ยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pill) เป็นยารับประทานที่ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์หลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้คุมกำเนิด เกิดความผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ถุงยางอนามัยฉีกขาด ฝ่ายหญิงลืมรับประทานยาคุมกำเนิด หรือแม้กระทั่งการถูกข่มขืนกระทำชำเรา ผู้หญิงควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน โดยตัวยาจะส่งผลยับยั้งหรือชะลอการตกไข่ รวมไปถึงสร้างเมือกที่บริเวณปากมดลูกเพื่อป้องกันไม่ให้สเปิร์มเข้าไปผสมกับไข่ได้
ยาคุมฉุกเฉินจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์หากรับประทานทันทีหลังการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน แต่ไม่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดการแท้งในผู้ที่ตั้งครรภ์แล้ว และไม่ก่อให้เกิดความพิการต่อทารกในครรภ์
โดยทั่วไป ยาคุมฉุกเฉินควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมง (3 วัน) เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด โดยมี 2 แบบ คือ ยาคุมฉุกเฉิน 1.5 มิลลิกรัม ที่ต้องรับประทาน 1 เม็ดทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และยาคุมฉุกเฉิน 0.75 มิลลิกรัม ที่ต้องรับประทาน 1 เม็ดทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และรับประทานอีก 1 เม็ดหลังผ่านไป 12 ชั่วโมง
เกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
กลุ่มยา | ยาคุมกำเนิด |
ประเภทยา | ยาที่หาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | ป้องกันการตั้งครรภ์ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
รับประทานยาคุมฉุกเฉินให้ถูกต้องตามวิธี และให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายหลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน โดยต้องไม่เกินกำหนดเวลาของยาแต่ละประเภท เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของยาต่อการป้องกันการตั้งครรภ์ลดลง เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้
คำเตือนของการใช้ยาคุมฉุกเฉิน
- อาจมีผลข้างเคียงทำให้ป่วยในระยะสั้น ๆ เช่น วิงเวียน หน้ามืดตาลาย อ่อนล้า ปวดหัว ปวดท้อง ปวดเต้านม แต่หากอาการยังคงอยู่เป็นเวลานานหลายวัน หรือมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง ควรไปพบแพทย์ทันที
- ในบางรายอาจทำให้ประจำเดือนมากระปริบกระปรอย มาล่าช้า หรือมาก่อนกำหนด หากประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด 7 วัน ควรตรวจการตั้งครรภ์
- การรับประทานยาคุมฉุกเฉินอย่างถูกวิธีจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ไม่ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินเป็นประจำ ควรใช้ยาเพื่อคุมกำเนิดในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น หากมีความจำเป็นต้องคุมกำเนิด ในระยะยาวควรเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น หรือปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
ปริมาณการใช้ยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมฉุกเฉิน แบบ 1 แผง มี 2 เม็ด ปริมาณ 0.75 มิลลิกรัม - รับประทาน 1 เม็ด ทันที หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วรับประทานอีก 1 เม็ด ใน 12 ชั่วโมงถัดมา ภายใน 72 ชั่วโมง (3 วัน) หลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน
ยาคุมฉุกเฉินแบบแผงมี 1 เม็ด ปริมาณ 1.5 มิลลิกรัม - รับประทานทันที หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภายใน 72 ชั่วโมง (3 วัน) หลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน
การใช้ยาคุมฉุกเฉิน
เพื่อประสิทธิผลสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันทีหลังการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน แต่ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเพื่อคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง เพราะยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพป้องกันการตั้งครรภ์ได้ไม่ดีเท่าการคุมกำเนิดประเภทอื่น นอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการสะสมฮอร์โมนในร่างกายมากเกินความจำเป็น อาจส่งผลกระทบเป็นอาการป่วยต่าง ๆ ตามมา
กลุ่มผู้ป่วยไมเกรน หรือมีอาการป่วยเกี่ยวกับหัวใจ ตับ และผู้ที่กำลังให้นมบุตรก็สามารถใช้ยาคุมฉุกเฉินได้เช่นกัน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมฉุกเฉิน
โดยปกติ มักไม่พบผลข้างเคียงที่เรื้อรังหรือเป็นอันตรายของการใช้ยาคุมฉุกเฉิน แต่ในบางครั้งอาจพบอาการข้างเคียงที่ปรากฏในระยะสั้น ๆ บ้างเล็กน้อย เช่น
- ปวดท้อง
- ปวดหัว
- ปวดหน้าอก
- รู้สึกป่วย ร่างกายอ่อนล้า
- ประจำเดือนมาผิดปกติหรือมีเลือดไหลก่อนถึงรอบประจำเดือน
ส่วนกลุ่มอาการผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก ได้แก่ หน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หากมีอาการป่วยที่รุนแรงขึ้น หรือประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนดเกินกว่า 7 วัน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาและตรวจการตั้งครรภ์