แมคคาเดเมีย ประโยชน์ พิชิตโรค

แมคคาเดเมีย เป็นเมล็ดพันธุ์พืชที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร แร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด รวมถึงไขมันไม่อิ่มตัวและสารประกอบโพลีฟีนอล (Pholyphenol) เชื่อกันว่าแมคคาเดเมียอาจมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น ช่วยลดระดับไขมันชนิดไม่ดี (LDL Cholesterol) ต้านเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

แมคคาเดเมีย

แมคคาเดเมียมักถูกนำมาอบแห้งเป็นขนมทานเล่น หรือใช้เป็นส่วนผสมในขนมหลากชนิด เช่น เค้ก คุกกี้ หรือไอศกรีม ซึ่งแมคคาเดเมียอบแห้งปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานสูงถึง 718 แคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารโภชนาการที่มีประโยชน์มากมาย หลายคนจึงนิยมรับประทานแมคคาเดเมีย เพราะเชื่อว่านอกจากรสชาติอร่อยที่ปรุงแต่งในอาหาร แมคคาเดเมียอาจมีประโยชน์ต่อร่างกาย บำรุงสุขภาพ และรักษาหรือป้องกันโรคบางชนิดได้ด้วย

ในปัจจุบันมีข้อพิสูจน์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ต่าง ๆ ของแมคคาเดเมียไว้ดังต่อไปนี้

ช่วยลดระดับไขมันชนิดไม่ดีในเลือด หากร่างกายมีระดับไขมันชนิดไม่ดีอยู่ในเลือดปริมาณมาก อาจเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ซึ่งแมคคาเดเมียมีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวอยู่มาก จึงเชื่อว่าการรับประทานแมคคาเดเมียอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งยังช่วยควบคุมและลดระดับไขมันชนิดไม่ดีในเลือดได้ด้วย

มีงานวิจัยหนึ่งแบ่งผู้ทดลองซึ่งเป็นนักเรียนหญิงที่มีสุขภาพดีออกเป็น 3 กลุ่ม จากนั้นให้แต่ละกลุ่มบริโภคอาหารที่แตกต่างกัน ได้แก่ อาหารที่มีส่วนผสมของแมคคาเดเมีย มะพร้าว และเนย หลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์พบว่า ปริมาณของไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันชนิดไม่ดีในเลือดของกลุ่มที่บริโภคแมคคาเดเมียและกลุ่มที่บริโภคมะพร้าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยน้ำหนักตัวและดัชนีมวลกายของกลุ่มที่บริโภคแมคคาเดเมียก็ลดลงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ด้วย

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งให้ผู้ชายที่อายุเฉลี่ย 54 ปี จำนวน 17 คนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงบริโภคแมคคาเดเมียปริมาณ 40-90 กรัม/วัน นาน 4 สัปดาห์ พบว่าแมคคาเดเมียช่วยปรับระดับไขมันต่าง ๆ ในเลือดของผู้ทดลองได้ ด้วยการลดระดับไขมันชนิดไม่ดี และเพิ่มปริมาณไขมันชนิดที่ดี (HDL Cholesterol)

นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งแบ่งผู้ทดลองที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจำนวน 25 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยให้กลุ่มแรกบริโภคอาหารที่มีแมคคาเดเมีย และให้อีกกลุ่มบริโภคอาหารอเมริกันทั่วไปเป็นเวลา 5 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่าปริมาณไขมันชนิดไม่ดีในกลุ่มผู้ที่บริโภคอาหารที่มีแมคคาเดเมียลดลงมากกว่ากลุ่มที่บริโภคอาหารอีกชนิด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าแมคคาเดเมียอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วยการลดระดับไขมันดังกล่าว  

แม้ผลลัพธ์จากงานวิจัยเหล่านี้จะชี้ว่า การบริโภคแมคคาเดเมียอาจช่วยลดระดับไขมันชนิดไม่ดีในเลือดได้ แต่งานวิจัยบางชิ้นเป็นเพียงการศึกษาระยะสั้น บางงานก็ศึกษาในกลุ่มคนอเมริกาหรือกลุ่มคนจำนวนน้อยที่จำกัดบางช่วงอายุเท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปประสิทธิผลของแมคคาเดเมียในด้านนี้ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ควรค้นคว้าวิจัยโดยศึกษาระยะยาวในกลุ่มทดลองที่หลากหลายมากขึ้นต่อไป จนกว่าจะพบหลักฐานทางการแพทย์ที่แน่ชัดเพียงพอ

ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะและโรคติดเชื้อต่าง ๆ แมคคาเดเมียมีสารประกอบมากมายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงคาดว่าสารเหล่านั้นอาจทำให้แมคคาเดเมียมีสรรพคุณต้านโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้

โดยมีงานวิจัยหนึ่งนำพืช 40 สายพันธุ์มาสกัดสารธรรมชาติกว่า 106 ชนิด แล้วศึกษาปฏิกิริยาต่อเชื้อแบคทีเรียในห้องทดลอง พบว่าสารสกัดจากแมคคาเดเมียเป็น 1 ในสาร 65 ชนิดที่มีความเป็นพิษต่ำ และยังอาจต้านเชื้อแบคทีเรียตระกูลโปรเตียส (Proteus) ที่อาจกระตุ้นให้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์กำเริบได้ โดยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าแมคคาเดเมียสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียในมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือปลอดภัยเพียงใด ดังนั้น ควรศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมและทดลองใช้แมคคาเดเมียเพื่อต้านเชื้อแบคทีเรียในมนุษย์ต่อไป เพื่อยืนยันสมมติฐานด้านนี้ให้ชัดเจน และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียในอนาคต

ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็น 1 ใน 5 โรคมะเร็งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งโรคนี้มักทำให้เกิดความผิดปกติในระบบขับถ่าย และอาจเกิดจากการรับประทานอาหารบางชนิดอย่างอาหารที่มีเส้นใยอาหารต่ำ หลายคนจึงรักษาสุขภาพตนเองโดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีเส้นใยอาหารอย่างแมคคาเดเมีย โดยมีงานวิจัยบางส่วนศึกษาพบว่าแมคคาเดเมียอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน

งานวิจัยหนึ่งที่นำแมคคาเดเมียไปย่อยและหมักในห้องทดลองเพื่อจำลองการบริโภคและการย่อยอาหารในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ พบว่าแมคคาเดเมียช่วยเพิ่มปริมาณสารบิวไทเลต (Butyrate) ที่อาจช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เพราะบิวไทเลตเป็นกรดไขมันสายสั้นชนิดหนึ่งที่ช่วยปกป้องเซลล์ลำไส้ปกติและอาจหยุดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ได้เมื่อมีสารนี้ในปริมาณมาก

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น ดังนั้น การยืนยันสมมติฐานในด้านนี้อาจต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้น และค้นคว้าวิจัยโดยทดลองในมนุษย์เพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์

บริโภคแมคคาเดเมียอย่างไรให้ปลอดภัย ?

สำหรับคนส่วนใหญ่ การบริโภคแมคคาเดเมียในรูปแบบอาหารอาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ และหากต้องการบริโภคเพื่อลดคอเลสเตอรอลในร่างกาย ควรบริโภคในปริมาณเดียวกับในงานวิจัย คือ 40-90 กรัม/วัน แต่ปริมาณดังกล่าวก็อาจทำให้ร่างกายได้รับแคลอรี่สูงจากไขมันตามไปด้วย อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันความปลอดภัยในการรับประทานแมคคาเดเมียในปริมาณมากได้อย่างชัดเจน ผู้บริโภคจึงควรรับประทานแมคคาเดเมียอย่างระมัดระวัง หรือปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรับประทานแมคคาเดเมียให้เหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของตน โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง ดังต่อไปนี้

  • ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอาจบริโภคแมคคาเดเมียในรูปแบบอาหารได้อย่างปลอดภัย แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมากเพื่อหวังสรรพคุณทางยา เพราะยังไม่มีการศึกษาใดยืนยันความปลอดภัยของแมคคาเดเมียต่อเด็กเกิดใหม่หรือทารกในครรภ์ได้อย่างชัดเจน
  • แพ้อาหาร แม้การแพ้แมคคาเดเมียจะพบได้น้อยมาก แต่ผู้บริโภคก็ควรระมัดระวัง และหากมีอาการผิดปกติหลังรับประทานแมคคาเดเมีย เช่น มีผื่นขึ้น ตาบวม หายใจดังหวีด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที