ผ่าฟันคุด ขั้นตอนการรักษาและวิธีดูแลตัวเองหลังผ่า

ผ่าฟันคุด (Tooth Impaction Removal) คือการผ่าตัดทางทันตกรรมชนิดหนึ่งเพื่อนำฟันที่ฝังตัวอยู่ใต้เนื้อเยื่อของเหงือกและบริเวณกระดูกขากรรไกรออก เนื่องจากฟันซี่นั้น ๆ ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ โดยทันตแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าฟันคุดเมื่อฟันที่ฝังตัวอยู่ส่งผลกระทบกับฟันซี่อื่น และส่งผลให้มีอาการปวด หรือเกิดอาการอักเสบติดเชื้อ

ฟันคุด คือฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ และมักอยู่ที่ขากรรไกรใต้เหงือกบริเวณกรามซี่ที่สามซึ่งเป็นฟันซี่ที่อยู่ด้านในสุด โดยฟันคุดจะไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าหากตัวฟันไม่ได้โผล่พ้นขึ้นมาเหนือเหงือกซึ่งต้องใช้การเอกซเรย์จึงจะสามารถเห็นได้ อย่างไรก็ตาม ในบางคน ฟันคุดก็อาจโผล่ขึ้นมาเหนือเหงือกได้ แต่ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณฟันคุดตามมา

ผ่าฟันคุด

จุดประสงค์ของการผ่าฟันคุด

โดยปกติแล้ว หากฟันคุดที่ฝังตัวอยู่ไม่ก่ออาการรุนแรง ทันตแพทย์มักเพียงรักษาด้วยการตกแต่งเนื้อเยื่อโดยรอบ หรือแนะนำวิธีการรักษาความสะอาดช่องปากเท่านั้น เช่น หากมีเพียงการอักเสบไม่รุนแรงบริเวณเหงือกด้านหลังของฟัน ทันตแพทย์ก็อาจเพียงรักษาเนื้อเยื่อที่อักเสบ และแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนวิธีแปรงฟัน รวมถึงให้ผู้ป่วยใช้ไหมขัดฟันที่ซอกฟันด้านหน้าและด้านหลังของฟันคุด

อย่างไรก็ตาม หากฟันคุดนั้นก่อให้เกิดปัญหา หรือการเอกซเรย์แสดงให้เห็นว่าฟันคุดส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่น ๆ อย่างชัดเจน หรือหากมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เกิดจากฟันคุด ทันตแพทย์ก็อาจแนะนำให้ผ่าฟันคุดออก โดยสาเหตุที่ทันตแพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าฟันคุดออก เช่น

  • ฟันคุดสร้างความเสียหายให้กับฟันซี่อื่น ๆ 
  • ขากรรไกรเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหาย เนื่องจากฟันคุดอาจก่อให้เกิดถุงน้ำรอบ ๆ จนบริเวณขากรรไกรนั้นถูกทำลายและเกิดหลุม หรือเส้นประสาทบริเวณขากรรไกรได้รับความเสียหาย
  • เกิดปัญหาที่ไซนัส ฟันคุดสามารถก่อให้เกิดอาการปวด แรงดัน หรืออาการบวมที่ไซนัส
  • เหงือกอักเสบ เมื่อเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ฟันคุดเกิดการอักเสบ อาจส่งผลให้เหงือกเกิดอาการบวมและยากต่อการทำความสะอาด
  • ฟันผุ อาการเหงือกบวมจากฟันคุดอาจส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่เชื้อแบคทีเรียจะเข้าไปเจริญเติบโต และก่อให้เกิดฟันผุตามมา
  • การจัดฟัน ฟันคุดสามารถส่งผลต่อการจัดฟัน ทำให้ผลการจัดฟันไม่เป็นตามต้องการ รวมทั้งยังอาจส่งผลต่อการครอบฟัน หรือการใช้ฟันปลอมด้วย

ทั้งนี้ การตัดสินใจของทันตแพทย์ว่าจะทำการผ่าตัดหรือไม่ จะต้องตรวจดูรูปร่างของช่องปาก และตำแหน่งของฟันคุดก่อน รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงอายุด้วย ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนในการติดตามความเปลี่ยนแปลงของฟันคุด เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจอีกขั้นหนึ่ง

