6 วิตามินบำรุงเลือด ป้องกันโลหิตจาง

วิตามินบำรุงเลือดมีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในระบบไหลเวียนเลือด การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอจะทำให้ร่างกายได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุงเม็ดเลือดแดงให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคโลหิตจาง

เซลล์เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ในการขนส่งออกซิเจนจากปอดไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเซลล์เพื่อกำจัดออกจากร่างกาย หากร่างกายได้รับวิตามินบำรุงเลือดหรือแร่ธาตุไม่เพียงพอจะทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งจะได้รับจากการรับประทานอาหารเป็นหลัก และการรับประทานอาหารเสริมในกรณีที่ได้รับจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ

วิตามินบำรุงเลือด

วิตามินบำรุงเลือดที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง

แร่ธาตุและวิตามินบำรุงเลือดที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ และช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ตามปกติ มีดังนี้

1. ธาตุเหล็ก (Iron)

ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของการสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนในเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังปอดและเลี้ยงอวัยวะต่างในร่างกาย หากขาดธาตุเหล็กจะทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron-Deficiency Anemia) ซึ่งทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และเวียนศีรษะ 

ธาตุเหล็กพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ถั่ว และอาหารอื่น ๆ ที่ผ่านกระบวนการเติมธาตุเหล็ก เช่น ขนมปังและอาหารเช้าซีเรียล

2. กรดโฟลิค (Folic Acid)

กรดโฟลิคหรือวิตามินบี 9 เป็นวิตามินบำรุงเลือดที่สำคัญ ซึ่งช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง การขาดกรดโฟลิคอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางชนิด Megaloblastic Anemia ซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินบี 9 และบี 12 ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดง คือเม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่และยังมีอายุน้อยกว่าปกติ จำนวนเม็ดเลือดแดงจึงลดน้อยลง และเกิดภาวะโลหิตจาง

อาหารที่มีกรดโฟลิคสูง ได้แก่ อาหารทะเล ตับ ไข่ ถั่ว ธัญพืชขัดสีน้อย ผักใบเขียว เช่น เคล ปวยเล้ง บร็อคโคลี ะหล่ำดาว และหน่อไม้ฝรั่ง 

3. วิตามินบี 12

วิตามินบี 12 มีบทบาทในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้นใหม่ หากได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอจะทำให้การสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่สมบูรณ์หรือเกิดความผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลหิตจางชนิด Megaloblastic Anemia ได้เช่นกัน

วิตามินบำรุงเลือดอย่างวิตามินบี 12 พบได้ในอาหารหลากหลายชนิด เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ ปลา นม และไข่  ทั้งนี้ ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติหรือไม่รับประทานอาหารที่ทำจากสัตว์อาจต้องรับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามินบี 12 เพื่อทดแทนปริมาณวิตามินบี 12 ที่ได้รับไม่เพียงพอ

4. ทองแดง (Copper)

ทองแดงเป็นแร่ธาตุสำคัญที่กระตุ้นให้ร่างกายใช้ธาตุเหล็กเพื่อสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเม็ดเลือดแดง การขาดทองแดงจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เนื่องจากไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้ตามปกติ และอาจเกิดภาวะขาดธาตุเหล็กด้วย

ทองแดงพบมากในตับและเครื่องในสัตว์อื่น ๆ อาหารทะเล ผักใบเขียว ธัญพืชขัดสีน้อย ถั่ว เมล็ดพืช และช็อกโกแลต

5. วิตามินเอ

วิตามินเอช่วยให้ธาตุเหล็กถูกดูดซึมเข้าสู่ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ดีขึ้น จึงควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอควบคู่กับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ซึ่งวิตามินเอพบได้ทั้งในเนื้อสัตว์และผักผลไม้ เช่น เนื้อปลา นม ไข่ ตับ ผักใบเขียว ผักผลไม้ที่มีสีเหลือง ส้ม และแดง เช่น ฟักทอง แครอท มะละกอสุก 

6. วิตามินซี

วิตามินซีเป็นวิตามินบำรุงเลือดที่สำคัญเช่นเดียวกับวิตามินเอ เพราะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดงได้ดีขึ้น วิตามินซีพบมากในผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะเขือเทศ ส้ม และสตรอเบอร์รี่ ผักใบเขียว และบร็อคโคลี 

นอกจากแร่ธาตุและวิตามินบำรุงเลือดเหล่านี้ ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา เนื้อวัว อกไก่ นม ถั่ว เต้าหู้ และเมล็ดพืชต่าง ๆ เนื่องจากโปรตีนมีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์และเนื้อเยี่อทุกชนิดของร่างกาย รวมถึงฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง

โดยทั่วไป เราจะได้รับแร่ธาตุและวิตามินบำรุงเลือดจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะ หากไม่แน่ใจว่าได้รับสารอาหารต่าง ๆ เพียงพอหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้ออาหารเสริมมารับประทานเอง เพราะการรับประทานอาหารเสริมปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้วิตามินสะสมในร่างกายและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหากมีอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตัวซีด หายใจหอบถี่ และหัวใจเต้นเร็ว ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะโลหิตจางที่ควรได้รับการรักษา