ถุงยางผู้หญิง ตัวช่วยคุมกำเนิดสำหรับสาว ๆ

ถุงยางผู้หญิง เป็นวิธีการคุมกำเนิดประเภทหนึ่ง ซึ่งจะช่วยป้องกันการปฏิสนธิระหว่างไข่และอสุจิ และช่วยป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infections: STIs) โดยนอกจากถุงยางผู้หญิงจะใช้ใส่ภายในอวัยวะเพศหญิงแล้ว ยังสามารถใช้ใส่ภายในรูทวารสำหรับผู้ที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้อีกด้วย

ถุงยางผู้หญิงเป็นวิธีคุมกำเนิดที่คล้ายกับถุงยางอนามัยของผู้ชาย ดังนั้น จึงควรใช้ถุงยางผู้หญิงอย่างถูกต้องเพื่อให้ถุงยางมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงสุด เนื่องจากการใช้ถุงยางผู้หญิงอย่างไม่ถูกต้องอาจทำให้ถุงยางฉีกขาดหรือหลุดออกมา ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้

Female Condom

ตอบคำถามเรื่องถุงยางผู้หญิงที่หลายคนสงสัย

มาทำความรู้จักถุงยางผู้หญิงผ่านคำถามที่หลายคนมักสงสัย เช่น

1. ถุงยางผู้หญิงทำจากอะไร

ถุงยางผู้หญิงทำจากพลาสติกที่เรียกว่าโพลียูรีเทน (Polyurethane) ซึ่งมีขนาดบาง อ่อนนุ่มและใช้ในการผลิตถุงยางอนามัย

โดยถุงยางผู้หญิงมีลักษณะคล้ายกับถุงและมีวงแหวน 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นปลายเปิดและอีกด้านหนึ่งเป็นปลายปิด วงแหวนปลายปิดจะถูกสอดเข้าไปในอวัยวะเพศหญิง และปลายเปิดของถุงยางจะอยู่ที่บริเวณปากอวัยวะเพศ เพื่อให้ถุงยางอนามัยอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและง่ายต่อการถอดทิ้งหลังใช้งาน

2. ใครสามารถใช้ถุงยางผู้หญิงได้บ้าง

คนส่วนใหญ่สามารถใช้ถุงยางผู้หญิงได้โดยไม่รับผลกระทบใด ๆ ที่เป็นอันตราย แต่ถุงยางผู้หญิงอาจไม่เหมาะกับผู้ที่รู้สึกอึดอัดใจหรือไม่สบายใจ หากต้องสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศของตนเอง อีกทั้งยังอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น

  • ผู้มีอาการแพ้พลาสติกโพลียูรีเทนหรือยางสังเคราะห์ (Synthetic Latex)
  • ผู้มีความผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะเพศ ซึ่งอาจส่งผลต่อความพอดีหรือการสอดใส่ถุงยางอนามัย
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์สูง เช่น ผู้มีเพศสัมพันธ์มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ที่ไม่ใช้ถุงยางผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง ผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือเคยประสบความล้มเหลวจากการใช้วิธีการคุมกำเนิด เช่น ถุงยางอนามัย หรือหมวกครอบปากมดลูก 

3. ถุงยางผู้หญิงใช้อย่างไร

ถุงยางผู้หญิงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดประมาณ 75–82% แต่หากใช้งานอย่างถูกต้อง จะมีประสิทธิภาพสูงถึง 95% ซึ่งความผิดพลาดจากการติดเชื้อหรือตั้งครรภ์อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  • ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  • ถุงยางอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์จากกระบวนการผลิต ซึ่งมักเกิดขึ้นได้น้อย
  • ถุงยางอนามัยฉีกหรือขาด โดยสามารถเกิดขึ้นได้ขณะแกะและใส่ถุงยาง หรือระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  • มีการสอดใส่อวัยวะเพศชายก่อนใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง
  • สารคัดหลั่งหรือน้ำอสุจิเล็ดออกนอกถุงยางขณะถอดออก

โดยวิธีการใส่และถอดถุงยางผู้หญิงอย่างถูกต้องมีขั้นตอนดังนี้

  • แกะถุงยางอนามัยออกจากซองด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันการฉีกขาด ไม่ควรใช้ปากกัด โดยส่วนปลายปิดหรือวงแหวนที่มีขอบยางหนาจะถูกสอดใส่ไว้ในอวัยวะเพศหญิง และส่วนปลายเปิดหรือวงแหวนที่มีขอบยางบางจะอยู่ที่ปากช่องคลอด
  • ถือถุงยางอนามัยด้วยมือข้างหนึ่ง และบีบบริเวณปลายปิดของถุงยางอนามัยให้มีขนาดเล็กลง จากนั้นจึงค่อย ๆ สอดถุงยางเข้าไปในช่องคลอด โดยใช้มือข้างที่ถนัดและอยู่ในท่าที่สบาย ซึ่งคล้ายกับวิธีการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด
  • ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปภายในถุงยางอนามัยและดันถุงยางอนามัยให้ถึงบริเวณปากมดลูก จากนั้นถุงยางจะคลายตัวและขยายออกเอง
  • ควรตรวจสอบว่าถุงยางไม่พลิกตัวหรือพับงอ และปลายเปิดของถุงยางอยู่ที่ปากอวัยวะเพศ
  • เพศชายควรสอดใส่อวัยวะเพศของตนภายในถุงยางผู้หญิง และหยุดการสอดใส่หากอวัยวะเพศของตนออกนอกถุงยางอนามัย หรือหากปลายเปิดของถุงยางถูกดันหลุดเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้หญิง
  • ควรถอดถุงยางผู้หญิงโดยการบิดวงแหวนด้านนอกหรือปลายเปิดของถุงยาง และดึงออกจากอวัยวะเพศ
  • ทิ้งถุงยางอนามัยลงในถังขยะและห้ามนำกลับมาใช้ซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ควรทิ้งในโถส้วม เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันได้