ข้อควรรู้ก่อนผ่าฟันคุด

ผู้ป่วยบางกลุ่มอาจไม่เหมาะต่อการผ่าฟันคุด เนื่องจากอาการป่วยบางอย่างอาจส่งผลให้การผ่าตัดเป็นไปได้ยาก หรืออาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ทันตแพทย์อาจไม่แนะนำให้ผ่าฟันคุดก็เช่น

สำหรับสตรีมีครรภ์ที่อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 หรือ 3 อาจจะต้องเลี่ยงการผ่าฟันคุดไปก่อนจนกว่าจะคลอดบุตร หรือถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อน 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ใช้กำลังใช้ยาสเตียรอยด์หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องใช้การรักษาด้วยเคมีบำบัดหากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อบริเวณฟันคุด ผู้ป่วยต้องทำการรักษาอาการอักเสบและติดเชื้อบริเวณแผลเสียก่อน

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดที่สามารถทำได้โดยมักไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล โดยก่อนการผ่าตัดทางโรงพยาบาลหรือคลินิกทันตกรรมจะนัดวันพร้อมกับการแนะนำถึงการปฏิบัติตนก่อนเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว และยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใด ๆ ที่กำลังใช้

ขั้นตอนการผ่าตัด

การผ่าฟันคุดจำเป็นจะต้องใช้ยาชาหรือยาสลบเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งในการผ่าตัดทางช่องปากมียาชาหรือยาสลบที่แพทย์มักใช้อยู่ 3 ชนิด ได้แก่

  • ยาชาเฉพาะที่ ทันตแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าไปยังจุดใกล้เคียงบริเวณที่ผ่าตัด โดยการใช้ยาชาเฉพาะจุดจะส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวตลอดการผ่าตัด แต่จะไม่รู้สึกเจ็บบริเวณที่ผ่าตัด จะมีก็แต่เพียงความรู้สึกถึงแรงดันหรือการเคลื่อนไหวของอุปกรณ์ภายในช่องปาก
  • ยาชาชนิดกล่อมประสาท ยาชาชนิดนี้ทันตแพทย์จะให้ผ่านการฉีดเข้าทางสายน้ำเกลือที่บริเวณแขน โดยยาชนิดนี้จะส่งให้สติสัมปะชัญญะของผู้ป่วยลดลงในขณะผ่าตัด จนไม่รู้สึกเจ็บและมีความทรงจำเกี่ยวกับการผ่าตัดที่จำกัด ทั้งนี้ การใช้ยาชาชนิดนี้ ทันตแพทย์อาจใช้ยาชาเฉพาะที่ร่วมด้วย
  • ยาสลบ ในบางกรณีที่จำเป็น ทันตแพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการดมยาสลบ หรือการฉีดเข้าที่สายน้ำเกลือบริเวณแขน เพื่อให้ผู้ป่วยหมดสติ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บและไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับการผ่าตัด

เมื่อยาชาหรือยาสลบออกฤทธิ์จนผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกบริเวณที่จะทำการผ่าตัดแล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มลงมือทำการผ่าตัดด้วยการใช้มีดกรีดที่เนื้อเยื่อเหงือกเพื่อเปิดให้เห็นกระดูกและฟันคุด และค่อย ๆ ตัดกระดูกที่ขวางรากฟันคุดออก 

จากนั้น ทันตแพทย์จะแบ่งฟันคุดออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำออกมา ก่อนจะค่อย ๆ นำเศษฟันออกจากบริเวณแผล ล้างทำความสะอาดบริเวณแผล และนำเศษฟันหรือกระดูกที่ตกค้างอยู่ออกจนหมด แล้วจึงเย็บปิดแผล แต่ในบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องทำการเย็บปิดปากแผล และในขั้นตอนสุดท้าย ทันตแพทย์จะนำผ้าก๊อซมาปิดบริเวณปากแผลเพื่อควบคุมให้เลือดหยุดไหล

