ทำความเข้าใจก่อนไปตรวจ PET Scan

PET Scan หรือ Positron Emission Tomography Scan เป็นเทคโนโลยีการตรวจโรคทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์โดยใช้ภาพวินิจฉัยการทำงานของอวัยวะและเนื้อเยื่อภายในร่างกาย ซึ่งสามารถใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคได้หลากหลาย ส่วนมากมักทำควบคู่กับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การตรวจด้วย PET Scan สามารถแสดงภาพความผิดปกติที่เกิดขึ้นในเซลล์ของผู้ป่วย โดยตรวจจับการทำงานของอวัยวะและเนื้อเยื่อที่เปลี่ยนแปลงในระดับชีวเคมีได้ตั้งแต่ระยะต้นก่อนการตรวจพบด้วยภาพวินิจฉัยวิธีอื่น เช่น ซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอ สแกน ซึ่งการตรวจวินิจฉัยโรคหรือความผิดปกติบางอย่างอาจตรวจไม่พบด้วยวิธีเหล่านี้

PET Scan

PET Scan ใช้ตรวจอะไรได้บ้าง

PET Scan เป็นวิธีการตรวจที่อาศัยหลักการทำงานของรังสี โดยผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับสารกัมมันตรังสี (Radiotracer) ผ่านการฉีดเข้าสู่หลอดเลือดดำ ในบางกรณีอาจได้รับสารกัมมันตรังสีผ่านการกลืนหรือสูดดม ซึ่งวิธีการที่แตกต่างกันนี้จะขึ้นอยู่กับประเภทของสารกัมมันตรังสีที่ใช้ ทำให้เครื่องสแกนสามารถตรวจจับสารกัมมันตรังสีที่อวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่ต้องการตรวจสอบผ่านภาพ 2 มิติหรือ 3 มิติและนำมาใช้วินิจฉัยโรค 

โดย PET Scan มักนำมาใช้ในการตรวจโรคดังต่อไปนี้

โรคมะเร็ง

PET Scan จะช่วยตรวจจับตำแหน่งและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง อีกทั้งยังสามารถใช้ประเมินการตอบสนองต่อการรักษาและการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งได้ โดยแพทย์มักจะทำควบคู่กับการทำซีที สแกนเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำของการรักษามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า การทำ PET Scan ทันทีหลังการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วยการทำเคมีบำบัดสามารถประเมินได้ว่าผู้ป่วยรายใดไม่จำเป็นต้องรักษามะเร็งต่อด้วยวิธีการฉายแสง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นในภายหลัง 

โรคหัวใจ

แพทย์จะนำ PET Scan มาใช้ในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ ตรวจความผิดปกติจากภาวะหัวใจขาดเลือด ตรวจดูความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงช่วยประเมินวิธีรักษาที่เหมาะสมสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เช่น การผ่าตัดขยายหลอดเลือด (Angioplasty) การใส่ขดลวดตาข่าย (Stenting) การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (CABG) หรือวิธีการอื่น ๆ

โรคเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท

PET Scan สามารถใช้ตรวจจับตำแหน่งที่เกิดเนื้องอกหรือเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติ ปริมาณการไหลเวียนของเลือด การทำงานของเซลล์หรือเนื้อเยื่อในระดับโมเลกุล ซึ่งแพทย์มักนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้า โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน และความผิดปกติของสมองหลังการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ โดยอาจใช้หลังการทำซีที สแกนหรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อให้เห็นถึงรายละเอียดของสมองในบริเวณที่เกิดปัญหา

นอกจากการตรวจโรค ผลการตรวจ PET Scan ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลก่อนการผ่าตัด และช่วยในการประเมินการตอบสนองของโรคหลังการรักษา จึงช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนหรือปรับเปลี่ยนแผนการรักษาของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

เตรียมตัวก่อนไปตรวจ PET Scan

ก่อนเข้ารับการตรวจ PET Scan ควรงดการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และงดรับประทานอาหารก่อนการตรวจเป็นเวลา 6 ชั่วโมง แต่สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ตามปกติ เมื่อถึงวันที่แพทย์นัดตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ หรือสวมใส่สบาย และหลีกเลี่ยงการสวมเครื่องประดับที่ทำจากโลหะ 

นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการตรวจ PET Scan ควรมาถึงโรงพยาบาลตรงตามเวลาที่นัดหมาย เนื่องจากสารเภสัชรังสีที่จะถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายสามารถเสื่อมสภาพได้เร็ว หากมาตรวจช้ากว่ากำหนดอาจทำให้ไม่สามารถเข้ารับการตรวจได้ นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการกลัวที่แคบ ควรแจ้งให้แพทย์ก่อนการตรวจ PET Scan อย่างน้อย 1 วัน เนื่องจากอาจต้องได้รับยาระงับประสาทเพื่อช่วยคลายความเครียด รวมทั้งควรแจ้งให้แพทย์ทราบในกรณีต่อไปนี้

  • ประวัติอาการแพ้ยาหรือสารใด ๆ 
  • โรคประจำตัวหรืออาการผิดปกติ เช่น โรคเบาหวาน
  • กำลังรับประทานยา วิตามิน หรืออาหารเสริมชนิดใดอยู่
  • อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ขั้นตอนการตรวจ PET Scan 

ผู้เข้ารับการตรวจควรเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยเพื่อทำให้กระเพาะปัสสาวะว่าง และเปลี่ยนมาสวมชุดของโรงพยาบาล ซึ่งก่อนเริ่มการตรวจ PET Scan แพทย์จะฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำและรอให้ตัวยาดูดซึมเข้าสู่เซลล์ในร่างกายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แต่บางกรณีแพทย์อาจให้สารดังกล่าวในรูปของการสูดดมหรือการกลืน โดยจะพิจารณาจากประเภทของสารกัมมันตรังสีที่นำมาใช้ 

ขั้นต่อไป รังสีแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนบนเตียงตรวจและจัดท่าทางให้ถูกลักษณะ จากนั้นเตียงจะค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เครื่องตรวจที่มีลักษณะเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ ในระหว่างการตรวจไม่ควรพูดคุยหรือเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้เครื่องสแกนสามารถตรวจจับภาพของร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับระยะเวลาการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ในบางกรณี ผู้เข้ารับการตรวจอาจได้รับการตรวจซีที สแกนในวันนัดหมายเดียวกัน โดยจะต้องตรวจซีทีสแกนก่อนเป็นเวลาประมาณ 10 นาที

หลังจากการตรวจเสร็จสิ้น ผู้เข้ารับการตรวจควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อขับสารกัมมันตรังสีที่ตกค้างในร่างกายออก และสามารถกลับบ้านได้ทันที โดยแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจมารับฟังผลการตรวจอีกครั้งในการนัดหมายครั้งต่อไป 

ผลการตรวจ PET Scan

ภาพที่ได้จากการตรวจ PET Scan จะแสดงให้เห็นจุดสว่างเรืองแสงในบริเวณที่สารเภสัชรังสีไปสะสมอยู่ ซึ่งจะแสดงถึงกิจกรรมการทำงานหรือการแบ่งตัวของเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน รังสีแพทย์จะรายงานผลให้แพทย์ทราบ ทั้งนี้ แพทย์อาจนำผลการตรวจ PET Scan มาเปรียบเทียบกับผลการตรวจอื่นเพื่อความชัดเจนในการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วย

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงหลังตรวจ PET Scan

โดยทั่วไปแล้ว การตรวจ PET Scan มักไม่ทำให้ผู้เข้ารับการตรวจรู้สึกเจ็บปวดระหว่างการตรวจ และไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ตามมา เนื่องจากปริมาณสารกัมมันตรังสีที่ได้รับน้อยเกินกว่าที่จะทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกาย ซึ่งสารเภสัชรังสีจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลงตามระยะเวลาและจะถูกขับออกจากร่างกายตามธรรมชาติภายใน 1 ชั่วโมง หลังเข้ารับการตรวจจึงควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับรังสีออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น 

แม้ว่าการตรวจ PET Scan ไม่ค่อยก่อให้เกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงต่อร่างกาย แต่ผู้เข้ารับการตรวจบางรายอาจมีอาการปวดหรือบวมในบริเวณที่ฉีดสารกัมมันตรังสี หรือบางรายอาจเกิดการแพ้รุนแรงที่พบได้น้อยมาก นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ทารกและเด็กเล็กอาจได้รับรังสีจากมารดาที่เข้ารับการตรวจ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้เข้ารับการตรวจหลีกเลี่ยงการติดต่อใกล้ชิดกับหญิงตั้งครรภ์ ทารก หรือเด็กเล็กเป็นระยะเวลา 2-3 ชั่วโมงหลังการทำ PET Scan เพราะอาจมีสารกัมมันตรังสีตกค้างในร่างกายอยู่

ก่อนเข้ารับการตรวจ PET Scan จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นในการตรวจ ประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง