ค่าตับสูงคืออะไร จัดการอย่างไรดี

ค่าตับสูง เป็นภาวะที่เลือดในร่างกายมีระดับเอนไซม์ตับสูงผิดปกติ โดยภาวะนี้อาจเป็นได้ทั้งกรณีที่ไม่รุนแรงที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หรืออาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด เช่น ภาวะตับอักเสบ (Hepatitis)

เอนไซม์ตับเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ถูกตับผลิตออกมา เพื่อเป็นส่วนสำคัญของระบบการทำงานต่าง ๆ เช่น การแข็งตัวของเลือด การย่อยอาหาร การกำจัดเชื้อโรคและสารพิษต่าง ๆ โดยเอนไซม์ตับมีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อยคือ ชนิด AST (Aspartate Transaminase) ชนิด ALP (Alkaline Phosphatase) ชนิด ALT (Alanine Transaminase) และชนิด GGT (Gamma–Glutamyl Transferase)

ิค่าตับสูงคืออะไร จัดการอย่างไรดี

ค่าตับสูงเกิดจากอะไร ค่าที่ปกติควรเป็นเท่าไร

ในการวัดค่าตับ แพทย์จะนำตัวอย่างเลือดของผู้ที่เข้ารับการตรวจไปตรวจหาระดับเอนไซม์ตับ โดยกลุ่มผู้ที่แพทย์มักแนะนำให้ตรวจคือผู้ที่มีความเป็นไปได้ว่าตับเกิดความเสียหาย หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคตับ

ตัวเลขระดับค่าตับที่ปกติจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาค่าตับจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุและเพศของบุคคลนั้น

โดยสาเหตุที่ค่าตับมีปริมาณสูงขึ้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยาบางชนิด
  • ภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome)
  • ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease)
  • ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
  • ภาวะตับอักเสบ 
  • โรคตับแข็ง (Cirrhosis)
  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
  • ภาวะหัวใจวาย (Heart Failure)
  • ภาวะเซลล์เม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis)
  • การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
  • โรคมะเร็งตับ

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างยังอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะค่าตับสูงมากกว่าปกติได้ เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน (Diabetes) หรือคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคตับ

ค่าตับสูง ป้องกันหรือควบคุมอย่างไรดี

สำหรับการป้องกันหรือควบคุมค่าตับสูง สามารถทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

  • คุมน้ำหนัก โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 
  • ผู้ที่ต้องรับประทานยาใด ๆ ก็ตาม ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ผู้ที่ต้องการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
  • ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแลอย่างเคร่งครัด และคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเลือดจากผู้อื่น
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ ทั้งชนิดไวรัสตับอักเสบ เอ และชนิดไวรัสตับอักเสบ บี 

ทั้งนี้ นอกจากการทำตามวิธีในข้างต้นแล้ว ผู้ที่มีค่าตับสูงควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตัวของตนเองร่วมด้วย เนื่องจากภาวะนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ข้อควรระวังหรือข้อควรปฏิบัติบางอย่างจึงอาจแตกต่างกันไปได้ในแต่ละบุคคล