การดูแลรักษาหลังการผ่าตัด

การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากทำการผ่าตัดเสร็จ ทั้งนี้หากในการผ่าฟันคุดมีแผลที่ต้องเย็บ ทันตแพทย์จะใช้ไหมละลายในการเย็บบริเวณแผล โดยไหมชนิดนี้จะละลายไปตามธรรมชาติพร้อม ๆ กับการสมานตัวของปากแผลภายในเวลาประมาณ 3–5 วัน

หลังจากการผ่าตัดแพทย์อาจใส่ผ้าก๊อซไว้ที่บริเวณปากแผลและให้ผู้ป่วยกัดผ้าก๊อซไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง วิธีนี้จะช่วยให้เลือดหยุดและเกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้นภายใน ซึ่งจะช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยไม่ควรนำออกหากเลือดยังไม่หยุดไหล

ทั้งนี้ แผลผ่าฟันคุดจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะเป็นปกติ โดยในระหว่างการพักฟื้นผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • อาการบวมภายในช่องปากและแก้ม อาการบวมนี้จะค่อนข้างรุนแรงในช่วงวันแรก ๆ หลังจากผ่าตัด จากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งผู้ป่วยสามารถประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวมได้
  • อาการเจ็บบริเวณขากรรไกร อาการจะค่อย ๆ ลดลงภายใน 7–10 วัน แต่เหงือกบริเวณขากรรไกรจะยังคงมีรอยช้ำต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์
  • อาการปวด หากการผ่าฟันคุดมีความซับซ้อนก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดค่อนข้างมาก
  • รู้สึกถึงรสชาติไม่พึงประสงค์ภายในช่องปาก เช่น รสชาติคาวเลือดที่ออกจากแผลซึ่งยังคงตกค้างอยู่
  • อาการเจ็บแปลบ ๆ หรือชาที่ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้น้อย โดยอาจเกิดขึ้นจากยาชาที่ตกค้าง หรือเกิดจากการถูกกระทบกระเทือนที่บริเวณปลายประสาท

ในระหว่างการพักฟื้นและรักษาตัว ช่วงวันแรก ๆ หลังจากการผ่าฟันคุด ผู้ป่วยมักไม่สามารถรับประทานอาหารตามปกติได้ แต่ก็ไม่ควรอดอาหาร และควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วน เพราะจะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น โดยใน 1–2 วันแรก ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารนิ่ม ๆ หรือ อาหารเหลว และควรหลีกเลี่ยงการใช้หลอดดูดน้ำและอาหารร้อนหรือรสจัดจะดีที่สุด

นอกจากนี้ อาหารที่รับประทานแล้วอาจตกค้างอยู่ในซอกฟันที่ผ่าตัดก็ควรหลีกเลี่ยง เมื่อแผลเริ่มสมานตัวแล้วจึงเริ่มสามารถรับประทานอาหารตามปกติได้แต่ก็ควรเคี้ยวช้า ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือน 

ทั้งนี้ เนื่องจากการผ่าตัดอาจส่งผลให้เกิดเลือดออกในปริมาณมาก ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการและควรไปพบแพทย์หากเลือดไม่หยุดไหลภายใน 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากได้ลำบาก หรืออาการช้ำที่เหงือกหายช้า

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น

  • กระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Alveolar Osteitis) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการที่ลิ่มเลือดไม่แข็งตัวภายในกระดูกเบ้าฟัน หรือลิ่มเลือดภายในกระดูกเบ้าฟันหลุดไป จนกระดูกเบ้าฟันว่างและแห้ง
  • อาการบาดเจ็บที่เส้นประสาทใบหน้า อาการนี้เป็นอาการที่อาจพบได้หลังจากการผ่าตัด แต่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก 

ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในลักษณะดังต่อไปนี้ในระยะการพักฟื้นหลังผ่าฟันคุด เช่น มีไข้ กลืนลำบาก หายใจลำบาก มีเลือดออกมากผิดปกติ มีหนองออกมาบริเวณเบ้าฟัน เกิดอาการชา หรือกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าอ่อนแรง ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที