เข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)

ความหมาย เข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)

เข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เป็นภาวะที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ข้อเข่า มักพบในวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุหลักคืออายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในปัจจุบันสามารถพบในคนอายุน้อยเช่นกัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเข่าเสื่อมก่อนวัยคือปัญหาน้ำหนักตัวมาก การเคลื่อนไหวผิดท่า การเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า รวมไปถึงกรรมพันธุ์

หากผู้ป่วยที่มีภาวะเข่าเสื่อมไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการเข่าเสื่อมจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ก็จะเกิดการเสียดสีจนกระดูกสึกกร่อน ทำให้รู้สึกฝืดที่ข้อเข่า ข้อเข่าผิดรูป เกิดความเจ็บปวด และส่งผลให้เกิดความยากลำบากหรือความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันตามมา

เข่าเสื่อม

อาการเข่าเสื่อม

อาการเข่าเสื่อมมักแสดงออกมาเมื่อต้องเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมบางอย่าง โดยจะมีอาการเจ็บปวดและรู้สึกฝืดที่ข้อเข่า ทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก รวมไปถึงเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวนาน ๆ ก็อาจทำให้เจ็บปวดและรู้สึกฝืดขัดที่ข้อเข่าได้เช่นกัน อาการสำคัญอื่น ๆ ของภาวะเข่าเสื่อม ได้แก่

  • เกิดเสียงลั่นในข้อเข่าเมื่อต้องเคลื่อนไหว
  • เมื่อกดบริเวณหัวเข่าแล้วรู้สึกเจ็บ
  • เข่าอ่อนแรงและสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
  • ข้อเข่าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มที่ เสียความยืดหยุ่น มีอาการข้อติดหรือขยับได้ยาก ซึ่งมักเกิดขึ้นเวลาเช้าหรือต้องนั่งเป็นเวลานาน รวมถึงส่งผลต่อการเดิน การขึ้นบันได หรือการลุกจากเก้าอี้

หากมีอาการเข่าเสื่อมติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษา เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อาการมีความรุนเแรงมากขึ้นได้

สาเหตุของเข่าเสื่อม

สาเหตุของภาวะเข่าเสื่อมเกิดจากการที่กระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่ปกป้องส่วนปลายของกระดูกข้อต่อบริเวณข้อเข่าเสื่อมลง ซึ่งปัจจัยที่สามารถส่งผลให้เกิดการเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่า มีดังนี้ 

  • อายุ เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดเข่าเสื่อมจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอายุที่มากขึ้น โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดกับผู้ที่อายุยังน้อยได้เช่นกัน
  • การบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า โดยอาจเกิดจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ และถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้ว แต่ก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเข่าเสื่อมในอนาคต
  • เพศ โดยเพศหญิงมีโอกาสในการเกิดภาวะเข่าเสื่อมได้มากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะเพศหญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
  • ภาวะอ้วน เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือมีภาวะอ้วนจะทำให้ข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อเข่าต้องรับน้ำหนักประมาณ 3–4 เท่าต่อน้ำหนักตัว  และสามารถเพิ่มความเสี่ยงให้ภาวะเข่าเสื่อมได้
  • โรคข้ออักเสบชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นภาวะที่จะทำให้เกิดการเสื่อมของข้อต่อ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคเก๊าท์ 
  • กรรมพันธุ์ ผู้ป่วยข้ออักเสบบางรายจะพบว่ามีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคเข่าเสื่อม

นอกจากนี้ ผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องยกของหนักมาก ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น พนักงานส่งของ หรือคนงานก่อสร้าง รวมถึงอาชีพที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างหนัก เช่น นักกีฬา หรือนักเต้น ก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเข่าเสื่อมได้เช่นกัน

การวินิจฉัยเข่าเสื่อม

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะเข่าเสื่อมเบื้องต้นด้วยการสอบถามประวัติ เช่น อาการที่เกิดขึ้น โรคประจำตัวที่เป็นอยู่ หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงตรวจสอบอาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวมแดง อาการกดแล้วเจ็บ และดูการเคลื่อนไหวของข้อเข่า เพื่อช่วยให้สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การตรวจเอกซเรย์ (X-rays) การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) รวมถึงอาจมีการตรวจน้ำในไขข้อหรือการตรวจเลือด เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการปวดข้อที่คล้ายกับภาวะเข่าเสื่อม เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ การอักเสบ หรือการติดเชื้อต่าง ๆ

การรักษาเข่าเสื่อม

การรักษาภาวะเข่าเสื่อมจะมุ่งเน้นไปที่การลดความเจ็บปวดและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยการรักษาจะใช้วิธีการต่าง ๆ ร่วมกัน ได้แก่

1. การปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

  • ลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้เข่ารองรับน้ำหนักตัวน้อยลง และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเข่าเสื่อมได้
  • บริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ เช่น การยืดเหยียดเข่า เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงจนสามารถช่วยพยุงข้อเข่าได้ และเมื่อข้อเข่ามีความยืดหยุ่นสูงก็จะช่วยลดความเจ็บปวดได้ดี
  • ออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำ การเดินเร็ว หรือการปั่นจักรยาน สัปดาห์ละอย่างน้อย 150 นาที เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ทำให้เกิดแรงกดบริเวณข้อเข่ามาก และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เพิ่มความตึงเครียดให้กับข้อเข่า เช่น การวิ่ง หรือการเล่นเวท

2. การรักษาด้วยยา

ตัวอย่างยาที่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้รักษาภาวะข้อเข่าเสื่อม เช่น

  • ยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบ เช่น ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ไม่ควรใช้ยานานเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ และควรปรึกษาแพทย์หากใช้ยาเหล่านี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดฉีด (Cortisone Injections) เพื่อช่วยลดการอักเสบและความเจ็บปวด โดยแพทย์จะฉีดยาชาและยาชนิดนี้เข้าไปบริเวณข้อเข่าของผู้ป่วย แต่จะฉีดแค่ 3–4 ครั้งต่อปีเท่านั้น เพราะหากฉีดมากเกินไปอาจทำให้เกิดความเสียหายกับข้อเข่าอย่างถาวร
  • กรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) เนื่องจากกรดไฮยาลูโรนิกเป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำในข้อต่อ ซึ่งการฉีดกรดไฮยาลูโรนิกเข้าไปบริเวณข้อเข่าจะช่วยเพิ่มความหล่อลื่นให้กับข้อเข่าได้

3. การรักษาทางเลือก

ในบางกรณี การรักษาทางเลือกก็อาจใช้รักษาควบคู่ไปกับการรักษาหลัก และสามารถช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะเข่าเสื่อมได้ ตัวอย่างการรักษาทางเลือก เช่น

  • การใช้ครีมยาเฉพาะที่ เช่น ยาแคปไซซิน (Capsaicin) เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อเข่าจากเข่าเสื่อม
  • การประคบร้อนหรือประคบเย็น เพราะความร้อนและความเย็นสามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้  โดยความร้อนจะช่วยบรรเทาอาการข้อฝืด ส่วนความเย็นจะช่วยลดการหดเกร็งและความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ
  • การใช้ที่รัดเข่า โดยผู้ป่วยสามารถสอบถามวิธีการใช้งานอย่างถูกต้องจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อให้ทราบว่าควรใช้ที่รัดเข่าบริเวณที่ตำแหน่งใดจึงจะเหมาะกับอาการของตัวเองที่สุด
  • การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดินหรืออุปกรณ์เสริมรองเท้า เพื่อช่วยลดแรงกดและรองรับน้ำหนักที่ข้อเข่า และส่งผลให้ให้ผู้ป่วยสามารถยืนหรือเดินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
  • การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นวิธีรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งเชื่อว่าสามารถช่วยกระตุ้นความสมดุลให้มวลกระดูกและกระตุ้นการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงที่ข้อได้
  • การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น คอนดรอยติน (Chondroitin) โดยอาจช่วยชะลอการแคบลงของช่องระหว่างข้อและลดอาการเจ็บข้อได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันแน่ชัดในเรื่องของประสิทธิภาพในการรักษา

4. การทำกายภาพบำบัดหรือกิจกรรมบำบัด

การกายภาพบำบัดเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่ามีความแข็งแรงและเรียนรู้วิธีการเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ข้อต่อจากนักกายภาพบำบัด ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น รู้สึกปวดเข่าน้อยลง และขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้น

ส่วนการทำกิจกรรมบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม เช่น การทำงานบ้านหรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณเข่าน้อยที่สุด

5. การผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล การผ่าตัดมักเป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์จะใช้ในการรักษา โดยการผ่าตัดจะมี 3 รูปแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน ได้แก่

  • การผ่าตัดเพื่อให้ผิวข้อเข่ามาชิดกัน (Arthrodesis) โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ เช่น แผ่นโลหะ หมุด และสกรู เพื่อผ่าตัดเชื่อมให้กระดูกข้อเข่าหลอมรวมเป็นชิ้นเดียวกัน 
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า (Arthroplasty) โดยแพทย์จะผ่าตัดนำพื้นผิวของข้อต่อที่เสียหายออก และแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียมที่อาจทำมาจากพลาสติกและโลหะ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก (Osteotomy) โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณข้อต่อที่เสียหาย และอาจเพิ่มลิ่มกระดูกเพื่อช่วยปรับแนวกระดูกให้ตรง และช่วยลดแรงกดทับ) 

ภาวะแทรกซ้อนของเข่าเสื่อม

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเข่าเสื่อมที่อาจเกิดขึ้น เช่น การตายของกระดูก (Osteonecrosis) การแตกหรือเสื่อมสภาพของเส้นเอ็นบริเวณโดยรอบข้อเข่า การเกิดภาวะเลือดออกในข้อ และการติดเชื้อในข้อ นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนของเข่าเสื่อมอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเมื่อข้อเข่ามีอาการปวดหรือฝืดแข็งอย่างรุนแรง ก็จะทำให้การกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ลำบาก

การป้องกันเข่าเสื่อม

การป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเข่าเสื่อม สามารถทำได้โดยการดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการควบคุมน้ำหนัก หากสามารถปรับพฤติกรรมเหล่านี้ให้ไปในทางที่ดีขึ้นได้ นอกจากจะส่งผลดีต่ออาการของข้อเสื่อมแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย

ผู้ป่วยที่กำลังรักษาภาวะเข่าเสื่อมด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วแต่ก็ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพราะเข่าเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในระยะยาวและควรได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการผิดปกติ หรือมีความกังวลใจใด ๆ เกิดขึ้น