ความเข้มข้นของเลือดคืออะไร บอกอะไรได้บ้าง

ปกติแล้วความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit: HCT) มักจะทราบได้จากการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count) โดยความเข้มข้นของเลือดจะวัดจากปริมาณความหนาแน่นของเซลล์เม็ดเลือดแดงทั้งหมดที่มีอยู่ในเลือด ซึ่งจะช่วยบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ภาวะขาดน้ำ ภาวะเลือดข้น ภาวะเลือดจาง  

เซลล์เม็ดเลือดแดงมีความสำคัญในการทำหน้าที่ลำเลียงแก๊สออกซิเจนไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การตรวจความเข้มข้นเลือดจึงอาจบอกได้ถึงความผิดปกติหรือความเสี่ยงในการเกิดโรคบางอย่าง เนื่องจากจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงในเลือดที่มีมากหรือน้อยเกินไป ซึ่งจะช่วยให้เข้ารับรักษาหรือป้องกันปัญหาสุขภาพได้ทันท่วงที

ความเข้มข้นของเลือดในผลตรวจสุขภาพบอกอะไรบ้าง

ความเข้มข้นของเลือดแบบไหนที่ปกติ

การจะบอกได้ว่าระดับความเข้มข้นของเลือดอยู่ในระดับที่ปกติหรือไม่ มักจะพิจารณาจากเพศและอายุร่วมด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีต่อระดับความเข้มข้นของเลือด โดยวัยผู้ใหญ่จะมีความเข้มข้นของเลือดอยู่ที่ประมาณ 38–50% ในเพศชาย และ 36–45% ในเพศหญิง ส่วนเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี จะมีความเข้มข้นของเลือดเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุตามค่าประมาณดังนี้ 

  • เด็กแรกเกิด 55–68%
  • เด็กอายุ 1 สัปดาห์ 47–65%
  • เด็กอายุ 1 เดือน 30–36% 
  • เด็กอายุ 1 ปี 29–41% 
  • เด็กอายุ 10 ปี 36–40%     

ความเข้มข้นของเลือดที่ผิดปกติเกิดจากอะไรบ้าง

ความเข้มข้นของเลือดที่ต่ำหรือสูงเกินไปอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพบางประการได้ เช่น

ความเข้มข้นของเลือดที่ต่ำกว่าปกติ
ความเข้มข้นของเลือดต่ำกว่าปกติเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำเมื่อเทียบกับปริมาณของเลือดทั้งหมด โดยอาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะโลหิตจาง

ภาวะโลหิตจางมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น การขาดวิตามินบางชนิด ภาวะขาดธาตุเหล็ก ภาวะขาดสารอาหาร เลือดออกในปริมาณมากอย่างการเสียเลือดจากการบาดเจ็บหรือเลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติ ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก โรคไต หรือโรคเกี่ยวกับไขกระดูกอย่างโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อย

ความเข้มข้นของเลือดที่สูงกว่าปกติ
ความเข้มข้นของเลือดที่สูงขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากการขาดน้ำในปริมาณมาก ซึ่งพบได้บ่อยในคนที่เสียน้ำมากและดื่มน้ำน้อย และคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง ภาวะไข้เลือดออกเดงกี่ที่พบปัญหาการรั่วของพลาสมาจนอาจนำไปสู่ภาวะไข้เลือดออกช็อก (Dengue Shock Syndrome) จนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต รวมถึงภาวะเลือดข้น

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ความเข้มข้นของเลือดสูงผิดปกติ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปอด เนื้องอกในไต การสูบบุหรี่เป็นประจำ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ โรคเกี่ยวกับเลือด หรือการใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน

วิธีเตรียมตัวและขั้นตอนการตรวจความเข้มข้นของเลือด

ผู้เข้ารับการตรวจควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับสภาวะทางสุขภาพ ประวัติการใช้ยา และประวัติสุขภาพ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ การได้รับเลือดหรือการเสียเลือด และปัญหาสุขภาพที่อาจส่งผลต่อความเข้มข้นของเลือด เช่น การมีเลือดออกมากหรือภาวะขาดน้ำ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาและการวินิจฉัยของของแพทย์ให้แม่นยำมากขึ้น

ขั้นตอนของการตรวจความเข้มข้นของเลือดนั้น เจ้าหน้าที่จะเจาะเลือดจากปลายนิ้วแล้วใส่ในหลอดแก้วขนาดเล็ก หรืออาจรัดสายรัดที่ช่วงต้นแขนของผู้เข้ารับการแล้วใช้ไซริงค์เจาะเส้นเลือดบริเวณข้อพับแขนหรือหลังมือ เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดไปทดสอบและวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการต่อไป 

ความเข้มข้นของเลือดที่สูงหรือต่ำเพียงเล็กน้อยอาจเกิดขึ้นได้ และไม่ได้หมายความว่ากำลังป่วยหรือมีความผิดปกติเสมอไป เพราะนอกจากเพศและวัยแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อความเข้มข้นของเลือด ในกรณีที่ผลความเข้มข้นของเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติอาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยสาเหตุที่แน่นอนจากแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม 

ดังนั้น หากพบความผิดปกติใด ๆ โดยเฉพาะอาการอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม มีเลือดประจำเดือนออกมาก หรืออาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