สตรอเบอร์รี่ ผลไม้ยอดนิยมที่มีประโยชน์มากมาย

สตรอเบอร์รี่ เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย หลายคนจึงเชื่อว่าการบริโภคสตรอเบอร์รี่อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้านต่าง ๆ เช่น ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต ป้องกันโรคเบาหวานและโรคมะเร็ง

ประโยนช์ของสตรอเบอร์รี่

คนนิยมบริโภคสตรอเบอร์รี่เพราะมีรสชาติอร่อยแบบเปรี้ยวอมหวาน และยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ ไฟเบอร์ วิตามินซี โฟเลต โพแทสเซียม แมงกานีส และสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่า 25 ชนิดอีกด้วย สตรอเบอร์รี่สดปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 32 แคลอรี่ ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำ 91 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรต 7.7 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 0.7 เปอร์เซ็นต์ และไขมัน 0.3 เปอร์เซ็นต์ โดยนิยมนำมารับประทานแบบผลสดและแบบแปรรูป เช่น แยม เจลลี่ น้ำปั่น ไอศกรีม และขนมหวานต่าง ๆ

ความเชื่อและข้อพิสูจน์ถึงคุณประโยชน์ของสตรอเบอร์รี่

1. สตรอเบอร์รี่ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน

สตรอเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำแต่มีสารอาหารเป็นประโยชน์มากมาย หลายคนจึงเชื่อว่าการบริโภคสตรอเบอร์รี่อาจเป็นผลดีต่อร่างกายและช่วยต้านโรคบางชนิดได้ ทั้งนี้ มีงานวิจัยบางส่วนที่ศึกษาประสิทธิผลของสตรอเบอร์รี่กับสารอินซูลินแล้วพบว่า สตรอเบอร์รี่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลและกระตุ้นการทำงานของอินซูลินซึ่งอาจป้องกันโรคเบาหวานได้

มีงานวิจัยหนึ่งให้ผู้ทดลองที่มีน้ำหนักตัวมากและอยู่ในภาวะอ้วนบริโภคสารโพลีฟีนอลที่สังเคราะห์มาจากสตรอเบอร์รี่และแครนเบอร์รี่ปริมาณ 333 มิลลิกรัม หลังจากผ่านไป 6 สัปดาห์พบว่า สารดังกล่าวอาจช่วยกระตุ้นการทำงานของอินซูลินในร่างกายผู้ทดลองได้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ให้ผลลัพธ์ว่า การบริโภคเครื่องดื่มจากสตรอเบอร์รี่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลและอินซูลินในร่างกายโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงงานทดลองถึงการลดระดับน้ำตาลในเลือดเท่านั้น ไม่ได้ค้นคว้าด้านการป้องกันโรคเบาหวานโดยตรงแต่อย่างใด ดังนั้น อาจต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป เพื่อนำผลการทดลองที่ได้มาปรับใช้ในอนาคต

2. มีส่วนช่วยในการลดคอเลสเตอรอล

เนื่องจากสตรอเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่ปราศจากไขมันคอเลสเตอรอล เครื่องดื่มและอาหารเสริมมากมายจึงมักกล่าวอ้างสรรพคุณของสารสกัดจากสตรอเบอร์รี่ว่าใช้ลดคอเลสเตอรอลได้ ทั้งนี้ มีงานวิจัยหนึ่งให้ผู้ทดลองที่มีภาวะอ้วนบริโภคผงสตรอเบอร์รี่ที่เทียบเท่ากับสตรอเบอร์รี่แห้งปริมาณ 160 กรัม วันละ 2 ครั้ง ซึ่งผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายผู้ทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อีกงานวิจัยหนึ่งที่ให้ผู้ทดลองซึ่งมีภาวะไขมันในเลือดสูงบริโภคเครื่องดื่มสตรอเบอร์รี่ที่ประกอบไปด้วยสตรอเบอร์รี่แห้ง 10 กรัม เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าผู้ทดลองมีระดับไตรกลีเซอไรด์และระดับคอเลสเตอรอลลดลงเช่นกัน

แม้ผลลัพธ์จากงานวิจัยเหล่านี้จะชี้ว่า สตรอเบอร์รี่อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้ แต่การทดลองดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในกลุ่มทดลองขนาดเล็กเท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปผลได้ว่าสตรอเบอร์รี่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้จริง ดังนั้น จึงควรศึกษาจากงานวิจัยขนาดใหญ่เพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันประสิทธิผลของสตรอเบอร์รี่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

3. ลดระดับความดันโลหิต

มีความเชื่อว่าสารต่าง ๆ ในสตรอเบอร์รี่อาจช่วยปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้

มีงานวิจัยหนึ่งเผยว่า ผู้ที่ได้รับสารแอนโทไซยานินปริมาณมากจากบลูเบอร์รี่และสตรอเบอร์รี่ อาจเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงน้อยลง 8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ทดลองที่รับสารดังกล่าวน้อยกว่า โดยสารแอนโทไซยานินจากบลูเบอร์รี่และสตรอเบอร์รี่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง จึงอาจช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วย

