ข้อควรรู้ก่อนฝังยาคุม ทางเลือกหนึ่งของการคุมกำเนิด

การฝังยาคุมเป็นวิธีการคุมกำเนิดวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นการคุมกำเนิดที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง และสามารถคุมกำเนิดได้นาน แต่การฝังยาคุมกำเนิดก็มีความเสี่ยงหรือข้อจำกัดบางประการที่อาจไม่เหมาะกับคนที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง บทความนี้จะอธิบายถึงข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจฝังยาคุมเพื่อประกอบการตัดสินในการเลือกวิธีคุมกำเนิด

การฝังยาคุมจะเป็นการฝังแท่งพลาสติกขนาดเล็กที่บรรจุฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขน ซึ่งฮอร์โมนโปรเจสตินจะค่อย ๆ ออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายของผู้ที่ฝังยาคุมไม่พร้อมต่อการปฏิสนธิ เช่น ยับยั้งการตกไข่ ช่วยให้เมือกบริเวณปากมดลูกหนาขึ้น ทำให้สเปิร์มเข้าไปผสมกับไข่ที่อยู่ในมดลูกได้ยาก รวมถึงช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อบางจนไม่สามารถเกิดการฝังตัวของไข่ได้ จึงช่วยป้องกันการตั้งครรภ์

ข้อควรรู้ก่อนฝังยาคุม ทางเลือกหนึ่งของการคุมกำเนิด

ข้อดีและประโยชน์ของการฝังยาคุม

การฝังยาคุมมีข้อดีและประโยชน์หลายประการ ดังต่อไปนี้

คุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุมได้เป็นระยะเวลานาน

การฝังยาคุมสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุด 99% ซึ่งเมื่อเทียบกับการฉีดยาคุมที่มีประสิทธิภาพประมาณ 94% และการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพประมาณ 91% จึงถือว่าการฝังยาคุมเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงมากเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น การฝังยาคุม 1 ครั้งจะมีประสิทธิภาพยาวนานมากถึง 3 ปี ทำให้ผู้ที่ฝังยาคุมสามารถหมดกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ได้เป็นระยะเวลานาน

สะดวกกว่าการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น

การฝังยาคุมทำให้เกิดความสะดวกในการคุมกำเนิดมากกว่าวิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น โดยเฉพาะการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด เพราะว่าไม่จำเป็นต้องรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน และไม่ต้องกังวลว่าถ้าหากลืมรับประทานยาจะเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ด้วย การฝังยาคุมจึงอาจเหมาะสมกับผู้ที่ไม่ต้องการความยุ่งยาก ไม่อยากพกยาติดตัวไปด้วยทุกที่ และไม่สามารถรับประทานยาเวลาเดิมได้ทุกวันนั่นเอง

ไม่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน

ยาคุมกำเนิดบางชนิดมีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แผ่นแปะคุมกำเนิด และห่วงคุมกำเนิด ซึ่งอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย แต่การฝังยาคุมเป็นการฝังตัวยาที่บรรจุฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงตัวเดียว จึงปลอดภัยสำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้วิธีการคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนได้

ปลอดภัยต่อผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตร

การฝังยาคุมสามารถทำหลังจากการคลอดลูกได้เลย โดยเฉพาะหากทำหลังจากการคลอดลูกภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ ยาคุมกำเนิดจะมีประสิทธิภาพทันทีโดยไม่ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มเติม ส่วนการฝังยาคุมหลังจากคลอดลูกเกิน 3 สัปดาห์จะต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น เช่น ถุงยางอนามัย ไปอีกประมาณ 7 วัน ในระหว่างที่รอยาคุมกำเนิดออกฤทธิ์ 

อย่างไรก็ตาม การฝังยาคุมมีความปลอดภัยต่อเด็กแรกเกิดที่ได้รับน้ำนมแม่ เนื่องจากตัวยาจะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำนมแม่ คุณแม่หลังคลอดจึงไม่ต้องกังวลหากต้องการที่จะฝังยาคุม

สามารถนำยาคุมที่ฝังออกได้ตลอดเวลา

หากช่วงที่ฝังยาคุมมีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงเกิดขึ้น หรือไม่ต้องการที่จะคุมกำเนิดแล้ว ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อนำยาคุมที่ฝังออกได้ตลอดเวลา ซึ่งหลังจากนำยาคุมที่ฝังออกไปแล้วก็มักจะไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ และสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ

ความเสี่ยงและข้อควรรู้ก่อนเลือกฝังยาคุม

การฝังยาคุมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไปที่ไม่รุนแรง โดยอาจพบได้ในช่วงแรกของการฝังยาคุม เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยอาจจะมามากหรือน้อยกว่าปกติ ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนขาด รวมถึงอาจมีน้ำหนักขึ้น ปวดศีรษะ เป็นสิว เจ็บเต้านม หรือมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่เดือน 

ในบางกรณีก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและควรไปพบแพทย์ เช่น บริเวณที่ฝังยาคุมเกิดอาการระคายเคือง กลายเป็นแผลเป็น ติดเชื้อ เกิดอาการบาดเจ็บที่เส้นประสาทหรือหลอดเลือด รวมถึงเกิดภาวะลิ่มเลือดที่มีความรุนแรงได้ด้วย

นอกจากนี้ การฝังยาคุมอาจมีความเสี่ยงและข้อควรระวังเพิ่มเติม ได้แก่

  • การฝังยาคุมสามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่ฝังยาคุมไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะการสุบบุหรี่ในช่วงที่ฝังยาคุมอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด และสามารถนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงเกี่ยวกับปอด หัวใจ และสมองได้
  • ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่างอาจไม่เหมาะที่จะฝังยาคุม เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมลดลง หรืออาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ผู้ที่คาดว่าตนเองจะตั้งครรภ์ มีปัญหาเกี่ยวกับลิ่มเลือด มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นโรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งเต้านม จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้ประสิทธิภาพของการฝังยาคุมลดลง เช่น ยารักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ยารักษาโรคลมบ้าหมู และยาปฏิชีวนะบางชนิดอย่างยาไรฟาบูติน (Rifabutin) และยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม

นอกจากการฝังยาคุมแล้ว การคุมกำเนิดสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด รวมถึงการใช้ถุงยางอนามัย ก่อนคุมกำเนิดควรปรึกษาแพทย์ว่าวิธีการคุมกำเนิดแบบใดที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เพื่อให้สามารถคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อร่างกาย