ฟันปลอม ประเภทและวิธีการรักษา

ฟันปลอม เป็นฟันที่ใส่แทนฟันที่หายไปจากการถอนหรือหลุดร่วง โดยการใส่ฟันปลอมจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากการสูญเสียฟัน ทำให้รับประทานอาหารและพูดคุยได้อย่างสะดวก คอยพยุงแก้มและริมฝีปากไว้ไม่ให้หย่อนคล้อยลงไป ทั้งยังช่วยให้กลับมาพูดคุยและยิ้มได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

ฟันปลอม

ประเภทของฟันปลอม

ฟันปลอมมีให้เลือกใช้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่แตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละราย แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ

ฟันปลอมใส่ทั้งปาก

ใช้สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องถอนฟันบนหรือฟันล่างทั้งหมดออก มีทั้งชนิดติดชั่วคราวและถาวร โดยแพทย์จะเตรียมฟันปลอมแบบชั่วคราวไว้ให้ใส่ทันทีหลังจากที่ฟันถูกถอนออก แต่ระหว่างใส่อาจต้องมีการปรับฟันปลอมเป็นระยะ

เนื่องจากเหงือกและกระดูกจะเปลี่ยนรูปร่างได้ค่อนข้างรวดเร็วหลังจากการถอนฟันออกไปหลาย ๆ ซี่ หรือในบางครั้งแพทย์ก็จะรอให้เหงือกฟื้นตัวและเปลี่ยนรูปร่างก่อน ซึ่งใช้เวลา 2-3 เดือน จึงค่อยติดฟันปลอมชนิดถาวรให้ทีเดียว

ฟันปลอมชนิดใส่ทั้งปากนี้จะมีฐานที่ทำจากพลาสติกสีเหมือนเนื้อเยื่อเหงือกคอยรองรับชุดฟันปลอมที่อาจทำจากพลาสติกหรือเซรามิก เวลาใส่ฟันปลอมแบบใส่ทั้งปากแบบทั่วไปมักต้องใช้กาวติดฟันเข้ากับเหงือกของคนไข้ แต่ก็มีชนิดที่ยึดติดเข้ากับรากฟันเทียมที่ผ่าตัดใส่เข้าไปในกระดูกขากรรไกรของคนไข้ ซึ่งการติดฟันปลอมทั้งปากชนิดนี้มีราคาแพงกว่าชนิดใช้กาวมาก

ฟันปลอมบางส่วน

ใช้กับคนไข้ที่ยังมีฟันกรามบนหรือล่างหลงเหลืออยู่ตั้งแต่ 1 ซี่ขึ้นไป ซึ่งนอกจากฟันปลอมชนิดนี้จะใส่เพื่อเติมเต็มช่องว่างฟันที่หายไปแล้วก็ยังช่วยป้องกันการเปลี่ยนตำแหน่งของฟัน โดยคนไข้สามารถใส่และถอดฟันปลอมออกมาเองได้ง่าย ๆ ด้วยการปลดตะขอโลหะที่ช่วยยึดฟันปลอมไว้กับฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่

ทั้งนี้ตะขอที่ใช้ยึดยังมีชนิดที่ทำจากวัสดุสีเหมือนฟันและเหงือก ซึ่งจะช่วยให้กลมกลืนกับช่องปากยิ่งขึ้น แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เปราะบางและแตกหักได้ง่ายกว่าตะขอโลหะ

ฟันปลอมแบบบางส่วนโดยทั่วไปมักมีฐานที่ทำจากโลหะเพื่อความคงทนและแข็งแรง ประกอบกับซี่ฟันปลอมตามตำแหน่งฟันที่หายไปของคนไข้ แต่ก็มีฟันปลอมบางส่วนที่ทำจากพลาสติกเช่นกัน ซึ่งมักนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือใส่ทดแทนฟันที่หลุดไปเพียงชั่วคราว เพื่อให้เหงือกและกระดูกฟื้นตัวและคงรูปร่างแน่นอนเสียก่อน

นอกจากฟันปลอมบางส่วนชนิดโลหะและพลาสติกนี้แล้ว ในปัจจุบันยังมีฟันปลอมที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ ให้เลือกใช้ตามกรณีที่เหมาะสม เช่น พลาสติกชนิดยืดหยุ่น เป็นต้น

ขั้นตอนการทำฟันปลอมเป็นอย่างไร ?

หลังจากฟันถูกถอนหรือหลุดร่วงออกไป เบ้าฟันที่ว่างเปล่าจะถูกเติมเต็มด้วยกระดูกรองรับฟัน รวมถึงเนื้อเยื่อเหงือกบริเวณฟันซี่นั้นที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนรูปร่างหรือยุบตัวลง ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 8-12 สัปดาห์ เมื่อเหงือกและกระดูกฟันอยู่ในสภาวะคงที่แล้วจึงตามมาด้วยขั้นตอนการทำฟันปลอมชนิดถาวร

กระบวนการทำฟันปลอมเริ่มจากการพิมพ์หรือหล่อเนื้อเยื่อช่องปากที่คอยรองรับฟัน โดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำฟันปลอมต้องใช้แบบพิมพ์ฟันเหล่านี้ในการสร้างแบบจำลองปากของคนไข้ จากนั้นจะค่อย ๆ สร้างฟันปลอมขึ้นมาบนแบบจำลองดังกล่าว แล้วทดลองนำมาใส่ในช่องปากของคนไข้เพื่อให้แน่ใจว่าพอดี มีการสบฟันที่ถูกต้อง และลักษณะรูปร่างของฟันปลอมมีความสวยงามดี

ระหว่างการทำฟันปลอมนี้ คนไข้จะต้องไปพบทันตแพทย์เป็นระยะ ๆ ประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อาจนานประมาณ 4-5 สัปดาห์ขึ้นกับชนิดของฟันปลอม จนกว่าการทำฟันปลอมจะเสร็จสมบูรณ์ และเมื่อใส่ฟันปลอมเรียบร้อยแล้วก็อาจต้องกลับไปพบทันตแพทย์อีกในช่วงเดือนแรก เพื่อปรับหรือตกแต่งฟันปลอมเพิ่มเติมให้พอดีกับช่องปากยิ่งขึ้น

สำหรับฟันปลอมแบบใส่ชั่วคราวนั้นมักทำขึ้นเตรียมไว้ให้คนไข้ใส่ทันทีหลังจากที่ถอนฟัน หรือบางครั้งการถอนฟันอาจถอนเพียงฟันซี่ด้านในก่อน และคงฟันหน้าไว้จนกว่าฟันปลอมจะเสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ฟันปลอมแบบใส่ชั่วคราวมักไม่พอดีกับกระดูกและเนื้อเยื่อเหงือกเหมือนฟันปลอมแบบถาวร ระหว่างใส่จึงต้องมีการปรับแต่งฟันบ่อยครั้งกว่า และใส่ไปจนกระทั่งเหงือกและกระดูกฟันฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์พร้อมสำหรับการเปลี่ยนไปใส่ฟันปลอมแบบถาวรได้แล้ว

เกิดอะไรขึ้นหลังจากใส่ฟันปลอม ?

เรื่องที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับการใส่ฟันปลอม

ความรู้สึกหลังใส่ฟันปลอม

คนไข้อาจยังรู้สึกไม่ค่อยคุ้นเคยกับการใส่ฟันปลอมในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก เมื่อผ่านไปสักพักกล้ามเนื้อบริเวณแก้มและลิ้นจะค่อย ๆ คุ้นชินกับการใส่ฟันปลอม ทำให้ใส่หรือถอดฟันปลอมได้อย่างสบายและง่ายดายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดการระคายเคืองหรือเจ็บขึ้นได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติ รวมถึงอาจมีน้ำลายไหลออกมามากในช่วงแรก ๆ แต่อาการเหล่านี้จะลดน้อยลงไปเองเมื่อปากเพิ่มคุ้นชินกับการใส่ฟันปลอมแล้ว

ฟันปลอมจะทำให้ดูแปลกไปหรือไม่ ?

ฟันปลอมนั้นถูกทำขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับสีฟันตามธรรมชาติของตัวคนไข้มากที่สุดจนทำให้คนรอบข้างอาจไม่ทันสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงใด ๆ และยังช่วยให้ยิ้มได้อย่างสวยงามและมั่นใจยิ่งขึ้น

การรับประทานอาหารขณะใส่ฟันปลอม

การรับประทานอาหารในช่วงเริ่มใส่ฟันปลอมเป็นครั้งแรกนั้นอาจต้องฝึกเคี้ยวให้ชินเสียก่อน คนไข้ที่ใส่ฟันปลอมบางรายอาจยังรับประทานได้ไม่ค่อยสะดวกใน 2-3 สัปดาห์แรก จึงควรเริ่มจากการรับประทานอาหารชนิดอ่อน ตัดเป็นคำเล็ก ๆ และเคี้ยวช้า ๆ โดยใช้ฟันทั้ง2 ข้างเท่า ๆ กัน

เมื่อเริ่มเคยชินกับการใส่ฟันปลอมแล้วจึงค่อย ๆ เปลี่ยนไปรับประทานอาหารชนิดอื่น จนสามารถกลับไปรับประทานได้อย่างเป็นปกติในที่สุด ทั้งนี้ควรระวังในการรับประทานอาหารร้อนและอาหารแข็ง หลีกเลี่ยงอาหารที่เหนียวหรือแข็งเกินไป รวมถึงการเคี้ยวหมากฝรั่งและการใช้ไม้จิ้มฟันขณะใส่ฟันปลอม

ผลกระทบของฟันปลอมต่อการพูด

การใส่ฟันปลอมอาจทำให้การออกเสียงบางคำทำได้ยากขึ้น ผู้ที่พบปัญหานี้ควรฝึกพูดคำที่พูดไม่ชัดออกมาดัง ๆ บ่อยครั้ง เพื่อช่วยให้คุ้นชินและพูดคำนั้นได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น และหากฟันปลอมเกิดเสียงดังกริ๊กขณะกำลังพูดให้ไปพบแพทย์ที่ให้การรักษา

เนื่องจากฟันปลอมอาจเลื่อนหลุดขณะหัวเราะ ไอ หรือยิ้มได้ ทั้งนี้ตำแหน่งของฟันปลอมที่หลุดเลื่อนอาจทำให้เข้าที่ด้วยการกัดเบา ๆ และกลืนน้ำลาย แต่ถ้ายังมีปัญหาเกี่ยวกับการพูดอยู่ก็ควรปรึกษากับทันตแพทย์ผู้ทำฟันปลอม

จำเป็นต้องใส่ฟันปลอมตลอดเวลาหรือไม่ ?

ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเวลาในการใส่และถอดฟันปลอม โดยในช่วงหลายวันแรกหลังจากใส่ฟันปลอมอาจให้คนไข้ใส่ไว้ตลอดเวลารวมทั้งขณะนอนหลับ การใส่ฟันปลอมตลอดเวลาอาจทำให้รู้สึกไม่สบายปาก

แต่ก็เป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการดูว่ามีบริเวณใดที่ต้องปรับแต่งเพิ่มเติมหรือไม่ และเมื่อฟันปลอมถูกปรับแต่งเพิ่มเติมดีแล้วจึงควรถอดฟันปลอมออกก่อนนอน เพื่อช่วยให้เหงือกได้พัก อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการเกิดเชื้อราในช่องปากด้วย

ฟันปลอมมีอายุยาวนานเท่าไหร่ ?

ฟันปลอมที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจะสามารถใช้งานได้นานหลายปี แต่ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนเมื่อรูปปากมีการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากเหงือกหรือกระดูกฟันหดตัวลง เพราะการฝืนใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดีอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ใส่แล้วไม่สบายปาก เจ็บปาก มีกลิ่นปาก หรือเกิดการติดเชื้อได้

การใช้กาวติดฟันปลอม

เมื่อใส่ฟันปลอมจนเกิดความคุ้นชินแล้วหรือในกรณีที่เหงือกเกิดหดตัวลง คนไข้อาจต้องใช้กาวติดฟันปลอมช่วยยึด โดยกาวนี้จะช่วยติดยึดฟันปลอมกับเหงือกไว้อย่างมั่นคง เพิ่มแรงกัดและรู้สึกอุ่นใจว่าฟันปลอมจะไม่หลุด

นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์กับผู้ใส่ฟันปลอมที่มีอาการปากแห้งที่อาจเกิดจากการรับประทานยาแก้หวัด ผู้ที่มีความบกพร่องทางระบบประสาทอย่างอัมพฤกษ์ หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งอาจส่งผลให้ฟันปลอมยึดเกาะได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าฟันปลอมติดแน่นดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องใช้กาวช่วยอีก

การดูแลรักษาฟันปลอม

ไม่ว่าฟันปลอมแบบทั้งปากหรือฟันปลอมบางส่วนก็ควรต้องมีการดูแลรักษาให้สะอาด ปราศจากคราบเปรอะเปื้อนและดูดีอยู่เสมอ โดยวิธีการดูแลที่เหมาะสมทำได้ดังนี้

  • ถอดฟันปลอมออกล้างหลังจากรับประทานอาหาร ใช้น้ำชะล้างฟันปลอมเพื่อขจัดคราบอาหารที่ติดอยู่ออก และระหว่างนี้ควรระวังไม่ให้ฟันปลอมหลุดมือหรือตกจนแตกเสียหายได้
  • จับฟันปลอมอย่างระมัดระวังและเบามือ ป้องกันไม่ให้พลาสติกหรือตะขอของฟันปลอมโค้งงอหรือเสียหายขณะถอดออกมาล้างทำความสะอาด
  • ทำความสะอาดช่องปากหลังจากถอดฟันปลอมออกมาแล้ว โดยใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มทำความสะอาดฟันธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ และควรใช้ผ้าก๊อซหรือแปรงขนนุ่มทำความสะอาดลิ้น กระพุ้งแก้ม และเพดานปากด้วย
  • แปรงทำความสะอาดฟันปลอมอย่างน้อยวันละครั้ง ทำความสะอาดฟันปลอมอย่างอ่อนโยนด้วยการจุ่มหรือแปรงด้วยน้ำยาหรือเม็ดฟู่สำหรับทำความสะอาดฟันปลอมที่ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน เพื่อช่วยขจัดเศษและคราบอาหาร รวมถึงกาวติดฟันปลอมที่อาจเหลือติดค้างอยู่ตามร่องฟันปลอม ทั้งนี้ระวังอย่าใช้น้ำยาทำความสะอาดฟันปลอมในช่องปาก ให้ถอดฟันปลอมออกมาทำความสะอาดนอกปากเท่านั้น
  • แช่ฟันปลอมค้างคืน ฟันปลอมหลาย ๆ ชนิดจำเป็นต้องเก็บในที่ที่มีความชื้นเพื่อคงรูปร่างของฟันปลอมไว้ จึงควรแช่ฟันปลอมไว้ในน้ำเปล่าหรือน้ำยาแช่ฟันปลอมชนิดอ่อน ๆ ข้ามคืน อย่างไรก็ตามผู้ที่ใส่ฟันปลอมควรพูดคุยสอบถามทันตแพทย์ถึงวิธีการเก็บรักษาหรือแช่ฟันปลอมที่เหมาะสม และทำความสะอาดและแช่ฟันตามคำแนะนำของผู้ผลิตหรือแพทย์ที่ติดฟันปลอมให้จะดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์กัดกร่อน และยาสีฟันที่ช่วยให้ฟันขาวหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารฟอกสีฟัน เพราะอาจทำให้ฟันปลอมเสียหายและมีสีหมองคล้ำลง รวมถึงการใช้น้ำร้อนที่จะส่งผลให้ฟันปลอมเกิดการบิดงอได้
  • ล้างฟันปลอมก่อนใส่กลับเข้าไปในปาก โดยเฉพาะหากฟันปลอมนั้นถูกแช่ในสารละลายสำหรับแช่ฟันปลอม เนื่องจากสารละลายที่ใช้แช่นี้อาจมีส่วนผสมของสารเคมีอันตรายและอาจมีผลข้างเคียงให้อยากอาเจียน มีอาการเจ็บหรือแสบร้อนเมื่อกลืนลงไปได้
  • ไปพบทันตแพทย์หากรู้สึกว่าฟันปลอมไม่พอดีหรือเริ่มหลวม เนื่องจากฟันปลอมที่หลวมนั้นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บปวด ระคายเคือง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมา
  • ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันอย่างสม่ำเสมอ คนไข้จะได้รับคำแนะนำว่าควรมาพบเพื่อตรวจและทำความสะอาดช่องปากบ่อยเพียงใด เพื่อให้มั่นใจว่าฟันปลอมพอดีกับช่องปาก ป้องกันไม่ให้ฟันปลอมหลุดออกหรือเกิดความระคายเคือง และรักษาสุขภาพภายในช่องปากและฟันให้ดีอยู่เสมอ