อัมพฤกษ์คืออะไร ต่างจากอัมพาตตรงไหน

อัมพฤกษ์มักมาพร้อมกับคำว่าอัมพาต ทำให้เกิดความสับสนถึงความหมายที่แท้จริง แต่ละคนอาจมีความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของอัมพฤกษ์อัมพาตแตกต่างกัน คนส่วนมากมักเข้าใจว่าอัมพฤกษ์คือ อาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายซีกใดซีกหนึ่งได้ บ้างก็เรียกว่าอัมพาตครึ่งซีก ในขณะที่อัมพาตคือ อาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เลย 

ในความเป็นจริงแล้ว คำว่าอัมพฤกษ์และอัมพาตไม่ใช่คำศัพท์ทางการแพทย์ เป็นคำที่คนทั่วไปมักเรียกอาการที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้สมบูรณ์หรือสื่อถึงอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งถือเป็นอาการร้ายแรงที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้และวิธีสังเกตอาการอัมพฤกษ์มาให้ได้อ่านกัน

อัมพฤกษ์คืออะไร ต่างจากอัมพาตตรงไหน

ทำความเข้าใจอัมพฤกษ์ให้มากขึ้น

อัมพฤกษ์และอัมพาตเป็นการสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก (Stroke) ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่เกิดจากสมองขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงจนทำให้สมองเสียหาย

เมื่อสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเสียหายก็อาจทำให้ร่างกายขยับไม่ได้หรือขยับได้น้อยลง บางครั้งการบาดจากบริเวณศีรษะอย่างรุนแรงหรือโรคบางโรคก็อาจทำให้สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อได้เช่นกัน

โดยความรุนแรงของการสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อจะแตกต่างกันไปตามความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมอง เช่น 

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paresis) บางคนเรียกอาการนี้ว่าอัมพฤกษ์ กล้ามเนื้ออ่อนแรงส่งผลให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวและควบคุมกล้ามเนื้อได้น้อยลง แต่ยังรู้สึกและสามารถขยับอวัยวะนั้นได้แต่ไม่สมบูรณ์ 
  • อัมพาต (Paralysis/ Plegia) เป็นการสูญเสียการควบคุมอวัยวะโดยสมบูรณ์ ผู้ป่วยจะไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือแม้แต่รู้สึกอวัยวะนั้น ๆ ได้เลย

โดยทั้งอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและอัมพาตอาจแบ่งตามตำแหน่งการเกิดได้ เช่น

  • เกิดกับแขนข้างเดียวหรือขาข้างเดียว (Monoparesis/ Monoplegia)
  • เกิดกับอวัยวะส่วนล่างหรือส่วนบนทั้งหมด (Paraparesis/ Paraplegia)
  • เกิดกับร่างกายซีกขวาหรือซีกซ้ายเพียงซีกเดียว (Hemiparesis/ Hemiplegia)
  • เกิดกับแขนและขาทั้งสองข้าง (Quadriparesis/ Quadriplegia)

สัญญาณของอัมพฤกษ์

อัมพฤกษ์หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดจากการสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักปรากฏขึ้นแบบฉับพลันและรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเห็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองและอาการสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

ปัจจุบันมีวิธีที่ช่วยให้จดจำและสังเกตสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองได้ง่ายขึ้นนั่นก็คือ F.A.S.T. ซึ่งแต่ละตัวอักษรมีความหมายดังนี้

  • F ย่อมาจาก Face หรือใบหน้า ผู้ป่วยอาจมีอาการปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว และยิ้มไม่ได้
  • A ย่อมาจาก Arm หรือแขน ผู้ป่วยไม่สามารถยกแขนได้ หรือแขนดูห้อยกว่าปกติ
  • S ย่อมาจาก Speech หรือการพูด ผู้ป่วยไม่สามารถพูดได้เป็นคำ ไม่สามารถพูดประโยคยาวหรือซับซ้อน และอาจพูดช้า พูดไม่รู้เรื่อง หรือส่งเสียงแปลก ๆ ออกมาแทน
  • T ย่อมาจาก Time หรือเวลา ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนจะรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด หากไม่ทันเวลาผู้ป่วยอาจสูญเสียการควบคุมร่างกายทั้งหมด บางรายอาจเสียชีวิตได้

ระหว่างนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ควรทดสอบด้วยการขอให้ผู้ป่วยยิ้ม พูด หรือยกแขนเพื่อยืนยันอาการ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอาจพบอาการฉับพลันอื่น ๆ เช่น รู้สึกชาตามร่างกายหรือไม่มีแรง บริเวณใบหน้า แขน ขา หรือร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง การมองเห็นมีปัญหา รู้สึกสับสน เวียนศีรษะ ล้ม สูญเสียการทรงตัว เดินไม่ได้ และปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากมีผู้ป่วยมีอาการในลักษณะดังกล่าว ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

อัมพฤกษ์รักษาให้หายได้ไหม

อัมพฤกษ์ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติเท่าเดิม แต่มีโอกาสฟื้นตัวใกล้เคียงเดิม แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยอัมพฤกษ์เข้ารับการบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวและช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยอัมพฤกษ์บางรายเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์ เนื่องจากปัญหาสุขภาพดังกล่าวมักส่งผลต่อสภาพจิตใจ และอาจนำไปสู่ปัญหาด้านอารมณ์ได้

สำหรับครอบครัวและคนใกล้ชิด แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลและการบริหารร่างกายให้ผู้ป่วยเมื่อกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อาจต้องการอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างในการเคลื่อนไหว เช่น ไม้เท้า รถเข็น ทางลาด และอุปกรณ์อื่นที่ช่วยให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ

ปัจจุบันไม่มีวิธีป้องกันอาการอัมพฤกษ์และโรคหลอดเลือดสมอง แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ เช่น การใช้ยาตามแพทย์สั่งในผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงอาหารหวานและมัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เลิกบุหรี่ และงดแอลกอฮอล์