ปวดเข่าตอนกลางคืน รับมืออย่างไรดี

ปวดเข่าเป็นอีกปัญหาที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะหากปวดเข่าตอนกลางคืน บางคนอาจมีอาการเรื้อรังจนนอนไม่หลับหรือตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง ซึ่งการพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า คุณภาพชีวิตแย่ลง และอาจส่งผลให้อาการปวดเข่ารุนแรงขึ้นอีกด้วย

อาการปวดเข่ามักเกิดขึ้นตอนกลางคืนเพราะเป็นเวลาที่ข้อเข่าไม่ได้เคลื่อนไหว ต่างจากช่วงกลางวันที่มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เกิดการหล่อลื่นและยืดหยุ่นของข้อเข่า อีกทั้งการทำกิจกรรมระหว่างวันอาจช่วยให้ลืมความรู้สึกเจ็บปวดไปได้ชั่วคราว   

 ทำไมปวดเข่าตอนกลางคืน รับมืออย่างไรดี

นอกจากนี้ ร่างกายของเราจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisal) ลดลงขณะที่นอนหลับ ซึ่งคอร์ติซอลนั้นเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการอักเสบ จึงอาจทำให้หลายคนรู้สึกปวดเข่าในช่วงกลางคืน

อาการปวดเข่าตอนกลางคืนเกิดจากอะไร

ปวดเข่าตอนกลางคืนอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

เข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)

เข่าเสื่อมเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้ทุกวัย แต่จะพบบ่อยในผู้สูงอายุที่กระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าเสื่อมสภาพตามวัย นอกจากนี้ เข่าเสื่อมอาจเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าจากการเล่นกีฬา การอักเสบของข้อเข่าจากโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) และเกาต์ เป็นต้น

เมื่อกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าเสื่อมสภาพ จะทำให้กระดูกหัวเข่าเสียดสีกัน ทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบ ซึ่งนำไปสู่อาการปวดเข่า เข่าบวม และขยับข้อเข่าได้ลำบาก ทั้งนี้ อาการปวดเข่ามักเกิดขณะไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ และผู้ป่วยข้อเสื่อมกว่า 1 ใน 3 มักมีปัญหาในการนอนหลับ อาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้ขยับข้อเข่าไม่ได้อีก

กลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้า (Patellofemoral Pain Syndrome)

กลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้าเป็นอาการปวดบริเวณกระดูกด้านหน้าของข้อเข่าที่เชื่อมต่อกับกระดูกต้นขา เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในนักกีฬาที่ใช้กำลังวิ่งหรือกระโดด บางคนจึงเรียกว่าโรคข้อเข่านักวิ่ง (Runner’s Knee) แต่อาจพบในคนทั่วไปที่ใช้ข้อเข่าหนักหรือได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่าได้เช่นกัน 

กลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้ามักส่งผลให้มีอาการปวดขณะเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดิน ออกกำลังกาย ขึ้นลงบันได และหลังจากนั่งงอเข่าหรือคุกเข่าเป็นเวลานาน บางคนอาจข้อเข่าบวมและได้ยินเสียงข้อเข่าเสียดสีกันเมื่อขยับข้อเข่า

โดยทั่วไป กลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้าจะหายไปหลังจากพักการทำกิจกรรมที่ใช้แรงบริเวณหัวเข่าเป็นเวลา 2–3 สัปดาห์ ประคบเย็น และวางหมอนไว้ใต้เข่าขณะนั่งหรือนอน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมได้ หรือรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เองเพื่อบรรเทาอาการ

ภาวะถุงน้ำหล่อลื่นบริเวณข้อต่ออักเสบ (Bursitis)

ถุงของเหลวหล่อลื่นมีหน้าที่ช่วยลดการเสียดสีและแรงกระแทก โดยจะอยู่ระหว่างกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนตามข้อต่อของร่างกาย เช่น ไหล่ สะโพก และเข่า ซึ่งการได้รับบาดเจ็บ การอยู่ในอิริยาบถที่ทำให้น้ำหนักกดทับบริเวณเช่า อย่างการสควอท (Squat) หรือคุกเข่าเป็นเวลานานโดยไม่ได้สวมอุปกรณ์พยุงเข่า อาจทำให้เกิดภาวะถุงน้ำหล่อลื่นบริเวณข้อต่ออักเสบได้

เมื่อถุงน้ำหล่อลื่นข้อต่อเกิดการอักเสบจะทำให้มีอาการข้อเข่าบวม รู้สึกถึงความร้อนบริเวณข้อ รู้สึกเจ็บเมื่อกดบริเวณข้อเข่า และมีการอาการปวดขณะทำกิจกรรม นั่งหรือนอนพัก โดยอาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นจนอาจทำให้เกิดก้อนบวมที่หัวเข่า

นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้น สาเหตุอื่นที่อาจทำให้ปวดเข่าตอนกลางคืน เช่น การประสบอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บที่ทำให้เกิดแรงกระแทกบริเวณเข่าโดยตรง  

วิธีบรรเทาอาการเมื่อปวดเข่าตอนกลางคืน

หากมีอาการปวดเข่าตอนกลางคืนอาจทำตามวิธีเหล่านี้ เพื่อบรรเทาอาการปวดและช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

  • ประคบร้อนหรือประคบเย็นบริเวณหัวเข่า เพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด โดยการประคบเย็นด้วยผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งหรือผ้าชุบน้ำเย็นจะเหมาะกับอาการบาดเจ็บเฉียบพลัน เช่น การกระแทกบริเวณเอ็นและกล้ามเนื้อ ส่วนการประคบร้อนจะเหมาะกับอาการปวดหรืออักเสบเรื้อรัง และตึงบริเวณข้อ โดยใช้เจลประคบร้อนแบบสำเร็จ กระเป๋าน้ำร้อน หรือผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน แต่ควรระวังไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินไปจนลวกผิว
  • ออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ (Lower-Impact Exercise) เช่น ว่ายน้ำและขี่จักรยาน จะไม่ทำให้เกิดแรงกดหรือแรงกระแทกที่ข้อเข่า ผู้ที่มีอาการของโรคเรื้อรังอาจสวมอุปกรณ์พยุงข้อเข่าเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดขณะเคลื่อนไหว
  • ใช้ฟูกและหมอนรองบริเวณเข่า เพื่อลดอาการปวดเข่าขณะหลับ
  • สร้างวินัยในการนอนหลับที่ดี โดยไม่ควรงีบหลับตอนกลางวันนานเกินไป ไม่รับประทานอาหารปริมาณมากหรือออกกำลังกายก่อนเข้านอน จัดแสงและอุณหภูมิในห้องนอนให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้านอน เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ 
  • จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการอ่านข่าวหรือทำงานที่ทำให้เกิดความเครียด ควรฟังเพลงสบาย ๆ อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายก่อนนอน
  • รักษาอาการปวดให้ตรงสาเหตุ หากดูแลตัวเองและใช้ยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น การไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการปวดเข่าตอนกลางคืนที่แท้จริงและรับการรักษาที่ถูกต้อง จะช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น หรือช่วยควบคุมไม่ให้อาการแย่ลงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

อาการปวดเข่าตอนกลางคืนเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุอาจดีขึ้นได้เองเมื่อพักการใช้งานบริเวณข้อเข่าและดูแลตัวเอง แต่บางครั้งอาจเป็นอาการเรื้อรังที่ไม่หายขาดและเป็นอุปรรคต่อการนอนหลับหรือการใช้ชีวิตประจำวัน จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้อาการปวดเข่าดีขึ้นและนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