อินซูลิน
อินซูลิน (Insulin) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นมาเองได้ โดยฮอร์โมนชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นจากตับอ่อน ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในให้เหมาะสม ทั้งนี้อินซูลินที่ใช้ในทางการแพทย์นั้นสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน ทั้งในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ร่วมกับการใช้ยาชนิดอื่น ๆ หรือเมื่อการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ไม่ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยอินซูลินแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่
- ชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Ultra Rapid-Acting) เป็นชนิดที่ใช้เวลาการเริ่มออกฤทธิ์ประมาณ 12-30 นาที และออกฤทธิ์สูงสุดในช่วงเวลา 30 นาที-3 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ยาวนานต่อเนื่อง 3-5 ชั่วโมง
- ชนิดออกฤทธิ์ปกติ (Regular หรือ Short-Acting) คืออินซูลินที่จะเริ่มออกฤทธิ์หลังฉีดเข้าร่างกายประมาณ 30 นาที ตัวยาออกฤทธิ์สูงสุดระหว่าง 2.5-5 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ต่อเนื่อง 4-8 ชั่วโมง
- ชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate Acting) คืออินซูลินที่จะเข้าสู่กระแสเลือด 1-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์สูงสุดระหว่างเวลา 4-12 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ต่อเนื่อง 14-24 ชั่วโมง
- ชนิดออกฤทธิ์นาน (Long Acting) อินซูลินชนิดนี้จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 6-14 ชั่วโมงหลังฉีด และค่อย ๆ ออกฤทธิ์ใน 10-16 ชั่วโมง โดยไม่มีช่วงเวลาออกฤทธิ์สูงสุด อินซูลีนชนิดนี้จะอยู่ในกระแสเลือดได้ถึง 20-24 ชั่วโมง
ในการใช้อินซูลินแพทย์จะเป็นผู้สั่งและ เป็นผู้กำหนดปริมาณที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น เนื่องจากการใช้ในปริมาณที่น้อยเกินไปจะทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรือหากใช้มากไปอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายได้
เกี่ยวกับอินซูลิน
กลุ่มยา | ยาฮอร์โมนอินซูลิน |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาฉีด |
คำเตือนการใช้อินซูลิน
- ผู้ที่ประวัติแพ้อินซูลิน ควรหลีกเลี่ยงการใช้อินซูลินทุกชนิด
- ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ห้ามใช้อินซูลิน
- ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคตับหรือไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดังกล่าว
- ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบหากผู้ป่วยมีการใช้ยารักษาโรคเบาหวานชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันการใช้ยาซ้ำซ้อน ซึ่งอาจเสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจได้
- สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรแจ้งต่อแพทย์ก่อนใช้ยานี้เพื่อความปลอดภัย
ปริมาณการใช้อินซูลิน
ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
- รักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากโรคเบาหวาน (Diabetic Ketoacidosis) เบื้องต้นให้ 20 ยูนิต และให้ 6 ยูนิตต่อชั่วโมงจนกว่าระดับน้ำตาลลดลงถึง 10 มิลลิโมลต่อลิตรหรือ 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แล้วจึงเปลี่ยนมาให้ยาทุก 2 ชั่วโมง
ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
รักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากโรคเบาหวาน (Diabetic Ketoacidosis)
