ขูดหินปูน วิธีช่วยขจัดคราบบนผิวฟัน

ขูดหินปูน (Dental Scaling) เป็นวิธีในการกำจัดคราบหินปูนที่เกาะอยู่ตามบริเวณฟันและซอกฟัน โดยใช้เครื่องมือทันตกรรม หรือในบางครั้งแพทย์ก็อาจใช้อุปกรณ์ขูดหินปูนด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonic Scaler) เพื่อทำการกำจัดคราบหินปูน เนื่องจากการใช้คลื่นความถี่สูงจะทำให้เสียเลือด และมีอาการบวม รวมถึงความรู้สึกเจ็บน้อยกว่าการใช้เครื่องมือทันตกรรมแบบปกติ

คราบหินปูน (Dental Tartar) คือคราบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่รวมตัวกับโปรตีนหรือเศษอาหารกลายเป็นแผ่นจุลินทรีย์เกาะอยู่ที่ขอบฟันที่ติดกับเหงือก เมื่อทับถมกันมากเข้าก็จะมีลักษณะเป็นคราบหินปูน และเกาะแน่นที่ฟันจนอาจทำให้เกิดโรคปริทันต์หรือโรคเหงือกได้

ขูดหินปูน

ทำไมต้องขูดหินปูน 

การขูดหินปูนถือเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันโรคเหงือก และยังเป็นการรักษาโรคเหงือกด้วยเช่นกัน โดยทันตแพทย์จะทำการขูดคราบหินปูนออก และขัดฟันให้สะอาด ซึ่งหลังจากการขูดหินปูนแล้ว ผู้เข้ารับการขูดหินปูนควรรักษาความสะอาดของช่องปาก และทำตามแนะนำของทันตแพทย์ เพื่อช่วยให้สุขภาพช่องปากดีและมีเหงือกที่แข็งแรง

การขูดหินปูนเพื่อรักษานั้นจะทำก็ต่อเมื่อเหงือกเริ่มแยกออกจากฟันจนกลายเป็นร่อง ทำให้คราบแบคทีเรียตกลงไปในระหว่างฟันและเหงือกจนไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยการแปรงฟัน นอกจากนี้ หากคราบแบคทีเรียเริ่มเกาะตัวกันจนกลายเป็นคราบแข็งก็ควรทำการขูดหินปูนเพื่อป้องกัน เนื่องจากหากปล่อยไว้ก็จะทำให้กลายเป็นโรคเหงือก และเป็นสาเหตุให้สูญเสียฟันได้

ข้อห้ามในการขูดหินปูน

เช่นเดียวกับทันตกรรมชนิดอื่น ๆ ผู้ที่มีอาการป่วยร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ โรคไตวายระยะสุดท้าย โรคตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ความดันโลหิตสูง เป็นกลุ่มที่ไม่ควรรับการขูดหินปูน เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขูดหินปูนได้ 

อีกทั้งผู้ที่มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจมีเลือดออกในขณะที่ขูดหินปูน หากมีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดก็อาจทำให้เป็นอันตรายได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงจนต้องใช้เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการขูดหินปูนด้วยอุปกรณ์คลื่นความถี่สูง หรือควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดและหัวใจก่อน เนื่องจากคลื่นความถี่จากอุปกรณ์จะส่งผลให้เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติ หรือหยุดการทำงานไปชั่วขณะได้

สตรีมีครรภ์สามารถเข้ารับการขูดหินปูนได้ เนื่องจากการขูดหินปูนจะช่วยลดความเสี่ยงอาการอักเสบหรือติดเชื้อของเหงือก ทว่าในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 อาจจำเป็นต้องปรึกษาทั้งทันตแพทย์และแพทย์ที่ดูแลการตั้งครรภ์ก่อน เพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก หากไม่ใช่กรณีฉุกเฉินก็ควรเลื่อนไปทำหลังคลอดบุตรเพื่อลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด

ขั้นตอนการขูดหินปูน

การขูดหินปูนเป็นวิธีรักษาทางทันตกรรมที่สามารถทำได้ในคลีนิก และสามารถกลับบ้านได้ทันทีเมื่อทำการขูดหินปูนเสร็จ ซึ่งการขูดหินปูนจะแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสุขภาพฟัน
โดยส่วนใหญ่แล้วการขูดหินปูนจะเริ่มจากการตรวจสุขภาพฟัน โดยทันตแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพฟันโดยรวมด้วยการนำกระจกขนาดเล็กส่องดูรอบ ๆ ฟันและเหงือกเพื่อหาสัญญาณของเหงือกอักเสบ หรือปัญหาสุขภาพฟันอื่น ๆ