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งงานวิจัยที่ให้ผู้ทดลองบริโภคเครื่องดื่มจากผงสตรอเบอร์รี่แห้งปริมาณ 25 กรัมทุกวัน หลังจากผ่านไป 6 สัปดาห์ พบว่าผู้ทดลองมีความดันโลหิตไดแอสโตลิคซึ่งเป็นค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจคลายตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวมีขนาดเล็ก และยังใช้สารสกัดจากผลไม้ชนิดอื่นมาทดลองร่วมกับสตรอเบอร์รี่ด้วย ดังนั้น ผลลัพธ์จากงานวิจัยเหล่านี้จึงไม่สามารถยืนยันสมมติฐานที่ว่าการบริโภคสตรอเบอร์รี่อาจช่วยลดความดันโลหิตได้ ควรค้นคว้าหาหลักฐานอื่น ๆ ที่แน่ชัดมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป

4. สตรอเบอร์รี่ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ 

ผลลัพธ์จากงานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่า สตรอเบอร์รี่อาจลดการเกิดโรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ จึงอาจทำให้หลายคนเชื่อว่า การบริโภคสตรอเบอร์รี่อาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ มีงานวิจัยบางชิ้นพบว่า ผลไม้จำพวกเบอร์รี่มีสารแอนโทไซยานินที่อาจรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่นเดียวกับงานวิจัยขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งที่เผยว่า การบริโภคสตรอเบอร์รี่อาจลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้

แม้ผลการค้นคว้าดังกล่าวจะพบว่าสตรอเบอร์รี่อาจลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของการเกิดโรคหัวใจได้ แต่งานวิจัยบางชิ้นทดลองด้วยการใช้สารของเบอร์รี่หลายชนิดด้วยกัน จึงอาจต้องศึกษาทดลองเพิ่มเติมโดยใช้สารแอนโทไซยานินจากสตรอเบอร์รี่เพียงอย่างเดียว เพื่อยืนยันสมมติฐานด้านดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

5. ป้องกันมะเร็งด้วยวิตามินซีและสารกลุ่มแอนโทไซยานิน

สตรอเบอร์รี่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินซีและสารกลุ่มแอนโทไซยานิน หลายคนจึงเชื่อว่าสตรอเบอร์รี่อาจรักษาและป้องกันโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ผลไม้จำพวกเบอร์รี่อาจช่วยต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ และป้องกันมะเร็งบางชนิดได้

นอกจากนี้ มีงานวิจัยชิ้นอื่นที่เผยว่า สตรอเบอร์รี่อาจมีฤทธิ์ต้านการก่อตัวของเนื้องอกมะเร็งช่องปากในสัตว์ทดลองและมะเร็งตับในตัวอย่างเซลล์มนุษย์ได้

อย่างไรก็ตาม การวิจัยบางส่วนเป็นเพียงการทดลองจากเบอร์รี่หลายชนิด และเป็นการทดลองในสัตว์หรือในเซลล์ตัวอย่างเท่านั้น ดังนั้น การยืนยันสมมติฐานในด้านนี้อาจต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้น และต้องค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรศึกษาทดลองประสิทธิภาพของสตรอเบอร์รี่ในมนุษย์ด้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์

ข้อควรระวังในการบริโภคสตรอเบอร์รี่

การบริโภคสตรอเบอร์รี่ในรูปแบบอาหารอาจไม่ก่อให้เกิดโทษใด ๆ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนการบริโภคเพื่อหวังผลการรักษาทางการแพทย์นั้น ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะยืนยันผลลัพธ์และความปลอดภัยของผู้ป่วยได้

แม้สตรอเบอร์รี่อาจมีประโยชน์มากมาย แต่หากรับประทานในปริมาณมากเกินไป หรือบริโภคระหว่างที่มีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มบุคคลต่อไปนี้ควรระมัดระวังในการบริโภคสตรอเบอร์รี่เป็นพิเศษ

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
    การบริโภคสตรอเบอร์รี่ในรูปแบบอาหารค่อนข้างปลอดภัย แต่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารเสริมหรือใช้เป็นยา เพราะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ชัดเจนในด้านนี้
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย
    ควรระมัดระวังด้านปริมาณในการบริโภคสตรอเบอร์รี่ เพราะหากรับประทานปริมาณมาก อาจเสี่ยงทำให้เลือดออกนานขึ้น หรือเสี่ยงเกิดรอยช้ำได้
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
    ห้ามบริโภคสตรอเบอร์รี่หรืออาหารเสริมสตรอเบอร์รี่ปริมาณมากก่อนผ่าตัด เพราะสตรอเบอร์รี่อาจมีผลชะลอการแข็งตัวของเลือด และอาจทำให้เลือดออกมากขึ้นทั้งในระหว่างและหลังการผ่าตัด
  • เด็กเล็ก อาจเสี่ยงเผชิญอาการแพ้จากสตรอเบอร์รี่ซึ่งเกี่ยวข้องกับสารแอนโทไซยานิน ดังนั้น หากเด็กหรือผู้ใดบริโภคสตรอเบอร์รี่แล้วปรากฏอาการแพ้ เช่น บวมบริเวณริมฝีปาก ใบหน้า ลิ้น และลำคอ ปวดหัว คันปาก เป็นผื่น หรือหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที