สมองเสื่อม (Dementia)

ความหมาย สมองเสื่อม (Dementia)

สมองเสื่อม (Dementia) เป็นภาวะที่ระบบการทำงานของสมองค่อย ๆ เสื่อมลงหรือมีความบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ความคิด การตัดสินใจ ความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ การเรียนรู้ การใช้ภาษา และการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์

สมองเสื่อมเป็นภาวะที่มักพบได้ในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุประมาณ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งอาการของผู้ที่ป่วยมักจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาวะสมองเสื่อมมีทั้งชนิดที่สามารถรักษาให้หายได้และไม่สามารถรักษาให้หายได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยทางด้านสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

สมองเสื่อม

อาการสมองเสื่อม

อาการของภาวะสมองเสื่อมจะแตกต่างกันไปในผู้ที่ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสาเหตุและบริเวณของสมองที่เสื่อม โดยอาการที่พบได้บ่อยสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับกระบวนการคิดหรือกระบวนการรับรู้

ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่ส่งผลต่อความคิดและการรับรู้ ผู้ที่ป่วยเป็นภาวะนี้จึงอาจพบอาการดังต่อไปนี้

  • สูญเสียความทรงจำ อาการนี้มักจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงแรกและเป็นอาการที่สังเกตได้ชัดที่สุด โดยผู้ที่ป่วยมักจะมีปัญหาในการจดจำเหตุการณ์ ผู้คน หรือสถานที่
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการคิดแบบใช้เหตุผล หรือการคิดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
  • มีปัญหาในการสื่อสาร การใช้คำและภาษา เช่น ไม่สามารถเลือกใช้คำที่เหมาะสมในการพูดคุยสื่อสารได้
  • มีปัญหาในการวางแผนและจัดการการงานต่าง ๆ เช่น ไม่สามารถจัดลำดับขั้นตอนในการทำงาน
  • มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวประสานงานกันของกล้ามเนื้อ จนไม่สามารถทำงานที่ละเอียดหรือประณีตได้
  • มีความสับสน มึนงง เลอะเลือน

การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับทางด้านจิตใจ

สมองเป็นจุดศูนย์รวมของความคิดและจิตใจ เมื่อสมองเสื่อมลง ผู้ที่ป่วยจึงอาจพบอาการทางด้านจิตใจในลักษณะดังต่อไปนี้

  • มีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพ หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  • มีอาการซึมเศร้า
  • เกิดความวิตกกังวล
  • มีความหวาดระแวง 
  • ภาวะกายและใจไม่สงบ กระสับกระส่าย
  • มีอาการประสาทหลอน 

นอกจากอาการในข้างต้น ผู้ป่วยสมองเสื่อมยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยตามชนิดของภาวะสมองเสื่อมที่ผู้ป่วยเป็น เช่น

  • ผู้ป่วยสมองเสื่อมชนิดที่มาพร้อมอาการทางประสาท (Dementia with Lewy Bodies) มักจะเกิดอาการเห็นภาพหลอนชัดเจน
  • ผู้ป่วยสมองเสื่อมชนิด Frontotemporal Dementia: FTD ที่มักจะค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น พูดจาหยาบคาย เปิดเผยตัวเอง หรือให้ความเห็นเรื่องทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง

ทั้งนี้ ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ ดังนั้น หากพบว่าคนใกล้ตัวมีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำหรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและวินิจฉัยโรคต่อไป

สาเหตุของสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากการที่สมองเกิดความเสียหายหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงจนกระบวนการทำงานเสื่อมลง โดยสาเหตุของภาวะนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุดังนี้

  • โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด มักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป
  • ภาวะสมองเสื่อมที่มาจากโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด (Vascular Dementia) มักจะเกิดในผู้ป่วยเป็นโรคสมองขาดเลือด เป็นความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
  • ผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มาพร้อมอาการทางประสาท สามารถทำให้เสียความทรงจำในระยะสั้น และยังทำให้มีปัญหาในการนอนหลับ อาการประสาทหลอน หรือร่างกายขาดสมดุล
  • สมองเสื่อมชนิด Frontotemporal Dementia: FTD 
  • โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมได้เช่นกัน ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการเคลื่อนไหว และการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ
  • การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง อาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับความจำและสมาธิ

นอกจากความผิดปกติในข้างต้นแล้ว โรคบางโรคก็อาจทำให้เกิดอาการสมองเสื่อมได้เช่นกัน ได้แก่

  • โรคฮันติงตัน (Huntington's Disease) เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสื่อมกับระบบประสาทและส่งผลนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม มักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอายุประมาณ 30–40 ปี
  • สมองบาดเจ็บ (Traumatic Brain Injury) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่สมองได้รับบาดเจ็บซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง เช่น อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับนักมวยหรือนักฟุตบอล ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถนำไปสู่สมองเสื่อมได้ เช่น เสียความทรงจำ หรือเกิดภาวะซึมเศร้า
  • โรควัวบ้า มักเป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดขึ้นได้จากกรรมพันธุ์หรือการสัมผัสกับโรคสมองหรือเนื้อเยื่อระบบประสาทที่เป็นโรค เช่น เนื้อสมองจากวัวที่เป็นโรค