ขั้นตอนที่ 2 ขูดหินปูน
เมื่อทันตแพทย์ส่องดูสุขภาพฟันโดยรวมแล้วจะเริ่มใช้เครื่องมือในการขูดหินปูนและคราบแบคทีเรียออกจากบริเวณใกล้ ๆ กับเหงือก และระหว่างเหงือกกับฟัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงขูด ทั้งนี้จะใช้เวลานานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณหินปูนและบริเวณที่เกิดหินปูน

ขั้นตอนที่ 3 ขัดทำความสะอาดฟันด้วยยาสีฟัน
หลังจากขูดหินปูนออกหมดแล้ว ทันตแพทย์จะใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าที่จะส่งผลให้เกิดเสียงคล้ายกับเสียงกรอฟัน ซึ่งจะใช้เพื่อทำความสะอาดและกำจัดคราบหินปูนที่ตกค้างหลังจากการขูดออกไป โดยการใช้แปรงสีฟันไฟฟ้าจะใช้ควบคู่กับยาสีฟันที่ใช้สำหรับการขัดฟันโดยเฉพาะ

ขั้นตอนที่ 4 การใช้ไหมขัดฟันโดยทันตแพทย์
เมื่อขัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยตรวจสอบว่ามีบริเวณร่องฟันหรือส่วนใดของเหงือกที่มีปัญหา ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจทำให้เลือดออกจากเหงือกได้หากเหงือกบริเวณดังกล่าวอ่อนแอ นอกจากนี้ การใช้ไหมขัดฟันยังช่วยขจัดคราบหินปูนหรือยาสีฟันที่อาจตกค้างจากการขัดฟันได้อีกด้วย

ขั้นตอนที่ 5 บ้วนปาก
เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนการใช้ไหมขัดฟันแล้ว ทันตแพทย์จะให้บ้วนปากครั้งหนึ่งก่อนเพื่อล้างเศษที่ยังตกค้างจากการขูดหินปูน เพื่อเข้าสู่กระบวนการขั้นต่อไป

ขั้นตอนที่ 6 เคลือบฟลูออไรด์
การเคลือบฟลูออไรด์เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการขูดหินปูน โดยการเคลือบฟลูออไรด์นั้นจะช่วยป้องกันฟันจากฟันผุได้ชั่วคราว โดยแพทย์จะใส่สารสำหรับเคลือบฟันลงในถาดเคลือบฟลูออไรด์ที่มีลักษณะคล้ายถาดพิมพ์ฟัน แล้วให้ผู้ป่วยกัดไว้ประมาณ 1 นาทีแล้วนำออก ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

การเตรียมตัวก่อนขูดหินปูน

การขูดหินปูนจะใช้เวลาในการทำไม่นาน และไม่จำเป็นต้องพักฟื้น โดยส่วนใหญ่ก่อนจะทำการขูดหินปูนแพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจสุขภาพฟันเสียก่อน หากมีการนัดล่วงหน้า ทันตแพทย์จะแนะนำดูแลความสะอาดช่องปากมาก่อนที่จะมาพบทันตแพทย์ เพื่อจะได้สะดวกต่อการขูดหินปูน อีกทั้งหากผู้ป่วยมีการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดก็ควรหยุดใช้ยา 7–10 วัน ก่อนมาพบทันตแพทย์

การดูแลรักษาหลังจากขูดหินปูน

หลังจากการขูดหินปูนแล้ว อาจรู้สึกเจ็บปวดอย่างน้อย 1–2 วัน และอาจมีอาการเสียวฟันประมาณ 1 สัปดาห์ บางครั้งหากหินปูนสะสมอยู่มาก การขูดหินปูนก็อาจจะทำให้เหงือกบวม รู้สึกเจ็บเวลาที่กด หรือมีเลือดออกได้ แต่ถ้าหากมีเลือดออกและรู้สึกเจ็บติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็ควรกลับมาพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติอีกครั้งหนึ่ง

ถึงแม้ว่าการขูดหินปูนจะไม่เป็นอันตรายแต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงได้ อย่างการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนทำให้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจบางชนิด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ หรือลดการเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องได้