เตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปบริจาคเลือด

บริจาคเลือด (Blood donation) เป็นกิจกรรมอาสาสมัครที่ผู้บริจาคยินยอมให้นำเลือดของตนเองไปใช้เมื่อมีผู้ต้องการ การบริจาคเลือดสามารถช่วยเหลือผู้ที่สูญเสียเลือดจากอุบัติเหตุ จากการผ่าตัด หรือผู้ที่มีอาการป่วยต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคฮีโมฟีเลีย

การบริจาคเลือดนั้นรวมไปถึงการบริจาคเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และพลาสม่า ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด โดยก่อนที่จะบริจาคเลือดได้นั้นต้องผ่านการทดสอบความเข้มข้นของเลือดและการซักประวัติก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถบริจาคเลือดได้ ส่วนเลือดที่ได้รับการบริจาคมานั้นจะถูกนำส่งเข้าศูนย์บริการโลหิตที่มีในสถานพยาบาล เพื่อเข้าสู่กระบวนการทดสอบเลือดที่ได้ แยกส่วนประกอบ และจัดเก็บต่อไป

บริจาคเลือด

ประเภทของการบริจาคเลือด

การบริจาคเลือดจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทดังนี้

  • การบริจาคโลหิตรวม (Whole Blood) เป็นการบริจาคเลือดแบบพื้นฐาน โดยเมื่อได้เลือดจากผู้รับบริจาคแล้วจะนำไปแยกส่วนประกอบของเลือด เป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง พลาสม่า และเกล็ดเลือด เป็นต้น
  • การบริจาคเกล็ดเลือด (Single Donor Platelets) การบริจาคเกล็ดเลือดจะใช้วิธีในการกรองเลือด (Apheresis) โดยในการบริจาคจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อกรองเอาเกล็ดเลือดและพลาสม่าบางส่วนออกจากเลือด จากนั้นเลือดจะถูกส่งกลับเข้าร่างกายของผู้บริจาค
  • การบริจาคพลาสม่า (Single Donor Plasma) วิธีการบริจาคพลาสม่าจะมีทั้งการบริจาคที่ทำพร้อมกับการบริจาคเกล็ดเลือด หรือบริจาคเพียงพลาสม่าอย่างเดียวก็ได้
  • การบริจาคเม็ดเลือดแดง (Single Donor Red Cell) การบริจาคจะใช้การกรองเลือดเพื่อเก็บเม็ดเลือดแดง ซึ่งในการเก็บเม็ดเลือดแดงจะต้องใช้วิธีทางห้องปฏิบัติการเข้าช่วย ในขั้นต้นจะใช้การเก็บน้ำเลือดทั้งหมดไปก่อนแล้วจะนำไปแยกส่วนประกอบภายหลัง
  • เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem Cell) เป็นการบริจาคเซลล์ตัวอ่อนของเลือดที่จะเจริญเติบโตไปเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด การบริจาคชนิดนี้ค่อนข้างมีวิธีการที่พิเศษกว่าการบริจาคเลือด หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ของเลือด

การบริจาคเลือดในแต่ละครั้งจะต้องทิ้งระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 12 สัปดาห์ (3 เดือน) เนื่องจากการบริจาคเลือดในแต่ละครั้งจะสูญเสียเลือดประมาณ 10% ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกาย และไปกระตุ้นการทำงานของไขกระดูกยาวนานถึง 90 วัน ทำให้ไขกระดูกทำงานดีขึ้น ซึ่งไขกระดูกนับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาทดแทนเลือดที่ถูกบริจาคไป เม็ดเลือดที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จะแข็งแรงและทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าเม็ดเลือดที่บริจาคไป สามารถลำเลียงออกซิเจนได้เต็มที่ ส่วนเม็ดเลือดขาวที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ก็จะช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเกล็ดเลือดก็จะมีประสิทธิภาพในซ่อมแซมรอยแผลในร่างกายได้ดีขึ้นอีกด้วย

ใครสามารถบริจาคเลือดได้บ้าง ?