4. ข้อควรระวังการใช้ถุงยางผู้หญิงมีอะไรบ้าง

การใช้ถุงยางผู้หญิงอย่างถูกต้องจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้ โดยข้อควรระวังในการใช้ถุงยางผู้หญิงมีหลายข้อ เช่น

  • ถุงยางอาจฉีกขาดได้จากเล็บมือหรือเครื่องประดับต่าง ๆ
  • ควรถอดผ้าอนามัยแบบสอดทิ้งก่อนใส่ถุงยางผู้หญิง
  • ห้ามใช้ทั้งถุงยางผู้หญิงและถุงยางผู้ชายพร้อมกันขณะมีเพศสัมพันธ์ เพราะอาจเกิดการเสียดสีกันจนถุงยางฉีกขาดได้
  • ควรตรวจสอบว่าถุงยางอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมและพร้อมใช้งานก่อนสอดใส่
  • ถุงยางอนามัยของผู้หญิงสามารถใช้ได้กับสารหล่อลื่นทุกประเภท แต่ห้ามใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำมัน เช่น ปิโตรเลียมเจลลี หรือครีม เพราะอาจทำให้เกิดการฉีกขาดได้
  • ควรถอดถุงยางอนามัยทิ้งและสวมอันใหม่ทันที หากถุงยางฉีกขาด วงแหวนรอบนอกหลุดเข้าไปในอวัยวะเพศหญิง หรือถุงยางพันกันในอวัยวะเพศระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ติดต่อแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อขอข้อมูลการคุมกำเนิดฉุกเฉิน กรณีที่ถุงยางฉีกขาดหรือน้ำอสุจิหกเลอะอวัยวะเพศหญิงระหว่างถอดถุงยางอนามัย

5. ถุงยางผู้หญิงมีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง

การเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมทั้งกับตนเองและคู่รักของตนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาจพิจารณาข้อดีและข้อเสียเพื่อดูความเหมาะสมก่อนการใช้งาน ดังนี้

ข้อดีของการใช้ถุงยางผู้หญิง

ถุงยางผู้หญิงมีข้อดีมากมาย เช่น

  • ถุงยางผู้หญิงมักทำมาจากโพลียูรีเทน จึงอาจเหมาะสำหรับผู้ที่แพ้ถุงยางอนามัยที่ทำมาจากลาเทกซ์ (Latex)
  • ถุงยางผู้หญิงช่วยป้องกันการแลกเปลี่ยนสารคัดหลั่ง เช่น น้ำอสุจิหรือน้ำหล่อลื่นในอวัยวะเพศหญิง และการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น HIV 
  • ถุงยางผู้หญิงสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้หากใช้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง
  • ถุงยางผู้หญิงสามารถสวมใส่ได้ขณะที่กำลังจะมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวล่วงหน้า
  • ถุงยางผู้หญิงสามารถใช้ได้ขณะมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือหลังการให้กำเนิดบุตร
  • ถุงยางผู้หญิงมักไม่มีทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้งาน
  • สามารถใส่ถุงยางผู้หญิงได้นานถึง 8 ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์

ข้อเสียของการใช้ถุงยางผู้หญิง

ถุงยางผู้หญิงยังอาจมีข้อเสียบางอย่างที่ควรรู้ เช่น 

  • หาซื้อได้ยากและมักมีราคาแพงกว่าถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย
  • ปิดกั้นการสัมผัสกันโดยตรงของอวัยวะเพศชายและหญิง
  • ถุงยางผู้หญิงอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง แพ้ถุงยางอนามัย หรือตกขาวผิดปกติ
  • การใส่ถุงยางผู้หญิงอาจขัดจังหวะการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยใช้การเล้าโลมหรือใส่ถุงยางก่อนการมีเพศสัมพันธ์
  • การใช้ถุงยางผู้หญิงอาจก่อให้เกิดเสียงที่ไม่พึงประสงค์ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งแก้ไขได้โดยการใช้สารหล่อลื่น
  • ถุงยางอนามัยมีความทนทานมาก แต่อาจฉีกขาดหรือเลื่อนไหลได้ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  • การเสียดสีของถุงยางผู้หญิงอาจลดการกระตุ้นบริเวณปุ่มกระสันหรือคลิตอริส (Clitoris) หรือลดการหล่อลื่นที่เกิดขึ้นภายในอวัยวะเพศ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการใช้สารหล่อลื่น

6. ถุงยางผู้หญิงหาซื้อได้ที่ไหน

ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงยังไม่ค่อยมีวางจำหน่ายอย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่อาจหาซื้อได้จากสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านขายยา หรือร้านค้าออนไลน์ ซึ่งควรซื้อกับผู้ขายที่เป็นเภสัชกรหรือผู้ค้าปลีกที่ถูกต้องตามกฎหมาย