น้ำมันหอมระเหย กับการใช้กลิ่นบำบัดสุขภาพ

การใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อบำบัดและฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ นั้น เป็นเรื่องที่มีมาแต่สมัยอียิปต์โบราณจนปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านการผ่อนคลายความเครียด บรรเทาอาการปวด และรักษาสิว แต่น้ำมันหอมระเหยจะมีประสิทธิภาพรักษาอาการต่าง ๆ และมีความปลอดภัยจริงหรือไม่ และมีวิธีใช้อย่างไร สามารถศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้

1687 น้ำมันหอมระเหย rs

น้ำมันหอมระเหย คือ อะไร ?

น้ำมันหอมระเหย คือ สารที่ถูกสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของพืช ไม่ว่าจะเป็นใบ เปลือกผล เปลือกไม้ หรือเนื้อไม้ โดยน้ำมันที่สกัดได้จะให้กลิ่นหอมที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามพืชแต่ละชนิด และกระบวนการกลั่นน้ำมันหอมระเหยเพื่อแยกน้ำมันออกจากพืชนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน อย่างการใช้ไอน้ำ การสกัดเย็น หรือการใช้สารเคมี ซึ่งน้ำมันหอมระเหยที่ผ่านกระบวนการทางเคมีจะไม่ถูกจัดว่าเป็นน้ำมันหอมระเหยแท้

น้ำมันหอมระเหยถูกนำมาใช้อย่างไร ?

น้ำมันหอมระเหยมักถูกนำมาใช้ในศาสตร์สุคนธบำบัด หรือที่เรียกกันว่าอโรมาเธอราพี (Aromatherapy) ซึ่งเป็นการใช้กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืชมาบำบัดหรือรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจ โดยมีการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อบำบัดด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น สูดดมกลิ่น ทาลงบนผิวหนัง นวดน้ำมัน หรือนำมาบริโภคโดยผสมกับชาหรือน้ำผึ้ง เป็นต้น

ตัวอย่างน้ำมันหอมระเหยยอดนิยม

ปัจจุบันมีน้ำมันหอมระเหยมากมายกว่า 90 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดต่างก็มีกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์และมีสรรพคุณแตกต่างกัน โดยน้ำมันหอมระเหยที่นิยมใช้กันมากในประเทศไทย มีดังนี้

น้ำมันหอมระเหยจากขิง นอกจากการดื่มชาขิงจะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้แล้ว การสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากขิงก็อาจช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้เช่นกัน เนื่องจากมีศูนย์มะเร็งแห่งหนึ่งได้ทดลองใช้น้ำมันหอมระเหยนี้เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับการฉายรังสี  

น้ำมันหอมระเหยจากเลมอน อาจช่วยปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายให้เป็นปกติ โดยนักวิจัยพบว่าผู้ที่เผชิญภาวะซึมเศร้าได้ใช้ยาต้านเศร้าในปริมาณลดลงหลังจากได้ดมกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยจากเลมอน

น้ำมันหอมระเหยจากส้ม อาจช่วยระงับอาการวิตกกังวลได้ โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาคุณสมบัติด้านนี้แล้วพบว่า กลุ่มผู้ทดลองที่สูดดมน้ำมันหอมระเหยจากส้มก่อนทำแบบทดสอบนั้น สามารถควบคุมความกดดันได้และไม่มีอาการวิตกกังวลใด ๆ เพิ่มขึ้น

น้ำมันหอมระเหยจากเปปเปอร์มิ้นท์ มีงานวิจัยหนึ่งทดลองใช้น้ำมันหอมระเหยเปปเปอร์มิ้นท์ในกลุ่มผู้ทดลองที่เป็นคนขับรถ พบว่ากลุ่มผู้ทดลองรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นหลังจากดมกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยชนิดนี้ ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยังพบด้วยว่า นักบาสเกตบอลที่ดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยชนิดนี้รู้สึกมีพลังและเล่นบาสเกตบอลได้ดียิ่งขึ้น

น้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์ ช่วยผ่อนคลายความเครียดและทำให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น โดยการศึกษาหนึ่งพบว่ากลิ่นของน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ช่วยเพิ่มคลื่นสมองระดับอัลฟ่า (ฺBrain Alpha Waves) ที่ส่งผลต่อความผ่อนคลายและการนอนหลับ รวมทั้งอาจช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนได้

เคล็ดลับการเลือกน้ำมันหอมระเหย

แม้ว่าบริษัทที่ผลิตและขายน้ำมันหอมระเหยหลายแห่งจะอ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนนั้นเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ มีความปลอดภัยและมีคุณภาพดี แต่เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีที่สุด ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อน้ำมันหอมระเหยทุกครั้ง ผู้ซื้อควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

  • คุณภาพ ควรเลือกน้ำมันหอมระเหยที่ปราศจากสารเคมี และผ่านกระบวนการสกัดด้วยวิธีการกลั่นหรือการสกัดเย็น
  • ความบริสุทธิ์ เลือกซื้อน้ำมันหอมระเหยที่ปราศจากน้ำมันสังเคราะห์ โดยควรมีเพียงส่วนประกอบจากพืชกลิ่นหอมเท่านั้น ซึ่งผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์มักจะใช้ชื่อพฤกษศาสตร์แทนการใช้ชื่อสามัญของพืชนั้น ๆ
  • ความน่าเชื่อถือ ควรเลือกซื้อน้ำมันหอมระเหยจากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตสินค้าคุณภาพสูง

ข้อควรระวังในการใช้น้ำมันหอมระเหย

แม้ว่าน้ำมันหอมระเหยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ แต่ก็อาจไม่ปลอดภัยเสมอไป เนื่องจากพืชและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากพืชมักมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้บางรายได้ โดยทั่วไปจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมันหอมระเหย เพราะอาจทำให้เกิดอาการชัก และส่งผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ส่วนการสูดดมหรือการทาน้ำมันหอมระเหยลงบนผิวหนังนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนี้

  • ปวดศีรษะ
  • มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
  • เกิดอาการแพ้
  • มีอาการของโรคหืด เช่น หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก เป็นต้น  

ทั้งนี้ มักพบผลข้างเคียงได้บ่อยในผู้ที่ใช้น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ เปปเปอร์มิ้นท์ กระดังงา และทีทรี ส่วนการใช้น้ำมันหอมระเหยในหญิงตั้งครรภ์และเด็กนั้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถยืนยันความปลอดภัยได้อย่างแน่ชัด จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์