คอแห้ง 10 สาเหตุและวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

คอแห้งเป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงมาก เช่น การอยู่ในสภาพอากาศที่แห้งและเย็น การดื่มน้ำไม่เพียงพอ และการใช้เสียงมาก หรืออาจเกิดจากอาการเจ็บป่วย เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคกรดไหลย้อน ไปจนถึงปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ และการใช้ยาบางชนิด

อาการคอแห้งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวัน หรือบางคนอาจมีอาการเฉพาะในเวลากลางคืน ซึ่งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คันคอ เจ็บคอ ปากแห้ง และกระหายน้ำ ทั้งนี้ การรักษาอาการคอแห้งอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ โดยทั่วไป อาการคอแห้งมักดีขึ้นหลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และรักษาอาการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการ

คอแห้ง 10 สาเหตุและวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

สาเหตุของอาการคอแห้ง

คอแห้งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งพฤติกรรม สภาพแวดล้อม และอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย มีดังนี้

1. พฤติกรรม

อาการคอแห้งอาจเป็นสัญญาณของพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น

  • ภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้ร่างกายจะผลิตน้ำลายน้อยกว่าปกติ และการสูญเสียน้ำในร่างกายมาก เช่น การออกกำลังกาย และอาการท้องเสีย ทำให้รู้สึกคอแห้ง ปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม อ่อนเพลีย และเวียนศีรษะ
  • การใช้เสียงดังหรือใช้เสียงเป็นเวลานาน เช่น พูดคุย ร้องเพลง และตะโกน ซึ่งพบบ่อยในผู้ที่มีอาชีพนักร้อง ครู และพ่อค้า ซึ่งต้องใช้เสียงในการทำงานตลอดทั้งวัน ทำให้เสียงแหบ คอแห้ง และเจ็บคอ
  • การนอนอ้าปาก หรือการหายใจทางปากขณะหลับ เป็นอาการผิดปกติขณะหลับซึ่งมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้มีอาการคอแห้ง ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น อ่อนเพลียในตอนกลางวัน และมักมีอาการนอนกรนด้วย
  • การสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่ ควันบุหรี่และสารนิโคตินในบุหรี่ทำให้เกิดการระคายเคืองที่โพรงจมูกและลำคอ ทำให้ผู้สูบบุหรี่และคนใกล้ชิดที่ได้รับควันบุหรี่มีอาการคอแห้ง คันคอ ไอ และทำให้ปอดเกิดความเสียหาย ซึ่งอาจนำไปสู่โรคมะเร็งปอดได้

2. สภาพแวดล้อม

การอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศแห้งและเย็น เช่น ประเทศที่มีอุณหภูมิต่ำ และในอาคารที่เปิดเครื่องปรับอากาศเย็น อาจดูดความชื้นจากช่องปากและลำคอ ทำให้มีอาการคอแห้ง เจ็บคอ และไอแห้ง นอกจากนี้ การหายใจเอาฝุ่น ควัน และมลภาวะทางอากาศ เช่น บนท้องถนน อาคารบ้านเรือน และโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการคอแห้ง ระคายคอ และเสียงแหบได้

3. โรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน

การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract Infection) คือการติดเชื้อโรคของระบบทางเดินหายใจบริเวณจมูก ลำคอ หลอดลม และกล่องเสียง เช่น

  • โรคหวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้คัดจมูก น้ำมูกไหล คอแห้ง คันคอ และเจ็บคอ 
  • ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ อาการมักรุนแรงและเป็นนานกว่าโรคหวัด เช่น ไอ คัดจมูก อ่อนเพลีย มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน  
  • ทอนซิลอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ต่อมทอนซิล ทำให้มีอาการเจ็บคอ เสียงแหบ ต่อมทอนซิลบวมแดง ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม ปวดศีรษะ และมีไข้

4. โรคไข้ละอองฟาง (Hay Fever)

โรคภูมิแพ้โรคไข้ละอองฟาง เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ที่เกิดจากการตอบสนองผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ที่พบในชีวิตประจำวัน เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น ละอองเกสรพืช เชื้อรา และสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง (Pet Dander) ทำให้เกิดอาการคัดจมูก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยคอแห้ง เนื่องจากหายใจทางปาก รวมทั้งมีอาการไอ จาม และคันตา เป็นต้น

5. ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ

นอนกรนเป็นปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลงหรือถูกปิดกั้นจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ลิ้นและกล้ามเนื้อในลำคอหย่อนตัว ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้เกิดเสียงกรนขณะที่หายใจเข้า

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) เป็นความปกติของกล้ามเนื้อลำคอ เพดานปาก และลิ้นคลายตัวมากเกินไป ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก กรนเสียงดัง คอแห้ง เจ็บคอ ตื่นกลางดึกเนื่องจากหายใจติดขัดหรือสำลัก และรู้สึกง่วงในตอนกลางวัน

6. โรคหืด (Asthma)

โรคหืดเป็นโรคที่ทางเดินหายใจของผู้ป่วยตีบแคบลงและบวม ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อากาศเย็น ฝุ่น ควันบุหรี่ เชื้อรา ละอองเกสรพืช การติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ และการใช้ยาบางชนิด ซึ่งทำให้หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด จึงต้องหายใจทางปากและทำให้คอแห้ง นอกจากนี้ อาจมีอาการแน่นหน้าอก ไอ และนอนหลับไม่สนิท

7. กรดไหลย้อน (GERD)

กรดไหลย้อนเป็นภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนปลาย หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น การเข้านอนหลังรับประทานอาหารทันที การรับประทานอาหารมื้อละมาก ๆ การสูบบุหรี่ การดื่มน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์ และโรคประจำตัว เช่น ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal Hernia) โรคอ้วน และการตั้งครรภ์

ผู้มีอาการกรดไหลย้อนมักแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว คอแห้ง ปากแห้ง ไอ เสียงแหบ รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในลำคอ และกลืนลำบาก

8. โรคสเตรปโธรท (Strep Throat)

โรคสเตรปโธรท หรือโรคคออักเสบจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียสเตรปโทค็อคคัส (Streptococcus) ทำให้เกิดอาการคอแห้ง เจ็บคอ เสียงแหบ คอแดง มีจุดหรือแผ่นสีขาวบริเวณลำคอ ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม มีไข้ มีผื่นขึ้นตามตัว เป็นต้น

9. โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis)

โรคโมโนนิวคลิโอซิส เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr) ที่ติดต่อจากคนสู่คนจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น เลือดและน้ำลายจากการรับประทานอาหาร ไอ จาม และการจูบกับผู้ติดเชื้อ หลังจากได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 1–2 เดือนจะเริ่มมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอและรักแร้บวม มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คอแห้ง และเจ็บคอ

10. การใช้ยา

ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้ง และระคายคอ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เช่น

รวมวิธีรับมือกับอาการคอแห้ง

หากมีอาการคอแห้ง สามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • พูดหรือใช้เสียงเท่าที่จำเป็น ไม่ใช้เสียงเป็นเวลานานหรือใช้เสียงดัง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยดื่มน้ำเปล่าวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน หลีดเลี่ยงการดื่มโซดา เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ที่ทำให้คอแห้งและกระหายน้ำมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน มลพิษทางอากาศ รวมทั้งสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา และฝุ่น
  • ปิดประตูหน้าต่างให้สนิทเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้ามาในบ้าน ทำความสะอาดบ้านทุกวัน และทำความสะอาดเครื่องนอนสัปดาห์ละ 1 ครั้งด้วยน้ำร้อน เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่น ไรฝุ่น เชื้อรา
  • หากเลี้ยงสัตว์ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงนอนในห้องนอน
  • งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่
  • ใช้เครื่องทำความชื้น (Humidifier) หากในบ้านหรือในห้องนอนมีอากาศแห้ง
  • หากมีอาการเจ็บคอ ควรดื่มน้ำอุ่น กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ และใช้ยาอมแก้เจ็บคอ
  • หากเป็นหวัดและไข้หวัดใหญ่ ควรพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เมื่อมีอาการปวดศีรษะหรือมีไข้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ หรือรับประทานอาหารช่วงใกล้เข้านอน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด อาหารที่มีไขมันสูง และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้

หากมีอาการคอแห้งจากยาที่ใช้อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจให้ปรับขนาดหรือเปลี่ยนตัวยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการคอแห้ง และหากอาการคอแห้งยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่ควรได้รับการรักษา ซึ่งแพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยรักษาโรคที่ตรวจพบ และรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น

  • การรักษาโรคภูมิแพ้ แพทย์อาจจ่ายยาต้านฮิสตามีน ยาแก้คัดจมูก และการฉีดวัคซีนภูมิแพ้
  • การรักษาโรคกรดไหลย้อน แพทย์อาจจ่ายยาลดกรด ยาลดการผลิตกรดกลุ่ม H2 Inhibitors และยากลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPIs)
  • การรักษาโรคสเตรปโธรท แพทย์อาจจ่ายยาปฏืชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น เพนนิซิลลิน (Penicillin) และอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin)
  • การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะรักษาด้วยการใช้เครื่องอัดแรงดันอากาศแรงดันบวก (CPAP)

โดยทั่วไป อาการคอแห้งมักดีขึ้นหลังได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม แต่หากมีอาการคอแห้งรุนแรง รู้สึกเจ็บมากขณะกลืนน้ำลายหรืออาหาร หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลียมาก มีผื่นขึ้น และมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ควรรีบไปพบแพทย์