วิธีคุมกำเนิดมีกี่แบบ เลือกคุมกำเนิดแบบไหนดี

การคุมกำเนิดจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ และวิธีคุมกำเนิดบางวิธียังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Diseases: STDs) ได้ด้วย แต่การคุมกำเนิดนั้นมีอยู่หลากหลายวิธี ทำให้บางคนอาจสับสนกับการเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดอยู่ไม่น้อย

การเลือกวิธีคุมกำเนิดจำเป็นต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เพราะแต่ละวิธีมีกลไกการป้องกัน ประสิทธิภาพและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน การทราบถึงความแตกต่างและข้อจำกัดของการคุมกำเนิดแต่ละวิธีจะช่วยให้คุณเลือกวิธีการคุมกำเนิดได้อย่างเหมาะสม และป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีคุมกำเนิดมีกี่แบบ เลือกคุมกำเนิดแบบไหนดี

ข้อคำนึงก่อนเลือกใช้วิธีคุมกำเนิด

ปัจจัยที่ต้องคำนึงก่อนตัดสินใจเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดแต่ละวิธี ได้แก่

  • สุขภาพร่างกายโดยรวม
  • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
  • ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด
  • ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์
  • จำนวนคู่นอน
  • ความสะดวกสบายในการใช้งาน
  • ความต้องการหรือความพร้อมในการมีบุตร เช่น ไม่ต้องการมีบุตรในเร็ว ๆ ยังไม่พร้อมมีบุตร หรือไม่ต้องการมีบุตรเลย

วิธีคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง 

วิธีคุมกำเนิดที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมีอยู่หลากหลายวิธี ดังนี้

1. ยาคุมชนิดฮอร์โมน (Hormonal Methods)

การใช้ยาคุมเป็นวิธีคุมกำเนิดที่คุ้นเคยกันดี มีอยู่หลายรูปแบบ อาทิ

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive Pill: COCP)

เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ประกอบไปด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองชนิดจะช่วยยับยั้งการตกไข่และเพิ่มความหนืดบริเวณปากมดลูก ทำให้อสุจิไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิได้

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมจำเป็นจะต้องรับประทานจนหมดแผงหรือใช้ควบคู่ไปกับการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะอยู่ประมาณ 91%

นอกจากนี้ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมยังนำมาใช้ประโยชน์อื่น ๆ นอกจากการคุมกำเนิดด้วย เช่น ลดการเกิดสิว บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยปรับให้ประจำเดือนมาในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับคนที่มีประจำเดือนมาน้อยหรือมากผิดปกติ รวมถึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ โรคมะเร็งมดลูก และโรคมะเร็งรังไข่

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น มีเลือดออกกะปริดกะปรอย คลื่นไส้ ปวดหัวหรือคัดตึงเต้านม สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เคยป่วยด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตัน มะเร็งเต้านม หรือสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestin-Only Pills: POP)

เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เพียงตัวเดียว เหมาะกับคนที่รับฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้ คนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อน ถุงยางฉีกขาดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และบางชนิดอาจใช้กับคนที่ต้องการคุมกำเนิดฉุกเฉิน

โดยประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จะอยู่ประมาณ 91% ผู้ใช้ควรรับประทานยาภายในเวลา 5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ และต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนหมดแผง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งควรใช้ควบคู่กับถุงยางอนามัยหรือวิธีคุมกำเนิดอื่น เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มักพบได้ เช่น อาการคัดตึงเต้านม เกิดจุดด่างดำ ประจำเดือนมาผิดปกติ หากรับประทานเป็นประจำอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ปวดท้อง ปวดหัว หรือรู้สึกไม่สบาย

ยาคุมกำเนิดแบบฝัง (Contraceptive Implant)

การฝังยาคุมเป็นการฝังอุปกรณ์ขนาดเล็กไว้ใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขน ใช้เวลาไม่นาน และอาจทำให้เจ็บเล็กน้อยระหว่างการฝัง ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะปล่อยฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสตินเข้าสู่ร่างกายทีละน้อยเพื่อยับยั้งการตกไข่ เพิ่มความหนืดบริเวณปากมดลูก หรือทำให้เยื่อบุมดลูกฝ่อจนอสุจิไม่สามารถปฏิสนธิได้สำเร็จ โดยจะเหมาะกับคนที่ไม่สามารถรับฮอร์โมนเอสโตรเจนได้

ยาคุมกำเนิดแบบฝังควรฝังภายในวันแรกของการมีประจำเดือนหรือภายใน 5 วันนับจากวันที่เริ่มมีประจำเดือน ตัวยาจะออกฤทธิ์ทันทีหลังการฝังและอาจคุมกำเนิดได้นานประมาณ 3–5 ปี โดยประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จะอยู่ประมาณ 99% และสามารถนำอุปกรณ์ออกจากร่างกายได้ตามที่ผู้ฝังต้องการ

อย่างไรก็ตาม วิธีคุมกำเนิดนี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และอาจเกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน เช่น น้ำหนักเพิ่ม คลื่นไส้ ปวดหัว เจ็บหน้าอก หรือเกิดภาวะถุงน้ำในรังไข่

ยาคุมกำเนิดแบบแผ่นแปะ (Transdermal Contraceptive) 

ยาคุมในรูปแบบแผ่นแปะจะมีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งช่วยป้องกันการตกไข่และการปฏิสนธิ โดยฮอร์โมนดังกล่าวจะซึมผ่านผิวหนังและเข้าสู่กระแสเลือด จึงเหมาะกับคนที่ไม่สามารถกลืนยาได้ โดยประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงกว่า 91%

แผ่นแปะคุมกำเนิดสามารถแปะไว้บริเวณต้นแขน ท้องส่วนล่าง หลัง ก้นหรือสะโพก แต่ควรหลีกเลี่ยงการแปะบริเวณเต้านม สามารถอาบน้ำหรือออกกำลังกายโดยไม่ต้องกลัวหลุดลอก อย่างไรก็ตาม ควรเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดตามคำแนะนำที่อยู่บนฉลาก เนื่องจากตัวยาในแผ่นแปะจะหมดฤทธิ์ลง

ทั้งนี้ วิธีคุมกำเนิดแบบแผ่นแปะนั้นไม่เหมาะกับคนที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่สูบบุหรี่หรือมีอายุมากกว่า 35 ปี เพราะประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของแผ่นแปะอาจลดลง อีกทั้งควรใช้ควบคู่กับการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เช่นเดียวกับวิธีคุมกำเนิดแบบอื่นๆ ยาคุมกำเนิดแบบแผ่นแปะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงเต้านม เกิดผื่นหรือรอยแดงในบริเวณที่แปะ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องประจำเดือนหรืออารมณ์แปรปรวน

ยาคุมกำเนิดแบบฉีด (Contraceptive Injection)

ยาคุมกำเนิดแบบฉีดในประเทศไทยจะนิยมใช้ชนิดที่มีฮอร์โมนโพรเจสตินอย่างเดียว แพทย์หรือพยาบาลจะฉีดยาคุมกำเนิดบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขนหรือบั้นท้าย ทุก ๆ 12–14 สัปดาห์ และสามารถฉีดได้แม้อยู่ในช่วงให้นมบุตร

การฉีดยาคุมจะช่วยป้องกันการตกไข่ในแต่ละเดือนและเพิ่มความหนืดบริเวณปากมดลูกมากขึ้น โดยประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะอยู่ประมาณ 94% อีกทั้งยังช่วยให้ปวดประจำเดือนน้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม ควรใช้ร่วมกับถุงยางอนามัยควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การคุมกำเนิดวิธีนี้เหมาะกับคนที่ต้องการหลีกเลี่ยงการรับฮอร์โมนเอสโตรเจน ป่วยด้วยภาวะโลหิตจาง ชัก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคเนื้องอกมดลูก หรือโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว แต่ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการมีบุตรภายในช่วง 1 ปีหลังหยุดการฉีด

สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากฉีดยาคุม เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ ท้องอืด ปวดหัว อารมณ์แปรปรวน เจ็บหรือคัดตึงเต้านม และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

2. การคุมกำเนิดโดยวิธีขวางกั้น (Barrier Methods)

วิธีคุมกำเนิดรูปแบบนี้เป็นการใช้อุปกรณ์ขวางไม่ให้อสุจิเคลื่อนตัวไปหาไข่ได้ และอาจช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เช่น

ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย

ถุงยางอนามัยจะช่วยรองรับและป้องกันอสุจิเคลื่อนตัวไปปฏิสนธิกับไข่ขณะมีเพศสัมพันธ์ ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะอยู่ที่ 82% และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เกือบ 100% แต่ควรเลือกขนาดที่พอดีกับองคชาต และทิ้งทันทีหลังใช้เสร็จ ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ ในบางคนพบว่าการใช้ถุงยางอนามัยยังอาจกระตุ้นอาการแพ้ยางได้

ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง

ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงสามารถสอดเข้าทางช่องคลอดได้ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 8 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ประมาณ 79%

หมวกครอบปากมดลูก (Cervical Cap)

ผลิตจากยาง มีความนิ่มและยืดหยุ่นได้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ประมาณ 71–88% โดยให้สวมก่อนมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันอสุจิเคลื่อนตัวไปปฏิสนธิกับไข่ และปล่อยทิ้งไว้อย่างน้อย 6 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม หมวกครอบปากมดลูกอาจหลุดจากตำแหน่งเดิมได้ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

ฟองน้ำคุมกำเนิด (Contraceptive Sponge)

เป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicides) สอดไว้ในช่องคลอด ซึ่งจะมีประสิทธิภาพให้การป้องกันการตั้งครรภ์ภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังสอดเข้าไปในร่างกาย และผู้ใช้ควรค้างฟองน้ำเอาไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอสุจิและให้ยาออกฤทธิ์ในการฆ่าอสิจิได้อย่างเต็มที่ โดยประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์จะอยู่ที่ 76–88%

ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicides)

ตัวยาจะช่วยกำจัดเชื้ออสุจิที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางช่องคลอด มีทั้งรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ยาเหน็บ เจลหรือโฟม โดยประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์จะอยู่ที่ 72%

การยาฆ่าเชื้ออสุจิเพียงอย่างเดียวมักป้องกันการตั้งครรภ์ได้ไม่ดี จึงควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย และใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ การใช้ยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองภายในช่องคลอดหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้

3. ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (Intrauterine Device: IUD)

วิธีคุมกำเนิดด้วยการใช้ห่วงอนามัยเป็นการใช้อุปกรณ์ขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายตัว T สอดเข้าไปในบริเวณมดลูก เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน แม่ที่กำลังให้นมบุตรและผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หากใช้ทุกขั้นตอนอย่างถูกวิธีจะมีประสิทธิภาพป้องกันการตั้งครรภ์ได้เกือบ 100% โดยห่วงคุมกำเนิดที่ใช้ในปัจจุบันมีด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่

  • ห่วงอนามัยแบบมีฮอร์โมน มีส่วนประกอบของฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ ปริมาณยามีหลายขนาดขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ต้องการคุมกำเนิด โดยตัวยาปริมาณ 13.5 มิลลิกรัมจะคุมกำเนิดได้นาน 3 ปี ตัวยาปริมาณ 19.5 มิลลิกรัมคุมกำเนิดได้นาน 5 ปี และตัวยาปริมาณ 52 มิลลิกรัมคุมกำเนิดได้ไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • ห่วงอนามัยแบบหุ้มทองแดง ห่วงชนิดนี้จะค่อย ๆ ปล่อยประจุออกทีละน้อยเพื่อป้องกันการปฏิสนธิของอสุจิและไข่ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 3–10 ปี

ทั้งนี้ คนที่ไม่ควรคุมกำเนิดด้วยการใช้ห่วงอนามัย ได้แก่ กำลังตั้งครรภ์หรือมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะเลือดออกผิดปกติจากมดลูก มีอาการหรือเคยป่วยจากภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลัน และเคยมีภาวะแท้งติดเชื้อภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน มดลูกได้รับความเสียหายหรือเกิดเชื้อราในช่องคลอดได้

4. การคุมกำเนิดถาวร (Permanent Methods)

วิธีคุมกำเนิดอย่างถาวรหรือการทำหมันจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้เกือบ 100% จึงเหมาะกับคนที่ไม่ต้องการมีบุตรอีกแล้วในอนาคต สามารถทำได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง

หากเป็นเพศหญิง แพทย์จะผ่าตัดเพื่อผูกหรือปิดท่อนำไข่เพื่อไม่ให้ไข่ไปปฏิสนธิกับอสุจิที่เข้ามาในร่างกาย โดยผู้ที่รับการผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน และใช้เวลาพักฟื้นเพียง 2–3 วันก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ส่วนเพศชาย แพทย์จะผ่าตัดเพื่อตัดหรือปิดทางเดินท่ออสุจิ ทำให้อสุจิไม่สามารถออกไปปฏิสนธิกับไข่ได้ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกันและใช้เวลาฟื้นตัวเพียงไม่นานเช่นนั้น แต่อาจต้องเข้ามาตรวจเช็คปริมาณอสุจิ

ภายหลังการผ่าตัดอาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ เช่น มีอาการบวม อักเสบ ช้ำหรือติดเชื้อบริเวณที่รับการผ่าตัด หากสังเกตเห็นความผิดปกติดังกล่าวควรพบแพทย์ทันที อย่างไรก็ตาม การคุมกำเนิดถาวรเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้ ยังมีวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ เช่น

  • การนับวันตกไข่เพื่อหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วยหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ในวันดังกล่าว
  • การใช้ห่วงทองแดงคุมกำเนิดฉุกเฉินที่จะต้องสอดห่วงเข้าสู่ร่างกายภายใน 5 วันหลังจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันหรือถุงยางฉีกขาดระหว่างมีเพศสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกวิธีคุมกำเนิดใด ๆ มาใช้ ควรมีความรู้ความเข้าใจอย่างดีเสียก่อน และอาจปรึกษาแพทย์สูตินารีเวชเพื่อการคุมกำเนิดได้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามการวางแผนครอบครัว และไม่กระทบต่อโรคประจำตัว เพราะหากใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างผิดวิธีหรือไม่ระมัดระวัง อาจเพิ่มความโอกาสในการตั้งครรภ์หรือสุขภาพในด้านอื่น ๆ ได้