ฟันโยก อันตรายไหม รับมือยังไงดี ?

ฟันโยก คือ อาการฟันคลอนเหมือนใกล้หลุดออก ซึ่งเป็นอาการปกติในวัยเด็ก แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคเหงือกและฟันหากปัญหานี้เกิดกับผู้ใหญ่ที่มีฟันแท้ครบ 32 ซี่แล้ว ดังนั้น หากพบว่ามีฟันโยกแม้เข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว หรือมีฟันโยกร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาให้ทันท่วงที

ฟันโยก

ฟันโยก เป็นอย่างไร ?

ฟันโยกเกิดจากฟันค่อย ๆ หลุดออกจากเหงือกทีละน้อยจนโยกคลอนได้ ซึ่งฟันโยกอาจหลุดออกได้จากการกิน การเคี้ยวอาหาร หรือแม้แต่การสัมผัสโดนเพียงเบา ๆ โดยอาจสังเกตฟันโยกได้ด้วยตนเองจากการแปรงฟัน ขัดฟัน หรือทันตแพทย์อาจตรวจพบฟันโยกเมื่อไปพบแพทย์ตามนัดหมาย

ส่วนอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับฟันโยก ซึ่งอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพเหงือกและฟัน ได้แก่

  • มีเลือดออกตามไรฟัน
  • เหงือกบวมหรือมีสีแดงสด
  • เหงือกร่น

ฟันโยก เกิดจากอะไร ?

  • พัฒนาการตามวัย อาการฟันโยกมักเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามวัยที่ฟันน้ำนมจะเริ่มโยกและหลุดออก เพื่อเปิดช่องว่างให้ฟันแท้ได้งอกขึ้นมา
  • การกัดฟัน เมื่อฟันรับแรงกดจากการกัดฟัน อาจทำให้เกิดฟันโยกและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น ปวดตามใบหน้า หรือปวดศีรษะ เป็นต้น
  • โรคเหงือก ฟันโยกอาจเป็นอาการของโรคเหงือกในระยะที่รุนแรงขึ้น ซึ่งโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เหงือก รวมไปถึงเนื้อเยื่อและกระดูกในบริเวณใกล้เคียง
  • อุบัติเหตุ หากหกล้ม หรือประสบอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่กระทบกระเทือนบริเวณปากหรือใบหน้า ก็อาจทำให้เกิดฟันโยกได้เช่นกัน

ฟันโยก ทำอย่างไร ?

หากฟันโยกเป็นพัฒนาการตามวัยของเด็ก และไม่มีอาการแทรกซ้อนใด ๆ ควรปล่อยให้ฟันหลุดออกตามธรรมชาติ เพราะการถอนฟันออกเร็วเกินไปอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดและยังเสี่ยงทำให้เหงือกติดเชื้อได้ด้วย

แต่หากฟันโยกเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป โดยมีตัวอย่างวิธีการรักษา ดังต่อไปนี้

ฟันโยกจากการกัดฟัน

  • ตัดแต่งผิวเคลือบฟัน เพื่อลดแรงกดที่เกิดจากการกัดฟันจนทำให้ฟันโยก
  • ใส่ฟันยาง เพื่อลดแรงกดและการกระทบกันของฟันจนเกิดฟันโยก แพทย์อาจแนะนำให้ใส่ฟันยางครอบฟันไว้ในขณะนอนหลับ

ฟันโยกจากโรคเหงือก

  • รับประทานยา แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจให้ผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟนเพื่อระงับอาการปวดที่เกิดขึ้น
  • ขูดหินปูน เพื่อขจัดคราบแบคทีเรียและสิ่งสกปรกที่ก่อตัวเป็นคราบอยู่ตามฟันและซอกฟัน
  • เกลารากฟัน เป็นการทำความสะอาดลึกลงไปบริเวณรากฟันที่อยู่ในเหงือก โดยแพทย์อาจต้องใช้ยาชาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะรักษา
  • ใส่เฝือกฟัน หากฟันที่โยกไม่ได้ใกล้หลุดออกมา แพทย์อาจใส่เฝือกฟันยึดกับฟันซี่ข้าง ๆ เพื่อช่วยไม่ให้ฟันที่โยกนั้นหลุดออก
  • ฝังรากฟันเทียมและใช้สะพานฟัน หากมีอาการฟันโยกรุนแรง แพทย์อาจถอนฟันซี่นั้นออกแล้วรักษาด้วยการฝังรากฟันเทียม หรือให้ผู้ป่วยใช้สะพานฟันซึ่งเป็นฟันปลอมที่วางแทนที่ฟันซี่ที่หลุดออกและยึดฟันซี่ข้าง ๆ ไว้

ฟันโยก ป้องกันได้หรือไม่ อย่างไร ?

แม้การเกิดฟันโยกในวัยเด็กเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจป้องกันฟันโยกจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ ตามแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ใส่ฟันยางครอบฟันไว้ โดยเฉพาะขณะนอนหลับและเล่นกีฬาที่เสี่ยงเกิดการปะทะกัน
  • แปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธี โดยควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และอาจปรึกษาแพทย์เพื่อให้แนะนำวิธีการแปรงฟันที่ถูกต้องและถนอมเหงือกไม่ให้เกิดความเสียหาย
  • ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดเศษสกปรกที่ตกค้างตามซอกฟัน
  • เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่มถนอมเหงือกและฟัน และควรเปลี่ยนแปรงใหม่ทุก ๆ 3 เดือน
  • ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ในปริมาณที่เหมาะสม และมีส่วนผสมสารธรรมชาติอื่น ๆ ที่ช่วยป้องกันฟันผุ
  • บ้วนปากด้วยน้ำยาที่มีสารยับยั้งแบคทีเรีย หรือใช้น้ำยาบ้วนปากที่ทันตแพทย์แนะนำ
  • ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง