กลุ่มอาการ HELLP (HELLP Syndrome)

ความหมาย กลุ่มอาการ HELLP (HELLP Syndrome)

กลุ่มอาการ HELLP (HELLP Syndrome) เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับตับ เลือด และความดันโลหิตในขณะตั้งครรภ์หรือหลังคลอด ผู้ป่วยจะมีอาการที่คลุมเครือและค่อนข้างกว้าง ทำให้ยากต่อวินิจฉัย โดยกลุ่มอาการนี้จัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา ทว่ามักพบได้น้อยมาก

อาการเด่นของกลุ่มอาการ HELLP คือปัญหาเซลล์เม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis) ค่าเอนไซม์ในตับสูง (Elevated Liver Enzymes) และเกล็ดเลือดต่ำ (Low Platelet Count) ซึ่งแม้จะยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็วก็อาจทำให้อาการดีขึ้น และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อทั้งแม่และลูก

กลุ่มอาการ HELLP (HELLP Syndrome)

อาการของกลุ่มอาการ HELLP 

กลุ่มอาการ HELLP มักทำให้เกิดอาการกว้าง ๆ คล้ายกับอาการของปัญหาสุขภาพอื่น เช่น ติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหารและลำไส้ ไข้หวัด โรคถุงน้ำดี ไวรัสตับอักเสบ โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน และอาการทั่วไปที่เกิดขณะตั้งครรภ์ จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยากขึ้น 

ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการที่แตกต่างกันไป โดยผู้ที่ตั้งครรภ์มักจะรู้สึกไม่สบายหรืออ่อนแรง ปวดท้องโดยเฉพาะท้องส่วนบน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะหรือหัวไหล่ บวมบริเวณใบหน้าหรือมือ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากและรวดเร็ว มองเห็นเป็นภาพเบลอ และการมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป สำหรับอาการที่พบได้ยากจะเป็นเลือดกำเดาไหลหรือเลือดออกที่หยุดไหลช้า รู้สึกสับสน หรือชัก ซึ่งควรไปพบแพทย์โดยด่วน

สาเหตุของกลุ่มอาการ HELLP 

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของกลุ่มอาการ HELLP แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า อาจมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่อไปนี้

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) เป็นภาวะที่ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แต่ไม่ใช่คนตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษทุกคนจะพบกลุ่มอาการนี้ โดยอัตราการเกิดโรคนั้นมีเพียง 10–20%
  • มีประวัติสุขภาพหรือโรคประจำตัว อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูงหรือกลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์มาแล้ว 2 ครั้งขึ้นไป โดยความเสี่ยงสูงขึ้นหากเคยเกิดกลุ่มอาการนี้ในระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ๆ
  • ผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี

การวินิจฉัยกลุ่มอาการ HELLP 

แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยเบื้องต้น หากพบสัญญาณหรืออาการเข้าข่ายกลุ่มอาการ HELLP เช่น แน่นท้องโดยเฉพาะด้านขวาบน ตับโต ความดันโลหิตสูง หรือขาบวม ผู้ป่วยอาจต้องส่งตรวจเพิ่มเติม เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจคล้ายกับปัญหาสุขภาพอื่นและการวินิจฉัยที่แม่นยำ

ตัวอย่างเช่น การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณเกล็ดเลือด ค่าเอนไซม์ในตับ และปริมาณเม็ดเลือดแดง การตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาโปรตีนที่ผิดปกติ การตรวจ MRI Scan เพื่อมองหาจุดที่มีเลือดออกในตับ หรือการประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ เป็นต้น

การรักษากลุ่มอาการ HELLP 

เนื่องจากกลุ่มอาการ HELLP เป็นปัญหาสุขภาพที่รุนแรงต่อแม่และทารก การคลอดทารกหรือการคลอดก่อนกำหนดจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการรักษาและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาภายหลัง โดยอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นภายใน 2–3 วันหลังคลอด แต่ผู้ป่วยที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ แพทย์อาจต้องประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยของแม่และทารกก่อนทำการคลอด

ในระหว่างที่ผู้ป่วยอุ้มท้องหรือหลังคลอดบุตรแล้ว แพทย์จะรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ตามความรุนแรงของอาการและอายุครรภ์ เช่น การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อช่วยให้ปอดของทารกคลอดก่อนกำหนดเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ยาแมกนีเซียมซัลเฟตเพื่อต้านชัก การถ่ายเลือดเพื่อรักษาโลหิตจางและเกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น   

ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการ HELLP 

กลุ่มอาการ HELLP อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อแม่และลูกทั้งก่อนและหลังคลอด เช่น ตับแตก ไตวาย ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน น้ำท่วมปอด ตกเลือดหลังคลอดอย่างรุนแรง ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย และชัก 

หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษา ผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยอัตราการเสียชีวิตของแม่จะอยู่ประมาณ 1% และอัตราการป่วยและเสียชีวิตของทารกจะอยู่ประมาณ 10–60% ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนบางประการได้     

การป้องกันกลุ่มอาการ HELLP 

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการ HELLP จึงยังไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง แต่อาจลดความเสี่ยงของกลุ่มอาการนี้ได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผักและผลไม้ และออกกำลังกายอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการ HELLP อย่างโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ ควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการตั้งครรภ์ หากพบสัญญาณของกลุ่มอาการนี้หรือความผิดปกติอื่นใด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว และผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์สามารถขอคำแนะนำและปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงของกลุ่มอาการนี้ได้ โดยเฉพาะหากเคยตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง หรือคนในครอบครัวมีประวัติของกลุ่มอาการ HELLP ภาวะครรภ์เป็นพิษ และปัญหาความดันโลหิต เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของแม่และทารกในอนาคต