แพ้ยาง

ความหมาย แพ้ยาง

แพ้ยาง (Latex allergy) เป็นคำที่ใช้เรียกอาการผิดปกติ อย่างผื่นแดง คัน น้ำมูกไหล หรือหายใจลำบาก ที่เกิดขึ้นหลังจากร่างกายสัมผัสกับวัตถุที่มียางเป็นส่วนประกอบ อาการแพ้ยางมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อสารบางอย่างในยางมากผิดปกติ

โดยอาการแพ้ยางนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในเบื้องต้นหากมีอาการที่ไม่รุนแรงอาจใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ในบางรายอาจเกิดอาการแพ้ที่รุนแรงที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับวัตถุที่ทำจากยาง

แพ้ยาง

อาการแพ้ยาง

อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากสัมผัสกับยางอาจแบ่งได้ 3 สาเหตุ ดังนี้

  • ผื่นจากสารระคายสัมผัส (Irritant contact dermatitis)
    อาการทางผิวหนังจากผื่นจากสารระคายสัมผัสอาจไม่จัดว่าเป็นอาการแพ้ มักเกิดจากการสัมผัสสารเคมีซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน จนอาจทำให้เกิดอาการคัน ผิวแห้ง ผิวไหม้ หรือแผลพุพอง
  • ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis)
    ผื่นแพ้สัมผัสมีลักษณะอาการคล้ายกับผื่นจากสารระคายสัมผัส แต่จะมีความรุนแรงมากกว่า สามารถเกิดอาการได้ทั้งส่วนที่สัมผัสกับสารเคมีโดยตรงและส่วนอื่นๆ ตามร่างกาย อาการมักเกิดหลังจากมีการสัมผัสไปแล้วหลายวัน
  • อาการแพ้ยาง
    อาการนี้เป็นอาการที่เกิดจากการแพ้ยางโดยตรง ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของผิวหนัง โดยอาการและความรุนแรงอาจขึ้นอยู่กับช่องทางและปริมาณที่ร่างกายสัมผัส ซึ่งการสัมผัสกับยางผ่านทางผิวหนังอาจทำให้เกิดผื่นแดงคันและลมพิษได้ ส่วนการสูดดม อาจส่งผลให้น้ำมูกไหล ไอ จาม น้ำตาไหล หายใจลำบาก คันคอ และหายใจมีเสียงหวีด นอกจากนี้ อาการแพ้ยางโดยตรงนั้นค่อนข้างอันตราย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของอาการแพ้ยาง

โดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันมีหน้าที่ปกป้องร่างกายด้วยการกำจัดสารแปลกปลอมที่เป็นอันตราย สำหรับอาการแพ้ยางเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่เข้าใจว่าโปรตีนหรือสารที่เป็นส่วนประกอบของยางธรรมชาตินั้นเป็นอันตราย จึงกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองเพื่อกำจัดสารดังกล่าวส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา 

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ การสัมผัสกับวัตถุที่ทำจากยางทางผิวหนังโดยตรง เช่น ถุงมือยาง ลูกโป่ง หรือถุงยางอนามัย เป็นต้น อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการสูดดมสารเคมีอย่างผงแป้งของถุงมือยางที่ฟุ้ขณะสวมใส่ 

ทั้งนี้ ประชากรบางส่วนอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ยางได้สูงกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้ที่มีประวัติแพ้อาหาร บุคลากรทางการแพทย์หรืออุตสาหกรรมที่สัมผัสวัสดุยางจากเครื่องมืออยู่เป็นประจำ ผู้ป่วยที่มีโรคกระดูกไขสันหลังบอกพร่องแต่กำเนิด เป็นต้น

การวินิจฉัยอาการแพ้ยาง

แพทย์จะสอบถามอาการของผู้ป่วยและตรวจร่างกายโดยละเอียด รวมถึงซักประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว หากสงสัยว่ามีอาการแพ้ยาง แพทย์อาจส่งตรวจ Skin prick test ซึ่งเป็นการทดสอบหาชนิดของสารก่อภูมิแพ้ทางผิวหนังเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ในบางกรณีแพทย์อาจส่งตรวจเลือดเพื่อตรวจหาแอนติบอดีที่เกี่ยวข้องกับโรค

การรักษาอาการแพ้ยาง

อาการแพ้ยางไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากเกิดอาการแพ้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) เพื่อลดอาการบางอย่าง เช่น อาการไอ จาม น้ำมูกไหล เป็นต้น หรืออาจใช้ยาที่มีส่วนประกอบของเสตียรอยด์เพื่อควบคุมอาการอื่นๆ  

หากมีอาการแพ้รุนแรงควรรีบนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้รุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยา Epinephine หรืออะดรีนาลีนในรูปแบบปากกาพร้อมฉีดเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการแพ้ยาง

ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis) เป็นภาวะแทรกซ้อนอันตรายซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน  ปฏิกิริยาดังกล่าวอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีจนถึงหลายชั่วโมงหลังการสัมผัส โดยส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผื่นตามร่างกาย มีภาวะบวมโดยเฉพาะใบหน้า ริมฝีปาก และคอ หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตลดลง หน้ามืด ชีพจรเต้นผิดปกติ สับสน หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ อาการแพ้ยางอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของผู้ป่วยบางอาชีพที่สัมผัสกับผลิตภัณฑ์จากยางอยู่เป็นประจำ

การป้องกันอาการแพ้ยาง

แม้ว่าอาการแพ้จะไม่สามารถรักษาได้ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับยาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เช่น หนังยาง ลูกโป่ง ยางลบ หรือถุงมือยาง เป็นต้น ในกรณีที่จำเป็นต้องสัมผัส อาจปรึกษาแพทย์และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางสังเคราะห์ อย่างพอลิไอโซพรีน (Polyisoprene) หรือโพลียูรีเทน (Polyurethane) ทั้งนี้ ควรล้างมือด้วยสบู่อ่อนและเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับยางเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้