แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาหรือชดเชยน้ำที่เสียไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

อันที่จริง อาการขาดน้ำอาจกระทบต่อการทำงานของร่างกายหลายส่วน เนื่องจากน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และยังมีหน้าที่หลายอย่าง เช่น ช่วยย่อยอาหาร กำจัดของเสีย ผลิตน้ำลาย ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ปรับสมดุลของสารเคมี และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้อีกด้วย 

เช็กสัญญาณอาการขาดน้ำ พร้อมวิธีรับมืออย่างถูกต้อง

เช็กลิสต์อาการขาดน้ำที่ควรรู้

การสูญเสียน้ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเป็นผลมาจากสาเหตุทั่วไปอย่างเหงื่อออกมาก ร้องไห้ หายใจ ปัสสาวะ อุจจาระ หรือปัญหาสุขภาพอย่างอาการไข้ อาเจียน ท้องเสีย หรือโรคเบาหวาน และการใช้ยาบางประเภทอย่างยาขับปัสสาวะ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ควรสังเกตอาการตนเองและเด็กอยู่เสมอ 

อาการขาดน้ำในทารกและเด็กเล็ก

เนื่องจากทารกและเด็กเล็กอาจยังสื่อสารหรืออธิบายรู้สึกความหิวหรือกระหายน้ำได้ยาก จึงอาจก่อให้เกิดอาการขาดน้ำในเด็กโดยที่ผู้ปกครองไม่รู้ตัว เช่น 

  • ปากแห้ง 
  • ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตาหรือมีน้ำตาเพียงเล็กน้อย
  • ปัสสาวะน้อยจนเปลี่ยนผ้าอ้อมน้อยครั้งกว่าปกติ 
  • ตาโหล แก้มตอบ กระหม่อมบุ๋ม
  • กระสับกระส่าย ฉุนเฉียว 
  • ง่วงนอน ดูไม่มีเรี่ยวแรง

อาการขาดน้ำในผู้ใหญ่

ตัวอย่างสัญญาณอาการขาดน้ำที่พบได้ในผู้ใหญ่อาจไม่ต่างจากเด็กมากนัก เช่น

  • ปากแห้ง 
  • ผิวแห้งและเย็น
  • กระหายน้ำมาก
  • ปัสสาวะน้อยลงหรือน้อยกว่า 4 ครั้งภายใน 1 วัน ปัสสาวะมีสีเข้ม
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • กล้ามเนื้อเกร็ง
  • รู้สึกสับสน

อย่างไรก็ตาม หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหรือทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น ไม่ปัสสาวะเลยหรือปัสสาวะมีสีเข้มมาก อุจจาระปนเลือดหรือเป็นสีดำ ท้องเสียนานกว่า 24 ชั่วโมง ผิวแห้งมาก เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็วมาก หายใจเร็วมาก ตาโหล รู้สึกง่วงนอน ไร้เรี่ยวแรง กระสับกระส่ายมากผิดปกติ หรือหมดสติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

เมื่อมีอาการขาดน้ำ ต้องทำอย่างไร

วิธีรับมืออาการขาดน้ำเพียงหนึ่งเดียวที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดคือ การเติมน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียไปกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง ซึ่งปริมาณน้ำที่ควรชดเชยนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น น้ำหนัก อายุ กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน รวมถึงสภาพอากาศด้วย

การดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันจะคำนวนคร่าว ๆ จากน้ำหนักตัวของเรา โดยใช้สูตร น้ำหนักตัวหน่วยกิโลกรัม หารด้วย 30 ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นจำนวนลิตรที่ควรดื่มต่อวัน เช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรดื่มน้ำประมาณ 1.7 ลิตร

นอกจากการดื่มน้ำแล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการหลังขาดน้ำได้ ดังนี้

ทารกและเด็กเล็ก

หากทารกไม่อาเจียนซ้ำ ๆ ผู้ปกครองสามารถป้อนนมแม่หรือนมชงได้ตามปกติ สำหรับเด็กเล็กควรดื่มผงเกลือแร่ ORS (Oral Rehydration Salts) แทนการดื่มน้ำเปล่า โดยให้จิบครั้งละ 1–2 ช้อนชาหรือประมาณ 5–10 มิลลิลิตร ทุก ๆ 1–5 นาที หรือจะป้อนด้วยไซริงค์แทนก็ได้ 

ส่วนเด็กโตที่มีอาการขาดน้ำจากท้องเสียควรดื่มผงเกลือแร่ ORS เท่านั้น ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ (Sport Drink) เพราะอาจมีปริมาณน้ำตาลสูงและมีปริมาณเกลือแร่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยให้แก่ร่างกาย ทำให้เด็กท้องเสียหนักกว่าเดิม

กรณีที่เด็กขาดน้ำจากปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการเลือกยาให้เหมาะสมและข้อควรระวัง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก เช่น เด็กที่เป็นไข้ให้รับควรประทานยาพาราเซตามอล ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน หรือเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรรับประทานยาแก้ท้องเสียหากปราศจากคำแนะนำของแพทย์      

ผู้ใหญ่

เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป ในเบื้องต้นควรดื่มน้ำเปล่าให้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ทำงานในสภาพอากาศร้อนชื้น หรือชื่นชอบการออกกำลังกาย หากมีอาการท้องเสียควรดื่มผงเกลือแร่ หรือหากเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายอาจดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ โดยให้พิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำเป็นหลัก 

สำหรับคนที่ขาดน้ำจากปัญหาสุขภาพใด ๆ ควรเข้ารับการรักษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ไม่สามารถดื่มน้ำและผงเกลือแร่ได้ หรือมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรงอาจต้องไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมและรวดเร็ว อย่างการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ 

การสร้างนิสัยดื่มน้ำให้เพียงพอในทุกวัน เป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดีในอนาคต รู้แบบนี้แล้วอย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอ และไม่ละเลยตัวเองเมื่อรู้สึกกระหายน้ำ มีไข้ อาเจียน หรือท้องเสีย เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