แผ่นแปะคุมกำเนิด คุมกำเนิดได้แค่ไหน ใช้อย่างไรให้ถูกวิธี

แผ่นแปะคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดรูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 91-99 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสำหรับสาว ๆ ที่ต้องการความสะดวกสบายหรือมีปัญหาลืมรับประทานยาคุมเป็นประจำ ใช้งานง่าย เพียงติดทิ้งไว้บนผิวหนังบริเวณท้อง สะโพก หลัง หรือต้นแขน สัปดาห์ละ 1 แผ่น แต่วิธีนี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

แผ่นแปะคุมกำเนิด

แผ่นแปะคุมกำเนิดประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินเช่นเดียวกับยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม แต่ฮอร์โมนดังกล่าวจะถูกดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดแทนการรับประทาน ส่งผลให้ร่างกายยับยั้งการตกไข่และทำให้เยื่อเมือกบริเวณปากมดลูกก่อตัวหนาขึ้นเพื่อขัดขวางไม่ให้อสุจิปฏิสนธิกับไข่

ข้อดีและข้อเสียของแผ่นแปะคุมกำเนิด

ผู้ใช้ควรพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของการคุมกำเนิดแต่ละวิธี เพื่อเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด ข้อดีของแผ่นแปะคุมกำเนิด มีดังนี้

  • มีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
  • เปลี่ยนแผ่นแปะเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่างกับยาคุมกำเนิดที่ต้องรับประทานทุกวัน
  • เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนยาเม็ด
  • ฝ่ายชายไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย
  • แผ่นคุมกำเนิดจะปล่อยฮอร์โมนออกมาควบคุมการตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ
  • หากต้องการตั้งครรภ์ สามารถนำแผ่นแปะคุมกำเนิดออกได้ทันที และจะกลับเข้าสู่ภาวะเจริญพันธุ์ได้ตั้งแต่หยุดใช้
  • อาจช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติและปวดประจำเดือนน้อยลง รวมถึงช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น คัดตึงเต้านมคัดตึง อ่อนล้า อารมณ์แปรปรวน เป็นต้นน
  • อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก และมะเร็งลำไส้
  • อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก ก้อนเนื้อที่เต้านม และซีสต์ที่รังไข่

อย่างไรก็ตาม แผ่นแปะคุมกำเนิดไม่อาจช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และอาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกาย ดังนี้

  • รู้สึกเจ็บแสบ คัน หรือระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่ติดแผ่นแปะคุมกำเนิด
  • มีอาการปวดศรีษะ คลื่นไส้ เต้านมคัดตึง และมีอารมณ์แปรปรวน โดยอาการมักดีขึ้นเมื่อใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดได้ 2-3 เดือน
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดทีละมาก ๆ หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอย ซึ่งเกิดขึ้นได้เป็นปกติในระยะแรกที่เริ่มใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

แม้ว่าการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง ทว่าการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก อีกทั้งเสี่ยงต่อภาวะเลือดจับตัวเป็นลิ่ม โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีแรกที่ใช้ ซึ่งหากมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด อาจส่งผลให้หัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดในสมองตีบตันได้ และยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นหากมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เป็นโรคเส้นเลือดขอดชนิดรุนแรง หรือมีคนในครอบครัวมีภาวะหลอดเลือดดำอุดตันก่อนอายุ 45 ปี แพทย์จึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันและผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงใช้การคุมกำเนิดวิธีนี้

วิธีใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

แผ่นแปะคุมกำเนิด 1 กล่อง มี 3 แผ่น สำหรับใช้ 1 เดือน ให้ใช้สัปดาห์ละ 1 แผ่น ต่อเนื่องกัน 3 สัปดาห์ และงดใช้ในสัปดาห์ที่ 4 แพทย์มักแนะนำให้เริ่มใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดในวันแรกของประจำเดือนหรือภายใน 5 วันแรกตั้งแต่ประจำเดือนมา โดยติดทิ้งไว้บนผิวหนังบริเวณท้องช่วงล่าง ก้น หลัง หรือต้นแขนก็ได้ และควรเปลี่ยนตำแหน่งการติดทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนแผ่น หากติดแผ่นแรกในวันจันทร์ ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ในวันจันทร์ถัดไป เมื่อถึงวันจันทร์ของสัปดาห์ที่ 4 ให้ลอกแผ่นเก่าออกและหยุดใช้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยประจำเดือนจะเริ่มมาในสัปดาห์นี้ จากนั้นกลับไปเริ่มติดอีกครั้งเมื่อถึงวันจันทร์ถัดไป วิธีการติดแผ่นแปะคุมกำเนิดที่ถูกต้อง มีดังนี้

  • ล้างมือและผิวหนังบริเวณที่จะติดแผ่นแปะคุมกำเนิดให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่บริเวณดังกล่าว เพราะอาจทำให้กาวติดไม่สนิท
  • ดึงแผ่นพลาสติกใสที่ติดอยู่บนแผ่นออกเพียงซีกเดียว โดยระวังไม่ให้มือแตะโดนส่วนที่เป็นกาว
  • ติดแผ่นแปะคุมกำเนิดลงไปบนผิวหนัง จากนั้นค่อย ๆ ดึงพลาสติกใสอีกซีกออก พร้อมติดส่วนที่เหลือให้แนบสนิทกับผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เริ่มใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดหลังจากมีประจำเดือนไปแล้ว 5 วัน ควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นเสริมในช่วง 7 วันแรก เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น

ผู้ที่ไม่ควรใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

แผ่นแปะคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ค่อนข้างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรแจ้งประวัติการเจ็บป่วยให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งเพื่อพิจารณาถึงผลดีและผลเสียก่อนตัดสินใจใช้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้

  • มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปและสูบบุหรี่ หรือเลิกบุหรี่ได้ไม่ถึง 1 ปี
  • หญิงที่มีแนวโน้มตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ เพิ่งคลอดบุตร หรือกำลังให้นมบุตร
  • หญิงที่คลอดบุตรก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร
  • หญิงที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • มีระดับคอเลสเตอรอลสูง
  • กำลังรับประทานยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคลมชัก ยาต้านเชื้อเอชไอวี หรือยารักษาวัณโรค
  • มีปัญหาสุขภาพบางประการ ได้แก่ มะเร็งเต้านมหรือตรวจพบก้อนผิดปกติภายในเต้านม โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง โรคไมเกรนแบบมีอาการนำชนิดออรา โรคซึมเศร้า รวมถึงโรคผิวหนัง เช่น สะเก็ดเงิน กลาก เป็นต้น

ลืมเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิด ควรทำอย่างไร

การเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดไม่ตรงเวลาส่งผลให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ลดลง ซึ่งวิธีแก้ไขเมื่อลืมเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เกินกำหนด ดังนี้

  • เกินกำหนดน้อยกว่า 48 ชั่วโมง หรือติดแผ่นแปะคุมกำเนิดไว้ 8-9 วัน ให้รีบเปลี่ยนทันทีที่นึกได้ โดยคงกำหนดการเปลี่ยนแผ่นใหม่ไว้ดังเดิม และไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นเสริม
  • เกินกำหนดมากกว่า 48 ชั่วโมง หรือติดแผ่นแปะคุมกำเนิดไว้ 10 วันขึ้นไป ให้เปลี่ยนทันทีที่นึกได้ โดยเริ่มนับเป็นวันแรกที่ใช้ และปรับกำหนดการเปลี่ยนแผ่นถัดไปตามวันดังกล่าวใหม่ทั้งหมด นอกจากนั้น ควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นเสริมในช่วง 7 วันหลังจากเปลี่ยนแผ่นใหม่ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น

ทั้งนี้ หากลืมลอกแผ่นเก่าออกเมื่อครบกำหนดในสัปดาห์ที่ 4 ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ไม่ต้องติดแผ่นแปะคุมกำเนิด ให้ลอกออกทันทีที่นึกได้ และเริ่มแปะแผ่นใหม่เมื่อถึงกำหนดครั้งถัดไปตามปกติ

แผ่นแปะคุมกำเนิดหลุดควรทำอย่างไร

โดยปกติ แผ่นแปะคุมกำเนิดหลุดออกจากผิวหนังได้ค่อนข้างยาก มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ผู้ใช้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ เช่น เล่นกีฬา อาบน้ำ แช่น้ำร้อน ซาวน่า ว่ายน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ วิธีการแก้ไขเมื่อแผ่นแปะคุมกำเนิดหลุดขึ้นอยู่กับว่าแผ่นแปะหลุดออกมานานเพียงใด ดังนี้

  • หลุดไม่ถึง 24 ชั่วโมง อาจติดแผ่นแปะคุมกำเนิดเดิมให้เข้าที่หรือเปลี่ยนแผ่นใหม่ โดยคงกำหนดการเปลี่ยนแผ่นถัดไปไว้ดังเดิม
  • หลุดมานานกว่า 24 ชั่วโมง หรือไม่ทราบเวลาแน่ชัด ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ทันที โดยเริ่มนับเป็นวันแรกที่ใช้ และปรับกำหนดการเปลี่ยนแผ่นถัดไปตามวันดังกล่าวใหม่ทั้งหมด นอกจากนั้น ควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นเสริมในช่วง 7 วันหลังจากเปลี่ยนแผ่นใหม่ด้วย