เนื่องจากเลือดที่บริจาคจะถูกนำไปใช้กับผู้ที่ต้องการ ดังนั้นเลือดที่ได้รับการบริจาคจะต้องมีคุณภาพเพียงพอ และต้องมาจากผู้ที่มีสุขภาพที่พร้อมสำหรับการบริจาคเลือด เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อทั้งคุณภาพของเลือดและสุขภาพของผู้บริจาค โดยคุณสมบัติของผู้ที่สามารถบริจาคเลือดได้มีดังนี้

  • อายุตั้งแต่ 17-70 ปี หากอายุ 17 ปีจะต้องได้รับความยินยอมจากครอบครัว หากเป็นผู้บริจาคครั้งแรกไม่ควรอายุเกิน 55 ปี
  • มีน้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป
  • สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
  • นอนหลับอย่างเพียงพอในคืนก่อนมาบริจาคเลือด คือนอนหลับอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • ไม่มีอาการท้องเสีย หรือเป็นไข้หวัด ในช่วง 7 วันก่อนบริจาคเลือด
  • ไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่เคยมีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรในช่วย 6 เดือนที่ผ่านมา
  • ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักลดลงผิดปกติในช่วง 3 เดือนก่อนบริจาคเลือด
  • ไม่เป็นโรคหอบหืด โรคผิวหนังเรื้อรัง หรือภูมิแพ้ต่าง ๆ
  • หากมีการทำทันตกรรม เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน หรือรักษารากฟัน ควรทิ้งระยะห่างก่อนบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 วัน
  • หากเคยผ่านการผ่าตัดใหญ่จะต้องทิ้งระยะห่างเกิน 6 เดือน หากเป็นผ่าตัดเล็ก ควรทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน
  • ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือมีคู่ครองที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
  • ไม่มีประวัติการเสพยาเสพติด
  • หากเพิ่งพ้นโทษ ต้องทิ้งระยะห่างเกิน 3 ปีจึงจะบริจาคเลือดได้
  • หากมีการเจาะหู สัก ลบรอยสัก หรือฝังเข็ม ควรทิ้งระยะห่าง 1 ปี
  • หากมีประวัติเคยเจ็บป่วยและเคยได้รับการให้เลือดจากผูู้อื่นจะต้องทิ้งระยะห่าง 1 ปี
  • หากมีประวัติป่วยเป็นมาลาเรีย ต้องทิ้งระยะเวลาห่างหลังจากหายจากโรคแล้ว 3 ปี หากเคยเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดจะต้องทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 1 ปี
  • ต้องไม่เคยได้รับวัคซีนในช่วง 14 วันก่อนบริจาคเลือด หากเคยได้รับเซรุ่มควรทิ้งระยะห่าง 1 ปี

นอกจากนี้หากผู้บริจาคมีอายุตั้งแต่ 60-70 ปี จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • ผู้บริจาคเลือดอายุ 60-65 ปี จะต้องเป็นผู้ที่บริจาคเลือดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอมาจนกระทั่งอายุ 60 ปี และต้องตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count: CBC) ทุกครั้งที่ทำการบริจาคเลือด อีกทั้งยังควรตรวจปริมาณธาตุเหล็กในเลือด (Serum Ferritin) และผลเคมีของเลือด (Blood Chemistry) ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งก่อนบริจาคเลือด แพทย์หรือพยาบาลจะวินิจฉัยและบันทึกผลการตรวจต่าง ๆ และหากผลเลือดและความดันเลือดปกติก็สามารถบริจาคได้
  • ผู้บริจาคเลือดอายุมากกว่า 65 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี จะต้องเป็นผู้ที่บริจาคเลือดอย่างสม่ำเสมอในช่วงอายุ 60-65 ปี และต้องตรวจเลือด (Complete Blood Count: CBC) ทุกครั้งที่ทำการบริจาคโลหิต อีกทั้งยังควรตรวจปริมาณธาตุเหล็กในเลือด (Serum Ferritin) ผลเคมีของเลือด (Blood Chemistry) และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งมีใบรับรองแพทย์ว่าสามารถบริจาคเลือดได้

ข้อห้ามในการบริจาคเลือด

ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรืออยู่ในภาวะสุขภาพที่ไม่ปกติ เป็นกลุ่มที่ไม่ควรบริจาคเลือด เนื่องจากเลือดที่ได้จะไม่สามารถใช้ได้ และอาจส่งผลต่อผู้บริจาคอีกด้วย ผู้ที่เคยบริจาคเลือด หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ของเลือดมาก่อนและยังไม่ถึงกำหนดการบริจาคครั้งใหม่ไม่ควรบริจาคเลือดในทันที โดยผู้ที่บริจาคเลือดจะต้องทิ้งระยะห่าง 12 สัปดาห์ หากบริจาคพลาสม่าจะสามารถบริจาคได้ใหม่ทุก ๆ 14 วัน ส่วนผู้ที่บริจาคเพียงเม็ดเลือดแดงจะต้องรออย่างน้อย 16 สัปดาห์จึงจะบริจาคใหม่ได้