ทั้งนี้ นอกจากการเจ็บป่วยด้วยโรคในข้างต้นแล้ว ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเสื่อมของสมองได้ เช่น

  • อายุ ความเสี่ยงในการเป็นสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นสมองเสื่อม หากมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นสมองเสื่อม ก็จะทำให้มีความเสี่ยงที่สูงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นสมองเสื่อมมีโอกาสเป็นได้เช่นกัน
  • ความบกพร่องของสมรรถนะทางสมอง เกี่ยวข้องหรือมีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำ แต่จะไม่รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ในชีวิตประจำวัน โดยความบกพร่องดังกล่าวมีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดสมองเสื่อมได้
  • ดาวน์ซินโดรม การพัฒนาเป็นโรคอัลไซเมอร์จะพบบ่อยในผู้ที่เป็นดาวน์ซินโดรมในวัยกลางคน
  • พันธุกรรม ความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้สมองเสื่อมเกิดขึ้นได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยแพทย์มักจะพบผู้ป่วยสมองเสื่อมประเภทนี้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคซึมเศร้า การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด 

การวินิจฉัยสมองเสื่อม

ในการวินิจฉัยสมองเสื่อม แพทย์มักจะเริ่มต้นด้วยการตรวจร่างกายและตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจจะตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม หากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะสมองเสื่อม เช่น ตรวจสอบระบบประสาท ตรวจสอบสุขภาพทางจิต การตรวจเลือด หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ

ตัวอย่างการตรวจของแพทย์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม ได้แก่

การตรวจสุขภาวะทางจิตแบบย่อ (MMSE)

MMSE ป็นการทำแบบสอบถามเพื่อวัดความบกพร่องของสมรรถนะทางสมอง (Cognitive Impairment) เบื้องต้น เช่น ปัญหาเรื่องความจำเบื้องต้น การใช้ภาษา ความเข้าใจ หรือทักษะเกี่ยวกับเครื่องยนต์ หากได้ค่าที่ต่ำกว่า 23 จาก 30 คะแนน ถือว่ามีความผิดปกติทางสุขภาพจิต

การตรวจ Mini–Cog

Mini–Cog เป็นการตรวจเพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยสมองเสื่อมได้ โดยมี 3 ขั้นตอน ได้แก่

  1. แพทย์จะให้คำ 3 คำ ผู้ป่วยต้องจำและตอบกลับแพทย์ในภายหลัง
  2. แพทย์จะให้ผู้ป่วยวาดหน้าปัดนาฬิกาเพื่อบอกเวลาที่ถูกต้อง
  3. แพทย์จะให้ผู้ป่วยบอกคำที่แพทย์ให้ไว้ในตอนแรก

การตรวจ Clinical Dementia Rating: CDR

หากแพทย์วินิจัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม แพทย์จะประเมิน CDR ซึ่งหมายถึงการประเมินความสามารถทางด้านความจำ การรู้จักบุคคล เวลา สถานที่ การตัดสินใจและการแก้ปัญหา การใช้ชีวิตและงานอดิเรก การเข้าสังคมและการดูแลตัวเอง โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้

  • หากได้ค่าเป็น 0 แสดงว่าปกติ
  • หากได้ค่าเป็น 0.5 แสดงว่ามีภาวะสมองเสื่อมน้อยมาก
  • หากได้ค่าเป็น 1 แสดงว่ามีภาวะสมองเสื่อมเล็กน้อย
  • หากได้ค่าเป็น 2 แสดงว่ามีภาวะสมองเสื่อมปานกลาง
  • หากได้ค่าเป็น 3 แสดงว่ามีภาวะสมองเสื่อมรุนแรง

การสแกนสมอง

แพทย์อาจใช้เครื่องมือและขั้นตอนทางการแพทย์เพื่อตรวจสอบลักษณะภายในสมองที่เปลี่ยนไปด้วยวิธีต่อไปนี้

  • เพทสแกน (PET Scan) การถ่ายภาพทางรังสี ที่สามารถแสดงภาพรูปแบบการทำงานของสมอง เพื่อหาความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือ MRI Scan เพื่อตรวจสอบโรคหลอดเลือดในสมอง เลือดออกในสมอง เนื้องอก หรือภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การตรวจเลือดจะช่วยตรวจสอบปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง เช่น การขาดวิตามิน บี 12 หรือภาวะขาดไทรอยด์ ในบางกรณีการตรวจดูน้ำไขสันหลังช่วยในการตรวจหาการติดเชื้อ การอักเสบ หรือระบุความบกพร่องที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้

การรักษาสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาทางการแพทย์อาจช่วยไม่ให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ โดยวิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้ ได้แก่

การรักษาด้วยยา

แพทย์อาจใช้ยาต่อไปนี้เพื่อบรรเทาและควบคุมอาการสมองเสื่อม

  • ยากลุ่ม Cholinesterase Inhibitors ได้แก่ ยากาแลนตามีน (Galantamine) ยาไรวาสติกมีน (Rivastigmine) ยาโดนีพีซิล (Donepezil) ซึ่งมีกลไกการทำงานไปกระตุ้นการรับรู้ที่เกี่ยวกับความทรงจำและการตัดสินใจ 
  • ยาเมแมนทีน (Memantine) ในบางกรณีแพทย์จะจ่ายยานี้ให้พร้อมกับยากลุ่ม Cholinesterase Inhibitors โดยกลไกการทำงานของยาเมแมนทีนจะเป็นการทำงานของสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งในสมอง ซึ่งเกี่ยวกับการทำงานของสมอง เช่น ความทรงจำและการเรียนรู้ 

ในส่วนของยาชนิดอื่น ๆ แพทย์อาจให้ยาที่รักษาอาการและภาวะอื่น ๆ ตามอาการของผู้ป่วย เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หรือเกิดภาวะซึมเศร้า

การบำบัด

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดต่อไปนี้ร่วมกับการรักษาแบบอื่น

  • ปรับเปลี่ยนการทำงาน เช่น มีการวางแผนและจัดเตรียมขั้นตอนการทำงานให้เรียบร้อย จะช่วยให้ผู้ป่วยสมองมีความสับสนน้อยลง
  • ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม จัดข้าวของให้เป็นระเบียบและตัดเสียงรบกวน จะช่วยให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีขึ้น
  • บำบัดกับนักกิจกรรมบำบัด มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น การตกจากที่สูง หรือการควบคุมอารมณ์ โดยนักกิจกรรมบำบัดจะสอนวิธีทางด้านความปลอดภัยและการจัดการกับอารมณ์หรือพฤติกรรมต่าง ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของสมองเสื่อม

สมองเสื่อมส่งผลกระทบเกี่ยวกับระบบการทำงานของร่างกาย ดังนี้

  • ภาวะขาดสารอาหารหรือขาดน้ำ ผู้ป่วยสมองเสื่อมมักจะลดหรือหยุดการบริโภคอาหาร และในที่สุดอาจไม่สามารถเคี้ยวหรือกลืนอาหารได้
  • ปอดบวม เมื่อผู้ป่วยสมองเสื่อมเกิดความยากลำบากในการกลืนอาหาร อาจทำให้สำลักเอาเศษอาหารเข้าไปในปอด และยังไปกั้นการหายใจและทำให้เกิดปอดบวมได้ในที่สุด
  • ดูแลตนเองไม่ได้ ในกระบวนการเกิดสมองเสื่อม อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถอาบน้ำ แต่งตัว หวีผมหรือแปรงฟัน เข้าห้องน้ำหรือการรับประทานยาได้ถูกต้อง
  • การสื่อสาร ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารหรือแสดงความรู้สึกไปยังผู้อื่นได้
  • ทำให้เกิดอันตราย เช่น การขับรถ หรือการประกอบอาหาร อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับผู้ป่วย
  • เสียชีวิต สมองเสื่อมในขั้นสุดท้ายอาจส่งผลให้เกิดการโคม่าหรือเสียชีวิต โดยมักจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ

การป้องกันสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่ป้องกันได้ยากเนื่องจากในหลาย ๆ ครั้ง ผู้ป่วยมักมีภาวะนี้โดยไม่ทราบสาเหตุ อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพโดยรวมให้มีความสมบูรณ์ดี ก็เป็นอีกทางที่อาจช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ ซึ่งมีแนวทางดังต่อไปนี้

  • เลิกบุหรี่ การเลิกบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้ และที่สำคัญ ยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรงและลดโอกาสเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ โดยให้เน้นการรับประทานผักผลไม้ หรืออาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 เช่น ถั่วหรือปลา
  • ได้รับวิตามินดีwww.pobpad.com/วิตามินดี อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นจากการรับประทานอาหารเสริมหรือจากแสงแดด เนื่องจากการวิจัยพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำมีโอกาสที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมได้
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อลดความเสี่ยงของสมองเสื่อมรวมไปถึงโรคอื่น ๆ
  • ทำอารมณ์ให้แจ่มใสและเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ เพื่อเป็นการฝึกสมอง เช่น การอ่านหนังสือ หรือเล่นเกมเสริมทักษะความรู้ต่าง ๆ
  • รักษาระดับความดันโลหิต ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมีโอกาสเสี่ยงสูงอาจเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำให้ได้ 150 นาที/สัปดาห์