- ผู้ใหญ่ สำหรับสารละลายอินซูลินความเข้มข้น 1 ยูนิตต่อมิลลิลิตร ผ่านทางเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือด เริ่มต้นที่ 6 ยูนิตต่อชั่วโมง และสามารถให้เพิ่มเป็นเท่าตัว หรือ 4 เท่าได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่ลดลงอย่างน้อย 5 มิลลิโมลต่อลิตรหรือ 90 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรต่อชั่วโมง หากระดับน้ำตาลในเลือดลดลงถึง 10 มิลลิโมลต่อลิตรต่อชั่วโมง หรือ 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สามารถลดปริมาณอินซูลินลงเหลือ 3 ยูนิตต่อชั่วโมงได้ และควรให้สารละลายกลูโคสความเข้มข้น 5%ไปพร้อมกันด้วย เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จนกว่าผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และไม่ควรหยุดใช้อินซูลินทางหลอดเลือดดำจนกว่าจะกลับมาให้ทางการฉีดใต้ผิวหนัง และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าให้สารน้ำแก่ผู้ป่วยในปริมาณที่เพียงพอ อีกทั้งให้โพแทสเซียมแก่ผู้ป่วยเพียงพอเพื่อป้องกันภาวะโพสแทสเซียมต่ำเนื่องจากได้รับอินซูลิน
- เด็ก สำหรับสารละลายอินซูลิน ให้ในปริมาณ 1 ยูนิตต่อมิลลิลิตร ผ่านเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือด เริ่มต้นที่ 0.1 ยูนิตต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และสามารถให้เพิ่มเป็นเท่าตัว หรือ 4 เท่าได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่ลดลงอย่างน้อย 5 มิลลิโมลต่อลิตรต่อชั่วโมง หรือ 90 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างน้อย 10 มิลลิโมลต่อลิตรต่อชั่วโมง หรือ 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สามารถลดปริมาณอินซูลินลงเหลือ 0.05 ยูนิตต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อชั่วโมงได้ และควรให้สารละลายกลูโคสความเข้มข้น 5%ไปพร้อมกันด้วย เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จนกว่าผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และไม่ควรหยุดใช้อินซูลินทางหลอดเลือดดำจนกว่าจะกลับมาให้ทางการฉีดใต้ผิวหนัง และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าให้สารน้ำแก่ผู้ป่วยในปริมาณที่เพียงพอ อีกทั้งให้โพแทสเซียมที่เพียงพอแก่ผู้ป่วยเพื่อป้องกันภาวะโพสแทสเซียมต่ำเนื่องจากได้รับอินซูลิน
ยาฉีดใต้ผิวหนัง
รักษาโรคเบาหวาน
- ผู้ใหญ่ ใช้ในปริมาณตามที่แพทย์สั่ง โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังที่บริเวณต้นขา ต้นแขน สะโพก และหน้าท้อง
การใช้อินซูลิน
อินซูลินเป็นยาที่ใช้ได้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น โดยแพทย์จะพิจารณาถึงอาการของโรคเบาหวานที่เป็น ซึ่งปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับคำสั่งของแพทย์ด้วย หากใช้อินซูลินเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการรักษาได้
การใช้อินซูลิน ผู้ป่วยต้องใช้ตามปริมาณที่กำหนด และไม่ใช้มากหรือน้อยกว่าปริมาณที่แพทย์สั่ง อีกทั้งไม่เจือจางยา หรือเปลี่ยนชนิดและยี่ห้อของยาโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และไม่หยุดยาเองเพราะอาจกระทบกับการรักษา ผู้ป่วยควรแจ้งต่อแพทย์หากมีการใช้ยาบางชนิดในการรักษาอาการเจ็บป่วย ได้แก่
- ยาซาลบูทามอล (Salbutamol) ที่ใช้ในการรักษาโรคหอบหืด
- ยาโคลนิดีน (Clonidine) และยารีเซอร์พีน (Reserpine) ที่ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ใช้ในการเลิกยาเสพติด หรือรักษาโรคทางจิตเวช
- ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ (Beta-Blocker) ใช้การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และลดความดันโลหิต
หากมีการใช้ยาเหล่านี้แพทย์มักจะพิจารณาเรื่องการใช้อินซูลินอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้ฤทธิ์ของยาและอินซูลินส่งผลเสียต่อร่างกาย
นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งในเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนัก และหมั่นติดตามอาการด้วยการตรวจวัดระดับน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือต่ำเกินไปซึ่งส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยได้
ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นอาการที่ควรระมัดระวังในผู้ป่วยเบาหวาน โดยสังเกตได้คือ ปวดศีรษะ รู้สึกเหมือนหิวมากผิดปกติ เหงื่อออก ผิวซีด หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย วิงเวียนศีรษะ มือสั่น ใจสั่น ผู้ป่วยควรพกของหวาน เช่น ลูกอม น้ำผลไม้ หรือน้ำหวานติดตัวไว้ และควรสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ
หากมีอาการกระหายน้ำผิดปกติ ปัสสาวะมากขึ้น หิวบ่อย ปากแห้ง ผิวแห้ง ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ มีอาการง่วงซึม สายตามัวหรือน้ำหนักลดผิดปกติ อาจหมายถึงภาวะน้ำตาลในเลือดสูงควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรพกเอกสารที่แสดงว่าเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน และรับการรักษาแบบใดอยู่ติดตัวไว้เสมอ เผื่อในกรณีฉุกเฉิน แพทย์ที่ต้องรักษาผู้ป่วยจะได้รักษาอย่างถูกวิธี
สำหรับสตรีมีครรภ์สามารถใช้อินซูลินได้แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ใหน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปจนส่งผลต่อทารกในครรภ์ ส่วนสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ใช้อินซูลินได้เช่นกัน แต่มักใช้อินซูลินน้อยกว่าปกติ ทั้งนี้ อินซูลินที่ใช้จะไม่ตกค้างในน้ำนม และไม่ส่งผลกระทบต่อทารกที่ดื่มของแม่ที่ใช้อินซูลิน
ขณะที่การฉีดยาอินซูลินเข้าใต้ผิวหนังด้วยตนเอง ไม่ควรฉีดยาซ้ำที่บริเวณเดิมเกิน 2 ครั้ง และไม่ควรใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ดังนั้นเมื่อใช้เสร็จแล้วควรทิ้งเข็มฉีดยาลงในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถป้องกันเข็มทะลุออกมาได้ และควรเก็บให้ห่างไกลจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ในการเก็บรักษาอินซูลิน ผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากและหมั่นสังเกตตัวยาอยู่เสมอ อินซูลินแต่ละยี่ห้อจะมีลักษณะของน้ำยาที่แตกต่างกัน คืออาจมีสีใส หรือสีขุ่นก็ได้ แต่ถ้าลักษณะของยาเปลี่ยนไปจากเดิม ควรหยุดใช้และแจ้งแพทย์ผู้รักษาเพื่อเปลี่ยนยาใหม่ ควรเก็บยาไว้ในที่เย็น เช่น ตู้เย็น หรือตู้แช่ ที่มีอุณหภูมิประมาณ 2-8 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการเก็บยาไว้ในช่องแช่แข็ง และไม่ควรให้ยาถูกแสงแดด หรือโดนความร้อนโดยตรงเพราะอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพ ทั้งนี้ อินซูลินที่เปิดใช้แล้ว หรือที่ถูกบรรจุในปืนปากกา สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องไม่เกิน 30 องศาเซลเซียสได้ ยาที่เปิดใช้แล้วจะอายุไม่เกิน 28 วัน หากใช้ไม่หมดภายในเวลาดังกล่าวต้องทิ้งแล้วเปลี่ยนขวดใหม่
ผลข้างเคียงจากการใช้อินซูลิน
อินซูลินเป็นยาที่ทำให้เกิดการแพ้ได้น้อยมาก แต่อาจพบได้ โดยส่งผลให้เกิดอาการแพ้ทั่วร่างกาย หรือบวมแดงบริเวณที่ฉีดซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตอาการตลอดเวลาที่ใช้อินซูลินในการรักษา โดยผลข้างเคียงที่มักพบ ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และน้ำหนักตัวขึ้น ทั้งนี้ หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่
- รู้สึกวิตกกังวล มึนงง ซึมเศร้า
- ตาพร่ามัว
- มีอาการหนาวสั่น และมีเหงื่อออก ตัวเย็น
- เกิดอาการชักกะตุก ชัก หรือตัวสั่น
- ผิวหนังซีด หรือมีผื่นขึ้น
- ปากแห้ง ไอ กลืนลำบาก
- ปัสสาวะน้อยลง
- หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดปกติ
- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้
- หิว หรือกระหายน้ำบ่อยขึ้น
- ความอยากอาหารลดลง
- มีอาการเหน็บชาที่มือ เท้า หรือริมฝีปาก
- กล้ามเนื้อเกร็ง
- แน่นหน้าอก
- เกิดอาการเหนื่อย อ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