บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ความอร่อยที่ควรระวัง

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่คนไทยนิยมรับประทานมาอย่างยาวนาน เพราะราคาถูก สะดวก อร่อย และมีหลากหลายรสชาติให้เลือก แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นถือว่าเป็นอาหารสำเร็จรูป (Processed Food) ชนิดหนึ่ง ซึ่งอาหารประเภทนี้มักผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อยืดอายุของอาหาร และยังมีการปรุงแต่งรสชาติ จึงทำให้มีปริมาณผงปรุงรสที่สูงกว่าอาหารทั่วไป หากบริโภคบ่อยเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคบางชนิดได้

อาหารชนิดนี้มีส่วนประกอบหลักเพียงแค่เส้นบะหมี่และผงปรุงรส จึงทำให้มีแคลอรี่ที่ค่อนข้างต่ำ ในขณะเดียวกันสารอาหารอื่น ๆ ที่ร่างกายควรได้รับก็ลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นและวิธีการรับประทานให้ได้ประโยชน์และปลอดภัยต่อร่างกาย

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ความเสี่ยงจากการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

แม้ว่าจะเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อยถูกใจหลายคน แต่ก็มีโทษและความเสี่ยงแฝงมาไม่น้อย ซึ่งผลเสียจากการบริโภคอาหารชนิดดังกล่าวที่อาจต้องเจอหากบริโภคอย่างไม่เหมาะสม เช่น  

ความดันโลหิตสูง

โซเดียมเป็นส่วนประกอบหลักของผงปรุงรสในอาหารสำเร็จรูปชนิดนี้ แม้ว่าโซเดียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ร่างกายมักได้รับโซเดียมอย่างเพียงพอจากการรับประทานอาหารทั่วไปอยู่แล้ว โดยเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ต้องการโซเดียมประมาณ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบางยี่ห้ออาจมีโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคสูงถึง 1,200-2,400 มิลลิกรัม ซึ่งอาจเทียบเท่าปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับครึ่งวันหรือทั้งวัน ทำให้การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมในมื้ออื่นอาจทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น

จากการศึกษาจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนเแปลงของร่างกายจากการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเห็นตรงกันว่าการได้รับโซเดียมในปริมาณมากอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ หากความดันโลหิตสูงติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจนำไปสู่โรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต เป็นต้น ดังนั้น การบริโภคอาหารชนิดนี้บ่อย ๆ ก็อาจทำให้เกิดโรคเหล่านี้ตามมาได้

ภาวะทุพโภชนา

ภาวะทุพโภชนา (Malnutrition) เป็นภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิดหรือได้รับในปริมาณน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยและนำไปสู่การเกิดโรคอื่น ๆ ได้ โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีสารอาหารหลักเพียง 3 ชนิด คือ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโซเดียม การรับประทานบ่อยครั้งอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหาร 3 ชนิดมากเกิดปริมาณที่ร่างกายต้องการ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นชนิดอื่น ๆ ไปด้วย

มีผลจากการศึกษาชิ้นหนึ่งในผู้ที่รับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นประจำพบว่า สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 3 วิตามินซี วิตามินดี รวมไปถึงแร่ธาตุอย่างฟอสฟอรัสและธาตุเหล็กที่ล้วนแล้วแต่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ดังนั้น หากรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทนอาหารมื้อปกติเป็นประจำอาจส่งผลให้สารอาหารภายในร่างกายไม่สมดุลและเกิดภาวะทุพโภชนาในที่สุด ท้ายที่สุดอาจเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังตามมา

น้ำหนักขึ้น

แม้ว่าจะเป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ แต่ตัวเส้นบะหมี่ก็มีส่วนประกอบของแป้งข้าวสาลี น้ำมันปาล์มที่เป็นไขมันอิ่มตัว และน้ำมันปรุงรส การบริโภคอาหารชนิดนี้อาจให้พลังงานมากกว่าข้าวสวยในปริมาณเดียวกัน จึงอาจส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ 

จากการศึกษาขนาดใหญ่พบว่าการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ่อย ๆ อาจเพิ่มระดับของไขมันในเลือดจนส่งผลให้เกิดภาวะไม่ทนทานต่อน้ำตาลกลูโคส (Glucose Intolerence) โดยเฉพาะผู้ที่บริโภคอาหารสำเร็จรูปมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) โรคเบาหวาน เป็นต้น 

โดยจากผลการศึกษาทั้งหมดนี้ชี้ได้ว่าการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ่อยเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรังและปัญหาสุขภาพในหลายด้าน โดยในระยะยาวอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

วิธีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างปลอดภัย

ผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นไม่จำเป็นงดกินอาหารประเภทนี้โดยสิ้นเชิง แต่ควรศึกษาวิธีการบริโภคอย่างปลอดภัย ดังนี้

  • อ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์เสมอ เพราะฉลากจะบอกถึงปริมาณของสารอาหารที่ได้รับจากการรับประทานอาหารชนิดนั้น โดยให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ ไขมันต่ำ พร้อมทั้งดูปริมาณสารอาหารชนิดอื่นที่จำเป็นต่อร่างกายประกอบด้วย
  • ไม่รับประทานบ่อยจนเกินไป หากต้องการรับประทานควรคำนวณปริมาณโซเดียมของมื้ออื่นให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน
  • เพิ่มวัตถุดิบอื่น ๆ ลงในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหาร อย่างเนื้อสัตว์ลอกหนังหรือไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ ผัก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเติมอาหารสำเร็จรูป อย่างไส้กรอก แฮม หรือเนื้อสัตว์แปรรูปชนิดอื่น ๆ เพราะเนื้อสัตว์แปรรูปมักมีปริมาณโซเดียมสูงไม่ต่างจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานหรือซดน้ำซุป เพื่อจำกัดการได้รับโซเดียม

นอกจากนี้ คนไทยมีความเชื่อว่าผงชูรสหรือสารโมโนโซเดียมกลูตาเมท (MSG) ที่เป็นโซเดียมรูปแบบหนึ่งในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นสามารถทำให้ผมร่วงได้ แต่ความเชื่อนี้ไม่เป็นจริง เพราะในปัจจุบันยังไม่มีการทดลองและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดว่าสารนี้สามารถทำให้ผมร่วงได้

อย่างไรก็ตาม การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นครั้งคราวนั้นไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพ โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งควรระมัดระวังในการบริโภคอาหารชนิดนี้มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป และปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทาน