รีเทนเนอร์ วิธีใช้และการทำความสะอาดอย่างถูกต้อง

รีเทนเนอร์ คือ เครื่องมือสำหรับคงสภาพฟันหลังจากถอดอุปกรณ์จัดฟันออก การสวมรีเทนเนอร์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันฟันเคลื่อนตัวกลับไปตำแหน่งเดิมหรือผิดรูปไปจากเดิม และในบางกรณีอาจใช้ช่วยจัดตำแหน่งฟัน เพื่อแก้ปัญหาฟันห่างหรือรักษาอาการผิดปกติทางช่องปากบางชนิดได้ด้วย

1497 รีเทนเนอร์ Resized

ทำไมต้องสวมรีเทนเนอร์ ?

อุปกรณ์รีเทนเนอร์ 1 ชุด มี 2 ชิ้น คือ ครอบฟันบนและครอบฟันล่าง วัสดุที่ใช้มักทำมาจากโลหะและพลาสติก มีขนาดแตกต่างกันไปตามลักษณะกรามและฟันของแต่ละคน แพทย์จะให้ผู้ที่เพิ่งถอดเครื่องมือจัดฟันสวมรีเทนเนอร์เพื่อประคองฟันและป้องกันฟันเคลื่อนไปจากตำแหน่งที่จัดไว้ โดยในระยะแรกมักต้องสวมตลอดทั้งวัน ถอดออกแค่ตอนรับประทานอาหารและแปรงฟันเท่านั้น

เมื่อฟันเริ่มเข้าที่แล้ว แพทย์อาจแนะนำให้สวมรีเทนเนอร์เฉพาะเวลานอนเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาในการสวมจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก ทั้งนี้ หากไม่ใส่รีเทนเนอร์อย่างต่อเนื่องหรือหยุดใส่รีเทนเนอร์เพราะคิดว่าฟันเข้าที่แล้ว อาจทำให้ฟันค่อย ๆ เคลื่อนตัวผิดรูปไปจากเดิม นำมาซึ่งปัญหาฟันห่างหรือฟันล้ม และอาจจำเป็นต้องจัดฟันใหม่อีกครั้ง

นอกจากใช้เป็นเครื่องมือคงสภาพฟัน รีเทนเนอร์อาจช่วยจัดตำแหน่งของฟันให้เรียงตัวสวย และรักษาอาการผิดปกติทางช่องปากบางชนิดได้เช่นกัน ดังนี้

  • ฟันห่าง ผู้ที่มีช่องว่างระหว่างฟันเพียงเล็กน้อยอาจสวมรีเทนเนอร์เพื่อช่วยให้ฟันเคลื่อนมาชิดกันมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้การจัดฟัน
  • ภาวะลิ้นยื่นเข้าและออกช่องปากตลอดเวลา รักษาได้โดยการสวมรีเทนเนอร์ที่ออกแบบมาเพื่อบังคับให้ลิ้นแตะเพดานปากและไม่ลอดออกมาอยู่ระหว่างฟันขณะพูด
  • ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร ปัญหานี้ส่งผลให้ฟันสบกันไม่พอดี เคี้ยวอาหารได้ลำบาก และอาจมีภาวะนอนกัดฟันตามมา ซึ่งผู้ป่วยที่รู้สึกปวดขากรรไกรหรือปวดศีรษะจากการนอนกัดฟัน อาจสวมรีเทนเนอร์เพื่อป้องกันฟันสบกันระหว่างนอนหลับได้

ประเภทของรีเทนเนอร์

ในปัจจุบัน มีรีเทนเนอร์หลายรูปแบบให้ผู้จัดฟันเลือกใช้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และความพึงพอใจของผู้จัดฟันเป็นหลัก ดังนี้

  • รีเทนเนอร์แบบลวดเส้นเดียว ทำมาจากแผ่นอะคริลิกขนาดพอดีกับเพดานปาก ซึ่งเชื่อมกับโลหะที่มีลักษณะเป็นวงสำหรับครอบซี่ฟันไว้ เพื่อยึดรีเทนเนอร์ไม่ให้หลุดออกจากตำแหน่ง โดยควรถอดออกก่อนรับประทานอาหารและนำมาทำความสะอาดเป็นประจำ
  • รีเทนเนอร์แบบใส ทำมาจากพลาสติกใส มีลักษณะคล้ายแผงฟันบนและล่าง สามารถถอดออกเพื่อทำความสะอาดได้เช่นเดียวกับรีเทนเนอร์แบบลวดเส้นเดียว แต่แตกหักได้ง่ายกว่า เนื่องจากเป็นพลาสติก
  • รีเทนเนอร์ชนิดถาวร แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงฟันล้มติดรีเทนเนอร์ชนิดนี้ไว้บริเวณแผงฟันล่างด้านหน้า โดยอาจจำเป็นต้องติดไว้เป็นเวลา 2-3 เดือน หรือนานหลายปี

วิธีทำความสะอาดรีเทนเนอร์

สิ่งสกปรก เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราในช่องปาก จะสะสมอยู่บนรีเทนเทอร์หากละเลยการทำความสะอาด ซึ่งอาจส่งผลให้รีเทนเนอร์เปลี่ยนสีและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากตามมาได้ การหมั่นล้างทำความสะอาดด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมกับรีเทนเนอร์แต่ละประเภทจึงนับเป็นสิ่งสำคัญ

โดยรีเทนเนอร์แบบลวดเส้นเดียวและรีเทนเนอร์แบบใสที่สามารถถอดออกได้เหมือนกันนั้น มีวิธีทำความสะอาด ดังนี้

  • หลังถอดออกมา ให้ล้างคราบสกปรกที่รีเทนเนอร์ทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ทำความสะอาดได้ยากยิ่งขึ้น
  • ใช้แปรงสีฟันชนิดขนนุ่มกับน้ำอุ่นที่ผสมยาสีฟันหรือน้ำยาล้างจานในปริมาณเล็กน้อยแปรงทำความสะอาดรีเทนเนอร์เบา ๆ หลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • ใช้ก้านสำลีขนาดเล็กเช็ดบริเวณร่องในรีเทนเนอร์ซึ่งเป็นจุดที่ยากต่อการทำความสะอาดด้วยแปรงสีฟัน
  • ปรึกษาทันตแพทย์ก่อนแช่รีเทนเนอร์กับน้ำยาบ้วนปากหรือน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ
  • ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้สารละลายพิเศษสำหรับทำความสะอาดรีเทนเนอร์โดยเฉพาะ เพื่อกำจัดคราบฝังแน่นที่ทำความสะอาดได้ยาก

ส่วนรีเทนเนอร์ชนิดถาวรเป็นอุปกรณ์ที่ยึดติดอยู่กับฟันตลอดเวลา ไม่สามารถถอดออกมาได้ จึงควรหมั่นใช้ไหมขัดฟันกำจัดสิ่งสกปรก ซึ่งปฏิบัติได้ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ร้อยไหมขัดฟันเข้าไประหว่างรีเทนเนอร์และฟันล่าง โดยอาจใช้เข็มร้อยไหมขัดฟันเพื่อช่วยให้ร้อยได้ง่ายขึ้น
  • จับไหมขัดฟันแต่ละข้างแล้วดึงไหมขัดฟันขึ้นและลงระหว่างซี่ฟันเพื่อกำจัดสิ่งสกปรก โดยดึงให้ไหมขัดฟันลงลึกไปถึงบริเวณขอบเหงือกด้วย
  • ผู้ที่มีปัญหาในการใช้ไหมขัดฟันควรปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ หลังใช้รีเทนเนอร์แล้วพบว่าเหงือกหรือเนื้อเยื่อภายในช่องปากบวมแดงหรือพบอาการผิดปกติใด ๆ ภายในช่องปาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ข้อแนะนำในการใช้รีเทนเนอร์

ผู้ใช้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยใด ๆ ก็ตามที่อาจส่งผลให้รีเทนเนอร์เสียหาย และปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อคงอายุการใช้งานของรีเทนเนอร์ให้นานที่สุด

  • เก็บรีเทนเนอร์ในที่มิดชิดและห่างจากบริเวณที่เสี่ยงสัมผัสกับความร้อน เช่น ไมโครเวฟ เครื่องเป่าผม เตาแก๊ส เป็นต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดรีเทนเนอร์โดยใช้น้ำร้อนด้วย
  • แช่รีเทนเนอร์แบบใสในน้ำสะอาดทุกครั้งหลังถอดออก เพราะหากปล่อยไว้ให้แห้งอาจทำให้รีเทนเนอร์แตกหักได้ง่ายกว่าปกติ
  • หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดรีเทนเนอร์ด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารเคมี เช่น น้ำยาบ้วนปาก น้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม เป็นต้น หากจำเป็นต้องแช่รีเทนเนอร์ลงในน้ำยาดังกล่าว ให้ผสมกับน้ำอุ่นก่อน เพื่อเจือจางความเข้มข้น และไม่ควรแช่ไว้นานจนเกินไป
  • ทำความสะอาดกล่องใส่รีเทนเนอร์ด้วยน้ำอุ่นที่ผสมน้ำสบู่ จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าและเช็ดให้แห้ง
  • หากรีเทนเนอร์แตกหัก ผิดรูปร่าง หรือมีคราบสกปรกที่ล้างไม่ออก ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อเปลี่ยนอันใหม่ รวมทั้งควรเปลี่ยนรีเทนเนอร์ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ โดยรีเทนเนอร์แบบลวดเส้นเดียวมักมีอายุการใช้งานประมาน 5-10 ปี ส่วนรีเทนเนอร์แบบใสจะมีอายุการใช้งานเพียงประมาณ 6 เดือนถึง 2-3 ปี เท่านั้น