รู้จัก Catastrophizing อุปนิสัยคิดติดลบเกี่ยวกับอนาคต และแนวทางรับมือ

Catastrophizing หมายถึงความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับเรื่องร้ายในอนาคต โดยคิดเกินกว่าเหตุไปถึงผลกระทบที่แย่ที่สุดไว้ก่อน และไม่สามารถเลิกคิดได้ แม้บ่อยครั้งจะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่ไม่น่ากังวลเลยก็ตาม ทั้งนี้ Catastrophizing ไม่ได้จัดเป็นโรคทางจิต แต่อาจเป็นสัญญาณบอกโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้

การคิดกังวลเรื่องในอนาคตเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่มีความคิด Catastrophizing มักคิดว่าอนาคตจะเกิดเรื่องเลวร้าย เช่น “ถ้ามีข้อผิดพลาดเพียงนิดเดียวในงานนี้ ต้องถูกไล่ออกแน่” หรือ “ถ้าครั้งนี้สอบไม่ติด จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้อีกเลย” หากมีความคิดเหล่านี้ การรับคำปรึกษาและบำบัดกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะช่วยปรับความคิดในการใช้ชีวิตให้มีความสุขขึ้น

รู้จัก Catastrophizing อุปนิสัยคิดติดลบเกี่ยวกับอนาคต และแนวทางรับมือ

อาการที่เข้าข่าย Catastrophizing

ผู้ที่มีความคิดแบบ Catastrophizing อาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • คิดถึงผลที่เลวร้ายกว่าความเป็นจริง และวิตกกังวลในเรื่องเดิมซ้ำ ๆ โดยไม่สามารถหยุดคิดได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือเรื่องราวในอดีต
  • มักมองโลกในแง่ร้าย ซึมเศร้า และไม่เชื่อว่าตัวเองควรได้รับสิ่งดี ๆ หรือสิ่งดี ๆ ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้
  • พูดตำหนิหรือโทษตัวเองบ่อย ๆ เช่น “ฉันนี่ไม่ได้เรื่องจริง ๆ สมควรแล้วที่ต้องเจอแต่เรื่องแย่ ๆ”
  • รู้สึกสิ้นหวัง ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไปกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ บางคนอาจถึงขนาดหมกมุ่นอยู่กับการหาวิธีแก้ปัญหาของตัวเองจากอินเทอร์เน็ต
  • รู้สึกโกรธและกลัวโดยที่ควบคุมความรู้สึกไม่ได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิด Catastrophizing

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของที่ทำให้เกิดความคิดแบบ Catastrophizing ที่แน่ชัด โดยนักวิจัยคาดว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น 

ความผิดปกติของสมอง 

Catastrophizing อาจเกิดจากปัญหาของสารเคมีในสมองและการทำงานในสมองหลายส่วน เช่น 

  • สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) และต่อมใต้สมอง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความกังวลและความกลัวเมื่อเจอสถานการณ์ตึงเครียด
  • สมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ทำหน้าที่จัดระบบความคิดและความรู้สึก ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติด้านความคิดของผู้ที่มีนิสัย Catastrophizing
  • สมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) และฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งอาจกระตุ้นให้นึกถึงความทรงจำและความรู้สึกไม่ดีต่อเหตุการณ์ที่เคยเจอ

อาการเจ็บป่วย

อาการเจ็บป่วยเรื้อรังอาจทำให้เกิดความคิดแบบ Catastrophizing เนื่องจากผู้ป่วยมักกลัวและกังวลเกี่ยวกับอาการป่วยของตัวเอง เช่น โรคนอนไม่หลับ ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease)

รวมทั้งปัญหาทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น และโรคแพนิค

ปัจจัยอื่น ๆ

Catastrophizing อาจเกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัว การเรียนรู้จากคนใกล้ชิด และเหตุการณ์ฝังใจที่ทำให้เกิดความคิดในแง่ร้าย เช่น การสูญเสียคนที่รัก การหย่าร้างของพ่อแม่ การประสบอุบัติเหตุหรือภัยพิบัติร้ายแรง 