ผู้ที่ห้ามบริจาคเลือดคือผู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้

  • ผู้ที่มีปริมาณของฮีโมโกลบินไม่เพียงพอ
  • สตรีที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เพิ่งกลับมาจากการเดินทางไปต่างประเทศ
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ
  • ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรับประทานยารักษาอาการ
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ อาทิ ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่เพิ่งมีการใช้เข็มฉีดยา เจาะร่างกาย หรือสักภายในระยะเวลา 1 ปี

ทั้งนี้หากมีโรคประจำตัว หรือไม่แน่ใจว่าสามารถบริจาคเลือดได้หรือไม่ ควรสอบถามเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ พยาบาลภายในหน่วยบริจาคเลือด โดยจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาคัดกรองของเจ้าหน้าที่

ขั้นตอนการบริจาคเลือด

โดยทั่วไปแล้วสามารถบริจาคเลือดได้ที่หน่วยบริจาคเลือดตามสถานพยาบาลและหน่วยเคลื่อนที่ที่รับบริจาคของสภากาชาดไทย ซึ่งในการบริจาคเลือดไม่ว่าจะเป็นในสถานพยาบาลหรือนอกสถานที่จะมีขั้นตอนที่เหมือนกันดังนี้

กรอกแบบฟอร์มผู้บริจาคเลือด - โดยต้องกรอกข้อมูลตามความจริงเพื่อให้เลือดที่บริจาคมีคุณภาพและปลอดภัยที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของผู้บริจาคต่อผลข้างเคียงที่จะได้รับจากการบริจาค และช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ในขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่จะนำน้ำหนักที่ได้จากการกรอกข้อมูลมาคำนวณหาปริมาณเลือดที่แต่ละคนสามารถบริจาคได้ โดยมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • น้ำหนักต่ำกว่า 45 กิโลกรัม ไม่สามารถบริจาคเลือดได้
  • น้ำหนักตั้งแต่ 45-50 กิโลกรัม สามารถบริจาคเลือดได้ 350 มิลลิลิตร
  • น้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถบริจาคเลือดได้ 450 มิลลิลิตร

ตรวจสุขภาพและซักประวัติ - แพทย์จะทำการตรวจสุขภาพ เช่น วัดความดันโลหิต หรือตรวจดูความเข้มข้นของเลือด อีกทั้งยังมีการซักประวัติทางด้านสุขภาพ และถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ค่อนข้างเป็นการส่วนตัว เพื่อช่วยคัดกรองผู้บริจาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขั้นตอนนี้ ผู้บริจาคจะต้องตอบตามความจริง และไม่เขินอายที่จะตอบคำถามเหล่านี้

บริจาคเลือด - เมื่อผ่านการคัดกรองว่าสามารถบริจาคเลือดได้ ผู้บริจาคจะถูกพาไปนั่งที่เก้าอี้หรือเตียงสำหรับบริจาคเลือด ซึ่งจะมีที่วางแขน พยาบาลจะนำสายรัดมารัดที่บริเวณต้นแขนส่วนบนเพื่อกักการไหลของเลือดในเส้นเลือดดำ วิธีนี้จะช่วยให้พยาบาลสามารถเจาะเลือดได้ง่ายและทำให้เลือดไหลเข้าถุงได้เร็วขึ้น จากนั้นพยาบาลจะสอดเข็มเข้าไปในเส้นเลือดดำที่บริเวณแขน โดยเข็มจะต่อกับท่อพลาสติกและถุงใส่เลือด ขณะที่บริจาคเลือด พยาบาลอาจนำลูกบอลยางหรืออุปกรณ์ให้ผู้บริจาคกำไว้และคลายเป็นระยะ เนื่องจากจะทำให้เลือดไหลเข้าถุงใส่เลือดได้เร็วขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที เมื่อได้ปริมาณเลือดตามที่กำหนดไว้แล้วก็จะเอาเข็มออก ห้ามเลือด และปิดปากแผลด้วยพลาสเตอร์ และให้ผู้บริจาคนอนพักสักครู่ จึงให้ลุกจากเก้าอี้หรือเตียง

ส่วนในกรณีที่บริจาคส่วนประกอบอื่น ๆ ของเลือด เช่น เกล็ดเลือด พยาบาลจะใช้อุปกรณ์พิเศษที่สามารถกรองเลือดและหมุนเวียนเลือดกลับเข้าสู่ร่างกาย โดยจะใช้เวลานานกว่าการบริจาคเลือดโดยทั่วไป ประมาณ 1-2 ชั่วโมง

