ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic Anemia)

ความหมาย ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic Anemia)

Hemolytic Anemia หรือภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก เป็นภาวะที่เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวเร็วผิดปกติจนร่างกายไม่อาจสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่มาแทนที่ได้ทัน เมื่อระดับเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำลง ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงยังอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่เพียงพอ จึงเกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ผิวซีด ม้ามหรือตับโต   

ภาวะ Hemolytic Anemia เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย หากอาการไม่รุนแรงมักหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่บางรายแม้มีอาการไม่รุนแรงก็อาจเป็นปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาว จึงควรเข้ารับการวินิจฉัยหาสาเหตุและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสหายจากภาวะดังกล่าว

ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic Anemia)

อาการของ Hemolytic Anemia

ภาวะ Hemolytic Anemia เกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงมักก่อให้เกิดอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกันไป แต่อาการที่พบมักคล้ายคลึงกับภาวะโลหิตจางประเภทอื่น เช่น ผิวซีด ตาเหลือง ตัวเหลือง มีไข้ รู้สึกเหนื่อยง่ายและอ่อนแรงแม้เป็นการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เวียนศีรษะ รู้สึกสับสน ปัสสาวะมีสีเข้มหรือปนเลือด หัวใจเต้นเร็ว มีเสียงฟู่ที่หัวใจ หายใจไม่อิ่ม ความดันโลหิตต่ำ และม้ามหรือตับโต  

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงยังอาจเสี่ยงต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงแตกรุนแรงเฉียบพลัน ส่งผลให้ตัวสั่น มีไข้ ปวดท้องและหลัง ปัสสาวะเป็นสีแดงหรือน้ำตาลแดง แต่ปัญหานี้มักได้น้อย หากผู้ป่วยพบอาการคล้ายโรคเลือดหรือปัญหาสุขภาพอื่น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

สาเหตุของ Hemolytic Anemia

โดยทั่วไป ร่างกายคนเราจะมีกระบวนการสลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าหรือผิดปกติภายในม้ามหรืออวัยวะส่วนอื่น และผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่มาแทนที่อยู่แล้ว ซึ่งเซลล์เม็ดเลือดแดงนี้มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงยังอวัยวะทั่วร่างกาย ช่วยให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ดำเนินไปได้ตามปกติ

แต่ผู้ป่วย Hemolytic Anemia จะมีปริมาณเซลล์เม็ดแดงต่ำ เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าถูกทำลายหรือสลายตัวเร็วเกินไป ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงอาจกระทบต่อระบบการทำงานในร่างกายในที่สุด  

ทั้งนี้ ภาวะ Hemolytic Anemia แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีปัจจัยและสาเหตุการเกิดที่ต่างกันออกไป ได้แก่

1. ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกที่มาจากพันธุกรรม (Inherited Hemolytic Anemia)

Hemolytic Anemia ประเภทนี้เป็นผลจากความผิดปกติในพันธุกรรม โดยพ่อแม่ที่มีประวัติเป็นโรคเลือดหรือโรคการเผาผลาญผิดปกติอาจส่งต่อยีนของโรคไปสู่ลูก ทำให้ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงอายุขัยสั้นหรือสลายตัวผิดปกติ

ตัวอย่างของโรคทางพันธุกรรมดังกล่าวก็เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease) โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency) และภาวะเม็ดเลือดแดงป่องพันธุกรรม (Hereditary Spherocytosis) 

2. ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกที่เกิดภายหลัง (Acquired Hemolytic Anemia)

ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเซลล์เม็ดเลือดแดงปกติมาตั้งแต่กำเนิด แต่อาจมีปัจจัยหรือสาเหตุบางประการที่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงในภายหลัง 

โดยมีตั้งแต่การได้รับสารพิษอย่างตะกั่วหรือทองแดง การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ยากลุ่มซัลฟา หรือยาต้านมาลาเรียอย่างยาควินิน (Quinine)     

รวมไปถึงปัญหาสุขภาพ เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียอย่างไวรัสตับอักเสบ มาลาเรีย ไข้ไทฟอยด์ หรือการติดเชื้อเอชไอวี โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติอย่างโรคแพ้ภูมิตัวเอง ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือลำไส้อักเสบ กลุ่มอาการ HELLP ม้ามโต เนื้องอก มะเร็งเลือดหรือต่อมน้ำเหลือง อาการไม่พึงประสงค์จากการถ่ายเลือด และการใช้ลิ้นหัวใจเทียมในผู้ป่วยบางราย 

การวินิจฉัย Hemolytic Anemia

แพทย์จะสอบถามประวัติการใช้ยา ประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัว และตรวจร่างกายโดยสังเกตหาสัญญาณของอาการโลหิตจาง หลังจากนั้นจะมีการตรวจเลือด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) ตรวจปัสสาวะ หรือตรวจน้ำไขสันหลังร่วมด้วย 

วิธีเหล่านี้จะช่วยตรวจวัดปริมาณและขนาดของเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด โปรตีนฮีโมโกลบิน ค่าความเข้มข้นของเลือดในร่างกาย รวมถึงค่าหรือปริมาณสารอื่น ๆ อย่างโปรตีนแฮปโตโกลบิน (Haptoglobin) ค่าเอนไซม์แอลดีเอช (Lactate Dehydrogenase: LDH) ค่าเอนไซม์ในตับ หรือสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งทำให้ผลการวินิจฉัยแม่นยำยิ่งขึ้นและสามารถระบุประเภทของ Hemolytic Anemia ได้

การรักษา Hemolytic Anemia

ผู้ป่วย Hemolytic Anemia ที่มีอาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการออกมาอาจหายดีได้เองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยที่แพทย์เห็นสมควรให้เข้าสู่กระบวนการรักษาก็จะได้รับการรักษาที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิด ความรุนแรงของอาการ การตอบสนองต่อการรักษา อายุ สุขภาพโดยรวม รวมถึงประวัติสุขภาพของผู้ป่วย

โดยแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาตามสาเหตุของผู้ป่วยดังต่อไปนี้

  • การให้เลือด เพื่อช่วยทดแทนเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลายไป
  • การให้อิมมูโนโกลบูลิน (Intravenous Immunoglobulin: IVIg) ทางหลอดเลือดดำ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย 
  • การใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยากดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ เพื่อลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย
  • การรักษาวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้ยาริทูซิแมบ (Rituximab) หรือการปลูกถ่ายไขกระดูกก็อาจถูกนำมาใช้ในผู้ป่วยบางราย

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจแนะนำให้ผู้ที่มีอาการรุนแรงเข้ารับการผ่าตัดม้ามซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงออก ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยากดภูมิคุ้มกันหรือยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์

ภาวะแทรกซ้อนของ Hemolytic Anemia

หากผู้ป่วย Hemolytic Anemia ที่รุนแรงละเลยการรักษา อาจเผชิญกับอาการที่รุนแรงมากขึ้นและเสี่ยงต่อโรคหัวใจ อย่างหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคปอดได้

การป้องกัน Hemolytic Anemia

ภาวะ Hemolytic Anemia นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ และบางสาเหตุยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่ผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ได้ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 วิตามินซี และกรดโฟลิค หรือดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน 

ยิ่งไปกว่านั้นยังควรระมัดระวังในการใช้ชีวิตอยู่เสมอ หมั่นล้างมือให้สะอาดหรือสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่นหรืออยู่ใกล้คนป่วย

หากพบสัญญาณของปัญหาสุขภาพใด ๆ หรือมีโรคประจำตัวก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาหรือควบคุมอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ และหากจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคก็ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

ในกรณีที่ตนเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่าง โรคเลือดและโรคการเผาผลาญที่ผิดปกติ อาจไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะ Hemolytic Anemia และหาวิธีป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ที่วางแผนจะมีบุตรและผู้ที่กำลังตั้งครรภ์