วิธีรับมือกับความคิดแบบ Catastrophizing

การรับมือกับความคิดแบบ Catastrophizing ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไปตามอาการและความรุนแรง ซึ่งวิธีรักษาอาจใช้การปรับความคิดด้วยตัวเอง การใช้ยา และการบำบัดโดยจิตแพทย์ ดังนี้

การดูแลตัวเอง

ในเบื้องต้น ผู้ที่มีความคิดแบบ Catastrophizing อาจปรับความคิดและพฤติกรรมด้วยตัวเอง เช่น

  • ตั้งเป้าหมายในชีวิตโดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่สามารถควบคุมได้ มองโลกในแง่บวก ไม่ใช้เวลาไปกับการวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ และยอมรับในความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น
  • ลองจินตนาการถึงสถานการณ์และผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น หากเกิดเรื่องนี้ขึ้น ผลจะเป็นอย่างไรและจะรับมืออย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมและลดความวิตกกังวลเมื่อเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง
  • จดบันทึกเมื่อมีความคิดแบบ Catastrophizing เช่น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นและการรับมือกับปัญหา หากเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกันอีก จะได้นำสิ่งที่จดบันทึกไว้มาใช้เป็นบทเรียนในการรับมือกับความวิตกกังวลให้ดีขึ้น
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกสติ เช่น นั่งสมาธิ ฝึกหายใจ สวดมนต์ และเล่นโยคะ ซึ่งจะช่วยให้ผ่อนคลายและลดความคิดฟุ้งซ่าน
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ระบายความเครียดด้วยการดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
  • ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ และใช้เวลากับคนที่รัก เช่น ทำงานอดิเรก ไปเที่ยวกับเพื่อน และรับประทานอาหารกับคนในครอบครัว ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับตัวเองแล้ว ยังอาจช่วยให้รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองด้วย รวมทั้งการมีคนรับฟังความไม่สบายใจจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น

จิตบำบัด

จิตบำบัดคือการพูดคุยถึงอาการ สาเหตุ และรับคำแนะนำจากจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ในการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต โดยจิตบำบัดที่อาจใช้ในการรักษา Catastrophizing เช่น 

  • การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) ซึ่งช่วยให้ผู้มีความคิดแบบ Catastrophizing รับรู้และเข้าใจถึงลักษณะความคิดที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติ รับคำแนะนำในการรับมือกับความรู้สึกในแง่ลบ และวิธีการปรับความคิดให้เป็นเชิงบวกต่อเหตุการณ์ในอนาคตได้ดีขึ้น
  • การบำบัดอื่น ๆ ที่อาจใช้ร่วมกับการบำบัดความคิดและพฤติกรรม เช่น การบำบัดความเครียดด้วยการเจริญสติ (Mindfulness-Based Stress Reduction: MBSR) และการบำบัดโดยการเผชิญกับความกังวล และป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมซ้ำ (Exposure and Response Prevention: ERP)

การใช้ยา

Catastrophizing ไม่ได้จัดเป็นโรค จึงไม่มียาที่ใช้รักษาได้โดยตรง ในกรณีที่มีโรคประจำตัวซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความคิดแบบ Catastrophizing แพทย์อาจให้ยาที่ช่วยรักษาโรคประจำตัว เช่น ยาต้านเศร้า และยาเบนโซไดอะเซปีน (Benzodiazepines) ที่ใช้รักษาโรควิตกกังวล

ความคิดแบบ Catastrophizing มักสร้างความรู้สึกไม่ดีต่อตัวเอง บั่นทอนกำลังใจในการใช้ชีวิต และอาจส่งผลต่อสุขภาพ เช่น เกิดความเครียด วิตกกังวล หรือทำให้อาการของโรคประจำตัวแย่ลง หากลองใช้วิธีดูแลตัวเองแล้วยังมีความคิดในแง่ลบอยู่ ควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการปรับความคิดอย่างเหมาะสมต่อไป