เมื่อหน่วยบริจาคเลือดได้รับเลือดของผู้บริจาคแล้ว ก็จะนำตัวอย่างของเลือดที่ได้รับบริจาคไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งถ้าหากมีความผิดปกติของเลือด เช่น พบว่าตัวอย่างเลือดมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคร้ายแรง เป็นเลือดของผู้ป่วยโรคร้าย เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส หรือโรคไวรัสตับอักเสบ เลือดถุงนั้นก็จะถูกยกเลิก และทางหน่วยบริจาคเลือดจะแจ้งให้ผู้บริจาคทราบต่อไป

การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด

การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือดเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ เนื่องจากการเตรียมตัวที่พร้อมจะช่วยให้คุณภาพของเลือดที่บริจาคเป็นไปตามที่กำหนดไว้ และช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริจาคเลือดได้ โดยในเบื้องต้นควรเตรียมตัวดังนี้

  • นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมงในเวลานอนปกติก่อนวันบริจาค
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอและควรรับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนบริจาคเลือด
  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เนื่องจากอาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้พลาสม่ามีความผิดปกติ
  • ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณสารน้ำในร่างกายและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการบริจาคเลือด
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด
  • งดสูบบุหรี่ ก่อนและหลังบริจาคเลือด 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดสามารถฟอกเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่รัดมากจนเกินไป และสามารถพับหรือดึงขึ้นมาเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
  • หยุดรับประทานยาแอสไพริน ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดอื่น ๆ ภายใน 3 วันก่อนบริจาคเลือด
  • หยุดรับประทานยาแก้อักเสบหรือยาอื่น ๆ อย่างน้อย 7 วันก่อนบริจาคเลือด

การดูแลตัวเองหลังจากบริจาคเลือด

เมื่อบริจาคเลือดเสร็จแล้ว ควรนั่งพักผ่อนสักครู่ก่อนแล้วจึงค่อยกลับบ้าน ทั้งนี้หากมีอาการคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ควรนั่งศีรษะต่ำ หรือนอนราบยกเท้าให้สูงกว่าศีรษะ หากบริจาคเลือดเสร็จแล้วยังมีเลือดซึมออกมาที่ผ้าปิดแผล ให้ใช้นิ้วมือกดลงที่ผ้าก๊อซและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากเลือดยังไม่หยุดไหลให้กลับไปที่หน่วยบริจาคเลือดเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาลอีกครั้งเพื่อความปลอดภัย 

หลังการบริจาคเลือดเสร็จแล้ว ควรนั่งพักต่ออีกประมาณ 10-15 นาที และรับประทานอาหารว่าง ดื่มเครื่องดื่ม 1-2 แก้ว โดยอาจเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุ อย่าง ION Drink ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีแร่ธาตุละลายในน้ำ อย่างโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียมที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมน้ำได้ดี เมื่อร่างกายปรับสภาพได้แล้วจึงค่อยกลับบ้าน 

นอกจากนี้ ผู้บริจาคจะต้องดูแลตัวเองมากขึ้นเป็นพิเศษหลังบริจาคเลือด เนื่องจากจะต้องใช้เวลา 1-2 วันกว่าปริมาณของเลือดจะค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยในช่วงหลังบริจาคเลือดควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเสียเหงื่อในปริมาณมาก ๆ เช่น การทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมาก งดกิจกรรมที่ต้องออกแรงในแขนข้างที่เจาะ และงดการหิ้วของหนัก ๆ ในช่วง 24 ชั่วโมงหลังบริจาคเลือด
  • ผู้ที่ต้องทำงานที่ต้องปีนป่ายในที่สูงหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรหยุดพักอย่างน้อย 1 วัน
  • รับประทานอาหารอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และมีสารอาหารครบถ้วน
  • รับประทานธาตุเหล็กที่ได้รับจากหน่วยบริจาคเลือดวันละ 1 เม็ดเพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็กติดต่อกัน โดยรับประทานจนกว่าจะหมด

การบริจาคเลือดมีความปลอดภัยสูง จึงไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายที่เกิดจากการบริจาคเลือด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าหากร่างกายของผู้บริจาคไม่มีความพร้อม แพทย์และพยาบาลประจำหน่วยบริจาคจะไม่อนุญาตให้บริจาคเลือดโดยเด็ดขาด และผลข้างเคียงที่อาจพบได้ก็มักเกิดจากความไม่ชำนาญของผู้เจาะเลือดจนทำให้เกิดรอยห้อเลือดเท่านั้น นอกจากนั้น้ ยังไม่พบการติดเชื้อจากการบริจาคเลือด เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการบริจาคเลือดเป็นอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อและไม่มีการนำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริจาคเลือด