Aromatherapy ศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยกลิ่นหอม

Aromatherapy หรือสุคนธบำบัด เป็นศาสตร์รักษาโรคด้วยการใช้น้ำมันหอมระเหยจากพืชเป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยใช้ทั้งการสูดดมหรือนวดตามร่างกาย ซึ่งหลายคนเชื่อว่าวิธีการนี้อาจช่วยบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ แต่การบำบัดในลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือไม่ อย่างไร หาคำตอบได้จากข้อมูลต่อไปนี้

1659 Aromatherapy Resized

น้ำมันหอมระเหยที่ใช้ใน Aromatherapy

น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) เป็นน้ำมันที่สกัดจากส่วนต่าง ๆ ของพืช อย่างดอก ผล เมล็ด ใบ กิ่ง ยาง เปลือก แก่น หรือลำต้น จนได้สารเคมีที่สามารถใช้สูดดมหรือทาตามผิวหนังเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งนี้ จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมากเพื่อกลั่นน้ำมันหอมระเหยให้มีความเข้มข้นสูง จึงทำให้การผลิตแต่ละครั้งได้น้ำมันหอมระเหยในปริมาณน้อยและมักทำให้มีราคาแพง ซึ่งพืชแต่ละชนิดก็จะให้กลิ่นที่แตกต่างกันไป

น้ำมันหอมระเหยกับการบำบัดแบบ Aromatherapy

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า โมเลกุลขนาดเล็กของน้ำมันหอมระเหยอาจไปกระตุ้นการทำงานของตัวรับกลิ่นภายในจมูก และสมองส่วนลิมบิก (Limbic) ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ นอกจากนี้ การสูดดมน้ำมันหอมระเหยยังส่งผลต่อสมองส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น สมองส่วนคอร์เท็กซ์ (Cortex) ที่มีผลต่อการเรียนรู้ ต่อมพิทิวทอรี (Pituitary) ที่ควบคุมระบบฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงสมองส่วนไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ที่ทำให้หลั่งสารเคมีอารมณ์ดีที่ชื่อว่าเซโรโทนิน (Serotonin) ออกมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับความอยากอาหารและพฤติกรรมทางเพศด้วย เป็นต้น ดังนั้น การสูดดมน้ำมันหอมระเหยจาก Aromatherapy จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ส่งผลต่อร่างกายและระบบประสาทได้อย่างรวดเร็ว

ประโยชน์ของ Aromatherapy

การศึกษาวิจัยหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของ Aromatherapy ที่มีต่อสุขภาพไว้ ดังนี้

  • ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
  • บรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้า
  • ช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้น
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยคลายกล้ามเนื้อ
  • ลดความดันโลหิต
  • ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
  • บรรเทาอาการปวดบางชนิด เช่น ปวดหัว ปวดข้อ ปวดเข่า หรืออาการปวดท้องจากนิ่วในไต เป็นต้น
  • บรรเทาอาการข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง เช่น อาการปวด หรือคลื่นไส้ เป็นต้น
  • ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของการบำบัดรักษาโรคด้วย Aromatherapy แต่ผู้ใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย และไม่ควรใช้วิธีนี้แทนการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน

ข้อควรระวังในการใช้ Aromatherapy

น้ำมันหอมระเหยที่ใช้ใน Aromatherapy นั้น สามารถใช้สูดดมหรือนวดตามร่างกายได้อย่างปลอดภัย แต่เนื่องจากเป็นน้ำมันสกัดที่มีความเข้มข้นสูง ผลิตภัณฑ์บางชนิดจึงอาจจำเป็นต้องเจือจางก่อนนำไปใช้ เพราะหากทาลงบนผิวหนังโดยตรงก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและทำให้ผิวไวต่อแดดได้ หรือหากสูดดมจากบรรจุภัณฑ์ก็อาจมีกลิ่นฉุนแสบจมูกและทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงสำหรับผู้ที่ไวต่อกลิ่นด้วย

นอกจากนี้ มีข้อควรระวังเพิ่มเติมในการเลือกใช้น้ำมันหอมระเหย ดังนี้

  • ไม่ควรชิม ดื่ม หรือรับประทานน้ำมันหอมระเหย เพราะผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจมีพิษและทำให้เกิดความเสียหายต่อทางเดินอาหาร ตับ และไตได้
  • ไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหยกับเด็ก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะอาจไม่ปลอดภัยและทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้
  • ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือสารสังเคราะห์ใด ๆ
  • ควรทดสอบอาการแพ้ที่ผิวหนังก่อนใช้ทุกครั้ง โดยทาน้ำมันหอมระเหยที่ท้องแขนแล้วปิดไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หากมีอาการบวม แสบ หรือแดง ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดนั้นอีก