ขั้นตอนการถอนฟัน เตรียมตัวและดูแลช่องปากอย่างไร

การคงรักษาฟันไว้เป็นผลดีต่อความสวยงามของช่องปากและฟัน รวมถึงการบดเคี้ยวอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ แต่บางครั้งการถอนฟันออกไปก็เป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กระบวนการถอนฟันนั้นไม่ซับซ้อน และมีข้อควรรู้ถึงความเหมาะสมของการถอน การปฏิบัติตัวหลังการถอนฟัน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้หลังถอนฟัน

ถอนฟัน

 

สาเหตุที่ต้องถอนฟัน

การถอนฟันถือเป็นทางเลือกสุดท้ายหลังจากทันตแพทย์พิจารณาหรือพยายามรักษาด้วยวิธีอื่นเพื่อเลี่ยงการถอนฟันแล้วแต่ไม่ได้ผล หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องถอนฟัน ได้แก่

ฟันซ้อนที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดฟัน 

สำหรับผู้ที่จัดฟันบางราย หากมีฟันซ้อนกันมากเกินไปในช่องปากจนไม่มีที่ให้ฟันขยับตัว ทันตแพทย์จัดฟันจึงต้องถอนฟันบางซี่ออกไป เพื่อให้ฟันสามารถขยับเรียงตัวอย่างสวยงามได้

การติดเชื้อหรืออักเสบของฟัน 

เมื่อฟันผุหรือเกิดความเสียหายลามไปถึงโพรงฟันซึ่งเป็นชั้นกลางของฟันที่ประกอบด้วยเส้นประสาทและเส้นเลือด การติดเชื้อที่โพรงฟันนี้เกิดขึ้นได้จากแบคทีเรียทั้งหลายที่อยู่ในช่องปาก ปกติรักษาได้ด้วยการรักษารากฟันเพื่อคงฟันซี่นั้นไว้ แต่ฟันที่เสียหายรุนแรงและสายเกินกว่าจะรักษาด้วยวิธีดังกล่าว การถอนฟันจึงกลายเป็นทางเลือกเดียวเพื่อป้องกันการลุกลามของการติดเชื้อ

มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 

ภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอที่อาจเป็นผลจากการรับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิคุ้มกันจะทำให้ฟันที่ผุอยู่แล้วมีโอกาสผุยิ่งขึ้น และยังอาจอักเสบติดเชื้อลุกลาม ก่อนการรักษาด้วยยาดังกล่าวแพทย์จึงต้องตรวจดูก่อนว่าผู้ป่วยมีฟันผุหรือไม่ หากมี จึงจำเป็นต้องถอนฟันซี่ที่ผุออกแทนการอุดฟันเหมือนคนปกติทั่วไป 

นอกจากนี้ โรคเหงือกที่ทำให้เกิดฟันโยกเนื่องจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบฟันและกระดูกที่รองรับฟันอยู่ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทันตแพทย์แนะนำให้ถอนฟัน

นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว การถอนฟันยังอาจจำเป็นหากมีฟันเกที่ไปกระทบต่อเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มข้างแก้ม ฟันแตกหักจากอุบัติเหตุ มีจำนวนฟันในช่องปากมากเกิน ฟันที่อยู่ใกล้บริเวณที่ผิดปกติอย่างเนื้องอกหรือมะเร็ง ฟันที่ประชิดกับแผลบางอย่าง เป็นผลจากการต้องเข้ารักษาด้วยการฉายรังสีหรือต้องได้รับยาบิสฟอสโฟเนตผ่านเส้นเลือด 

ข้อห้ามและการเตรียมตัวก่อนการถอนฟัน

การถอนฟันนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็เสี่ยงที่เชื้อแบคทีเรียจำนวนมหาศาลในปากจะแพร่เข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือด และเนื้อเยื่อของเหงือกเองก็อาจติดเชื้อได้เช่นกัน ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะก่อนและหลังถอนฟัน 

การถอนฟันแต่ละครั้งจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการรักษาของตนเอง ยาและอาหารเสริมที่กำลังใช้อยู่ รวมถึงหากมีอาการป่วยหรือได้รับการรักษาข้อใดต่อไปนี้

  • มีปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจหรือต้องใช้ลิ้นหัวใจเทียม
  • เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • เป็นโรคตับ
  • เคยผ่าตัดใส่ข้อเทียม เช่น ข้อต่อสะโพกเทียม
  • มีประวัติเยื่อบุหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (Bacterial Endocarditis)

ขั้นตอนการถอนฟัน

กระบวนการถอนฟันถือว่าทำได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าหรือถอนฟันคุด โดยเริ่มจากการฉีดยาชาเพื่อทำให้ไร้ความรู้สึกบริเวณที่ทันตแพทย์จะถอนฟัน แต่หากเป็นการถอนฟันหลายซี่ก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาสลบที่จะทำให้ร่างกายไม่มีความรู้สึกและหมดสติไปตลอดขั้นตอนการถอนฟัน

ในการถอนฟัน ทันตแพทย์จะทำให้ฟันหลวมออกจากกระดูกขาขากรรไกรและเส้นเอ็น จากนั้นใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าคีมหรือปากคีบจับฟันแล้วค่อย ๆ ดึงออกมา ทั้งนี้ฟันที่ถอนยาก ไม่สามารถเอาออกมาได้ในคราวเดียว อาจต้องถอนโดยแยกเป็นชิ้นส่วนหลายครั้ง

หลังจากถอนฟัน ร่างกายจะสร้างลิ่มเลือดออกมาช่วยในกระบวนการรักษาโดยค่อย ๆ ปิดบาดแผลหรือรูฟันที่ถอน ทันตแพทย์จะพับผ้าก๊อซแล้ววางลงบนแผลเพื่อให้ผู้ป่วยกัดเพื่อหยุดเลือดที่ไหลออกมาหลังการถอนฟันนี้ บางครั้งอาจมีการเย็บแผลเพื่อปิดขอบเหงือกเหนือแผลถอนฟันเอาไว้ ซึ่งไหมที่ใช้เย็บนี้มักใช้แบบละลายไปเองโดยไม่ต้องนัดตัดไหม จึงไม่ต้องกลับไปพบทันตแพทย์อีกครั้ง

การดูแลรักษาหลังการถอนฟัน

แผลจากการถอนฟันมักจะดีขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่วัน การดูแลรักษาอย่างดีจะช่วยให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้นและปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน โดยมีข้อปฏิบัติต่อไปนี้

  • กัดผ้าก๊อซปิดแผลไว้ให้แน่นแต่ไม่รุนแรงเกินไป เพื่อให้เลือดหยุดไหลและเกิดกระบวนการสร้างลิ่มเลือดในร่องฟันที่ถูกถอนไป หากผ้าก๊อซชุ่มด้วยเลือดให้เปลี่ยนใหม่ โดยพับผ้าก๊อซให้หนาพอที่จะกัดและวางลงที่บริเวณแผลถอนฟัน กัดไว้ 30–45 นาทีหลังจากการถอนฟัน
  • รับประทานยาแก้ปวดตามทันตแพทย์แนะนำ หรือใช้น้ำแข็งประคบข้างแก้ม 10–20 นาที เพื่อช่วยลดอาการเจ็บและบวม
  • ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากการถอนฟันไม่ควรกลั้วปากหรือหรือบ้วนแรง ๆ เพราะอาจทำให้ลิ่มเลือดเคลื่อนที่ออกจากแผลถอนฟันจนเลือดไหล
  • เมื่อครบ 24 ชั่วโมงไปแล้ว สามารถกลั้วปากเบา ๆ ด้วยน้ำเกลือวันละหลายครั้ง เพื่อลดอาการบวมและเจ็บปวด ระวังอย่ากลั้วแรงเกินไปจนทำให้ลิ่มเลือดปากแผลที่แข็งตัวแล้วหลุดออก ซึ่งจะทำให้แผลหายช้า น้ำเกลือที่ใช้สามารถทำเองง่าย ๆ เพียงผสมเกลือ 1 ช้อนชา กับน้ำอุ่นประมาณ 240 มิลลิลิตร
  • รับประทานอาหารที่เคี้ยวง่ายหรือไม่ต้องเคี้ยว เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม แล้วค่อย ๆ รับประทานอาหารเป็นปกติขึ้นเรื่อย ๆ ในวันต่อไป ควรใช้ฟันข้างที่ไม่ได้ถูกถอนเคี้ยวแทนในวันแรก ๆ
  • ควรนอนหนุนหมอนให้ศีรษะสูงกว่าลำตัว ไม่ควรนอนราบไปกับพื้น เพื่อป้องกันเลือดไหลจากแผล 
  • อย่าดูดหรือใช้ลิ้นดุนบริเวณแผลที่เพิ่งถอนฟัน
  • ไม่ควรใช้หลอดดื่มน้ำ เพราะแรงดูดจะกระตุ้นให้ลื่มเลือดที่แผลผ่าตัดหลุด ทำให้เลือดไหลได้
  • อย่าทำกิจกรรมที่ต้องออกกำลังหลังการถอนฟันเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลออกมาอีก
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะจะส่งผลให้แผลหายช้าลงได้
  • การแปรงฟันควรระวังไม่ให้กระทบบริเวณแผลจากการถอนฟันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ หนาวสั่น ไอ หายใจหอบ เจ็บหน้าอก มีเลือดไหลไม่หยุด มีอาการเจ็บปวดหรือบวมรุนแรงอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 4 ชั่วโมงหลังถอนฟัน ควรไปพบแพทย์ทันที
  • การถอนฟันออกไปอาจส่งผลให้ฟันซี่ที่อยู่ข้าง ๆ เลื่อนตัว หรือส่งผลต่อการเคี้ยวอาหารได้ ทันตแพทย์จึงอาจแนะนำให้ใส่วัสดุเสริมแทนฟันซี่ที่ถูกถอน เช่น ฟันปลอม หรือสะพานฟัน 

ภาวะแทรกซ้อนจากการถอนฟัน

ผลข้างเคียงระหว่างการถอนฟันที่พบได้มากที่สุดคือ การได้รับบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากเนื่องจากการไม่ได้ให้ความสนใจต่อเนื้อเยื่อบริเวณนี้ของทันตแพทย์ รวมถึงการใช้เครื่องมือที่อันตรายและควบคุมการใช้ลำบากจนเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น เกิดรอยถลอกหรือแผลไหม้ด้านในปากจากเครื่องมือ

ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบได้บ่อยรองลงมาจากการใช้เครื่องมือคือ อันตรายต่อโครงสร้างกระดูก เช่น การแตกหักของเพดานเหงือก ไปจนถึงฟันกราม และฟันตัดล่าง นอกจากนี้ ฟันเขี้ยวบนมักแตกหักได้ง่ายในระหว่างการถอนฟันกรามซี่ที่ถอนได้ยาก แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการการซักประวัติและตรวจร่างกายรวมถึงการตรวจเอกซเรย์อย่างละเอียด และไม่ใช้เครื่องมือที่ยากต่อการควบคุมมากเกินไป กรณีที่เกิดการแตกหักของกระดูก ทันตแพทย์จะนำกระดูกนั้นออกมาอย่างระมัดระวัง ทำให้กระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนประสานกันจนแผลจากการถอนเริ่มปิดลงได้

นอกจากนี้ การถอนฟันกรามซี่ที่อยู่ใกล้กับโพรงกระดูกข้างจมูกบริเวณโหนกแก้มนั้นอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบและเกิดรูทะลุ ส่วนการถอนฟันกรามล่างซี่ในสุดซึ่งอยู่ใกล้เส้นประสาทควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าเองก็อาจส่งผลให้หน้าเบี้ยวได้