Hyperthermia ภาวะอันตรายจากความร้อน

Hyperthermia หรือภาวะตัวร้อนเกิน เป็นภาวะที่อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าระดับปกติเนื่องจากกลไกในการปรับอุณหภูมิร่างกายล้มเหลว ทำให้ความร้อนสะสมภายในร่างกายจนเกิดความผิดปกติขึ้น ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัด

หนึ่งในภาวะ Hyperthermia ที่หลายคนรู้จักกันดีคือ โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heatstroke) นั่นเอง ภาวะตัวร้อนเกินมีด้วยกันหลายระยะ แต่ละระยะจะมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกัน หากเริ่มเห็นสัญญาณของ Hyperthermia ก็ควรหาวิธีเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

Hyperthermia

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิด Hyperthermia

ปกติแล้ว คนเรามีอุณหภูมิร่างกายเฉลี่ยอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งร่างกายจะมีกลไกในการรักษาระดับของอุณหภูมิเพื่อให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้เป็นปกติ หากสภาพแวดล้อมหนาวเย็น ร่างกายก็จะสั่งให้ร่างกายสั่นเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย หากสภาพแวดล้อมร้อนกว่าอุณหภูมิร่างกาย ร่างกายก็จะเริ่มขับเหงื่อเพื่อทำให้ร่างกายเย็นลง ซึ่งภาวะ Hyperthermia นั้นเกิดจากการที่ร่างกายสัมผัสกับความร้อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความร้อนสะสมและไม่สามารถระบายออกได้ทันจนทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น

สาเหตุและปัจจัยต่อไปนี้อาจส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นและทำให้เกิด Hyperthermia

  • การสัมผัสกับอากาศร้อน เช่น อุณหภูมิช่วงหน้าร้อน แสงแดด การเข้าห้องซาวน่า การอยู่ในสถานที่ที่อบอ้าวและไม่มีอากาศถ่ายเท
  • การดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนซึ่งทำให้ปัสสาวะบ่อย
  • โรคและปัญหาด้านสุขภาพ เช่น การใช้ยาขับปัสสาวะหรือยาลดความดันโลหิต เป็นไข้ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคไทรอยด์ โรคเบาจืด (Diabetes Insipidus) โรคติดเชื้อที่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) โรคทางเดินอาหารอักเสบ (Gastroenteritis) โรคเบื่ออาหาร (Anorexia) ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalaemia) หรือเคยมีประวัติเป็นโรคลมแดดมาก่อน
  • การทำกิจกรรมหรือทำงานท่ามกลางความร้อนและแสงแดด โดยเฉพาะบางอาชีพ เช่น นักกีฬา คนงานก่อสร้าง และเกษตรกร เป็นต้น
  • ผู้สูงอายุ เนื่องจากการทำงานของร่างกายลดลง รวมถึงการขับเหงื่อและการไหลเวียนเลือด
  • เด็ก เนื่องจากเด็กมักชื่นชอบวิ่งเล่นท่ามกลางแสงแดด และไม่สามารถรับรู้ถึงความผิดปกติของร่างกายได้ อีกทั้งระบบการขับเหงื่อในเด็กอาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Hyperthermia

หากปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นร่วมกันยิ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของ Hyperthermia และภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายมากขึ้น

Hyperthermia และไข้ แตกต่างกันอย่างไร?

Hyperthermia และอาการไข้มีความคล้ายกันแต่ไม่ใช่อย่างเดียวกัน เพราะอาการไข้เกิดจากกลไกของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อด้วยการเพิ่มอุณหภูมิร่างกายเพื่อกำจัดเชื้อโรค ส่วน Hyperthermia เกิดจากการสะสมความร้อนจากสภาพแวดล้อมภายนอกและปัจจัยภายในร่างกาย โดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทันหรือกลไกในการระบายความร้อนทำงานได้น้อยลง อย่างการขับเหงื่อ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความผิดปกติทั้งสองอย่างมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ทำให้การรักษาแตกต่างกันไปด้วย

ภาวะและระดับความรุนแรงของ Hyperthermia

ภาวะตัวร้อนเกินแบ่งได้หลายระดับ แต่ละระดับมีความรุนแรงไม่เท่ากัน และอาการมีทั้งคล้ายและแตกต่างกัน ดังนี้

Hyperthermia ระดับไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลาง

ภาวะตัวร้อนเกินในระดับนี้เป็นขั้นเริ่มต้น อาการทั่วไปอาจสร้างความไม่สบายตัวหรือทำให้รู้สึกเจ็บป่วย แต่ยังไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่สิ่งที่สำคัญคือการสังเกตอาการ เพราะหากเกิดอาการในระยะนี้ ควรหยุดพักเพื่อให้ร่างกายได้ระบายความร้อน ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิด Hyperthermia ในระดับรุนแรงได้

ตัวอย่างภาวะตัวร้อนเกินระดับไม่รุนแรงถึงระดับปานกลาง เช่น

  • ภาวะความเครียดจากความร้อน (Heat Stress) เป็นภาวะแรกเริ่มของ Hyperthermia ที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเริ่มสูญเสียกลไกในการขับเหงื่อและความร้อน โดยภาวะความเครียดจากความร้อนอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัว รู้สึกเครียด เวียนหัว คลื่นไส้ กระหายน้ำ และปวดหัวได้
  • ภาวะเหนื่อยล้าจากความร้อน (Heat Fatigue) อาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายและจิตใจเกิดความเครียดขณะอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน มักเกิดกับผู้ที่ไวต่ออากาศร้อนหรือผู้ที่ไม่คุ้นชินกับสภาพอากาศร้อน ลักษณะอาการคล้ายกับภาวะความเครียดจากความร้อนในข้างต้น บางรายอาจมีอาการสูญเสียการทรงตัว (Lose Coordination) ด้วย หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมท่ามกลางอุณหภูมิสูงเป็นประจำ ควรค่อย ๆ ปรับให้ร่างกายชินกับความร้อน ซึ่งอาจลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้
  • ผดร้อน การตากแดดหรือท่ามกลางอากาศร้อนนาน ๆ อาจทำให้เหงื่อออกเยอะ คราบเหงื่อไคลอาจอุดตันรูขุมขนจนเกิดผดร้อนขึ้น โดยตามผิวหนังจะพบตุ่มแดงขนาดเล็ก มีอาการคันและระคายเคือง ส่วนมากมักพบตามคอ รักแร้ หน้าอก หลัง และขาหนีบ หากเกาหรือปล่อยทิ้งไว้ ผิวหนังอาจติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ผดร้อนเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงและอาจหายได้เองเมื่อร่างกายเย็นลง อาบน้ำ หรือเปลี่ยนเสื้อผ้า
  • บวมแดด (Heat Edema) เป็นอาการบวมที่เกิดขึ้นจากสะสมของเหลวในร่างกายเมื่อสัมผัสกับอากาศร้อน เนื่องจากความร้อนส่งผลให้ไตหลั่งฮอร์โมนที่มีผลต่อการดูดเกลือแร่โซเดียมกลับเข้าสู่หลอดเลือด โดยอาจพบอาการบวมตามมือ น่องขา และข้อเท้า แต่อาการบวมแดดอาจดีขึ้นเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้หรือเมื่ออุณหภูมิร่างกายกลับสู่ระดับปกติ
  • ตะคริวแดด (Heat Cramps) เกิดจากภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ (Electrolyte Imbalance) ในร่างกายที่มีสาเหตุจากการสูญเสียเกลือแร่ปริมาณมากผ่านการขับเหงื่อและทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริว มักพบบริเวณหน้าท้อง แขน ขา และอาจพบร่วมกับอาการกระหายน้ำ ถือเป็น Hyperthermia ในระดับปานกลางและอาจเป็นสัญญาณก่อนเข้าสู่ภาวะที่รุนแรงมากขึ้น

ในเบื้องต้น ภาวะและอาการจากความร้อนเหล่านี้อาจบรรเทาได้ด้วยการหยุดทำกิจกรรม หลบเข้าที่ร่มและเย็น มีอากาศถ่ายเทสะดวก ดื่มน้ำเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย ดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีเกลือแร่ อย่างเครื่องดื่มเกลือแร่ นม น้ำมะพร้าว น้ำแตงโม น้ำผลไม้ ขนมและของว่างเพื่อชดเชยเกลือแร่ ของเหลว และพลังงานที่เสียไป

Hyperthermia ระดับรุนแรง

ภาวะตัวร้อนเกินในขั้นนี้อาจพบอาการหรือภาวะในขั้นก่อน ๆ ร่วมด้วย โดย Hyperthermia ระดับรุนแรง อาจเป็นออกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้

1. ภาวะเป็นลมจากความร้อน (Heat Syncope)

Heat Syncope เกิดจากระดับความดันโลหิตลดลงกว่าปกติ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองน้อยลง ทำให้เกิดอาการเวียนหัว มึนงง หน้ามืด เป็นลม หากผู้ป่วยเป็นลมอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้ ดังนั้น หากยืนอยู่กับที่นาน ๆ ท่ามกลางอากาศร้อน หรือลุกอย่างรวดเร็วจนเกิดอาการหน้ามืด ควรค่อย ๆ นั่งลงอย่างช้า ๆ ย้ายไปพักในที่ร่มและเย็น ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเกลือแร่

2. โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion)

โรคเพลียแดดอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงและนำไปสู่โรคลมแดดได้ ซึ่งอุณหภูมิร่างกายในระยะนี้จะสูงมากกว่าปกติ แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส ผู้ที่มีอาการเพลียแดดอาจมีอาการปวดหัว ขาดน้ำ สูญเสียการทรงตัว อ่อนแรง เมื่อยล้า เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ปัสสาวะลดลง และชีพจรเต้นเร็ว

เมื่อเกิด Hyperthermia ขั้นนี้ ควรหยุดกิจกรรมทุกอย่างทันที นั่งพักในที่ร่มและเย็น ปลดเสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มออกเพื่อช่วยระบายความร้อน อย่างหมวก ถุงเท้า และรองเท้าออก จิบน้ำเย็นอยู่เรื่อย ๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบตามร่างกายเพื่อลดอุณหภูมิร่างให้ได้มากที่สุด หากอาการไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงกว่าเดิม ควรนำส่งห้องฉุกเฉินหรือโทรเรียกรถพยาบาลทันทีเพื่อป้องกันโรคลมแดด

3. โรคลมแดด (Heat Stroke)

โรคลมแดดจัดเป็นระยะที่รุนแรงที่สุดของ Hyperthermia เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ในขั้นนี้อุณหภูมิร่างกายจะสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสและร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้เอง ซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดปกติอย่างรุนแรง เช่น สับสน พูดไม่ชัด เพ้อ เห็นภาพหลอน หายใจถี่ ไม่มีเหงื่อออกตามผิวหนัง ผิวหนังร้อนและแดง ชัก และหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาหรือปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

หากพบผู้ที่มีอาการของโรคลมแดด ควรโทรเรียกรถพยาบาลหรือนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ระหว่างนั้น ควรย้ายผู้ป่วยไปไว้ในที่ร่มและเย็น อย่างในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ พัดลม หรือพื้นที่ที่อากาศถ่ายเท ถอดเสื้อผ้าของผู้ป่วยออก จากนั้นควรลดอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยให้ได้มากและเร็วที่สุด ซึ่งการศึกษาชิ้นหนึ่งแนะนำ 3 วิธีในการลดอุณหภูมิร่างกายเมื่อเกิดโรคลมแดด โดยเรียงตามประสิทธิภาพในการลดอุณหภูมิจากมากไปน้อย ดังนี้

  • แช่ตัวผู้ป่วยลงในน้ำเย็น หรือถังน้ำใส่น้ำแข็ง
  • เปิดพัดลมเป่าไปที่ตัวผู้ป่วย และใช้ขวดสเปรย์บรรจุน้ำเย็นฉีดตามร่างกายหรือใช้ฟองน้ำชุบน้ำซับตามตัวผู้ป่วย
  • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเน้นบริเวณศีรษะ คอ รักแร้ และขาหนีบเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย

ทั้งนี้ ขั้นตอนการปฐมพยาบาลโรคลมแดดเป็นขั้นตอนที่สำคัญและควรทำทันทีที่พบอาการเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

วิธีลดความเสี่ยงจาก Hyperthermia

เนื่องจากประเทศไทยก็มีสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และภาวะตัวร้อนเกินอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้หลายระดับ จึงควรศึกษาและเรียนรู้วิธีลดความเสี่ยงของภาวะ Hyperthermia เช่น 

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนจัดหรือพื้นที่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลากลางวันหรือช่วงที่มีแดดจัดโดยไม่จำเป็น อย่างการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือการทำสวน หากจำเป็นต้องทำ ควรจำกัดความเข้มข้นของกิจกรรมที่ทำและนั่งพักในที่ร่มเป็นระยะ
  • จิบน้ำตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่อากาศร้อนหรือต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • ควรพกขวดน้ำ หมวก แว่นกันแดด และร่มติดตัวไว้เสมอ หากทราบว่าตนเองไวต่อความร้อนและแสงแดดอาจพกอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น พัดลมพกพา และสเปรย์สำหรับลดอุณหภูมิร่างกาย
  • สวมเสื้อผ้าสีอ่อนที่เบาสบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่นจนเกินไป
  • งดดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนเมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง

นอกจากนี้ หากทราบว่าตนเองหรือคนในครอบครัวอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงอากาศร้อนให้ได้มากที่สุด หากพบอาการผิดปกติเมื่อสัมผัสกับความร้อน ควรหลบเข้าที่ร่ม ดื่มน้ำ และนั่งพักเพื่อป้องกันอุณหภูมิร่างกายสูงเกิน สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือจำเป็นต้องสัมผัสกับความร้อนเป็นประจำ และกังวลเกี่ยวกับ Hyperthermia ควรขอคำแนะนำจากแพทย์เพิ่มเติม

สุดท้ายนี้ หากชื่นชอบการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรรู้จักขีดจำกัดของร่างกายตนเองและใช้ความระมัดระวังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น