ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

ความหมาย ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

Fibromyalgia (ไฟโบรมัยอัลเจีย) เป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย มีปัญหาด้านความจำและสมาธิ รวมทั้งอาจนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท โรคนี้ไม่อาจรักษาให้หายขาด แพทย์จึงจะประคับประคองอาการโดยให้ผู้ป่วยรับประทานยา ออกกำลังกาย และปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเครียดเป็นหลัก

Fibromyalgia

อาการของไฟโบรมัยอัลเจีย

โรค Fibromyalgia ส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายส่วน ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแตกต่างกันไป และความรุนแรงของอาการป่วยอาจไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับระดับความเครียด สภาพอากาศ และสุขภาพของผู้ป่วยในขณะนั้น อาการบ่งชี้ของโรคที่พบได้ มีดังนี้

  • ปวดทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังและคอ บางรายอาจรู้สึกแสบหรือเจ็บแปลบร่วมด้วย
  • ไวต่อความรู้สึกปวด ผู้ป่วยอาจไวต่อความรู้สึกปวดมากกว่าปกติหรือมีอาการปวดจากสิ่งที่ไม่ควรทำให้รู้สึกปวด เช่น การสัมผัสเบา ๆ
  • กล้ามเนื้อตึง ทำให้ขยับร่างกายได้ลำบาก อาการมักรุนแรงขึ้นหลังจากอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน เช่น หลังจากตื่นนอนในตอนเช้า
  • ปวดศีรษะ อาการปวดตามร่างกายและกล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่แข็งเกร็ง อาจทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะบ่อย ๆ โดยอาจปวดเพียงเล็กน้อยหรือปวดศีรษะแบบไมเกรนอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ เป็นต้น
  • นอนหลับไม่สนิท อาการป่วยอาจทำให้นอนไม่หลับ นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับไม่ลึกพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียและไม่สดชื่นหลังตื่นนอน
  • อ่อนเพลีย ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลียหรือรู้สึกหมดเรี่ยวแรงจนไม่อยากทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
  • มีปัญหาด้านการคิดและการเรียนรู้ เช่น ไม่มีสมาธิ พูดช้า พูดไม่รู้เรื่อง เป็นต้น
  • ลำไส้แปรปรวน มีอาการคือ ท้องอืด รู้สึกจุกแน่นในท้อง ท้องผูก หรือท้องเสีย

นอกจากอาการข้างต้น ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกร้อนหรือหนาวผิดปกติ วิงเวียนศีรษะ มีอาการขาอยู่ไม่สุข รู้สึกเจ็บคล้ายมีเข็มทิ่มตามมือและเท้า ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ หรือวิตกกังวล นอกจากนี้ อาการป่วยอาจก่อให้เกิดความเครียดและระดับฮอร์โมนบางชนิดลดต่ำลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าตามมา

สาเหตุของไฟโบรมัยอัลเจีย

ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค Fibromyalgia แต่เชื่อว่าอาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ความผิดปกติของระบบสมอง อาการปวดทั่วร่างกายอาจเป็นผลมาจากการมีสารสื่อประสาทที่กระตุ้นให้รู้สึกเจ็บปวดในปริมาณมากขึ้น และตัวรับความรู้สึกเจ็บปวดของสมองตอบสนองไวกว่าปกติ
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม นักวิจัยเชื่อว่าร่างกายมียีนบางตัวที่ทำหน้าที่ควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด การกลายพันธุ์ของยีนเหล่านี้จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้
  • ปัญหาทางการนอนหลับ แพทย์ไม่ทราบแน่ชัดว่าการนอนไม่หลับหรือหลับไม่เต็มอิ่มนั้นเป็นอาการหรือสาเหตุของโรคนี้กันแน่ เพราะเป็นไปได้ว่าปัญหาด้านการนอนหลับอาจกระทบต่อระดับสารเคมีในสมองบางชนิดและส่งผลให้เกิดโรค
  • สิ่งกระตุ้นบางชนิด อาการบาดเจ็บทางร่างกาย ความบอบช้ำทางจิตใจ หรือการติดเชื้อ แม้ไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่อาจกระตุ้นให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้แสดงอาการป่วยออกมาได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อเสื่อม โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือผู้ที่มีคนใกล้ชิดในครอบครัวป่วยเป็น Fibromyalgia อาจเสี่ยงเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป และยังพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

การวินิจฉัยไฟโบรมัยอัลเจีย

การวินิจฉัยโรค Fibromyalgia อาจทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากทางการแพทย์ไม่มีวิธีวินิจฉัยโรคนี้โดยเฉพาะ นอกจากนั้น โรคนี้ยังมีอาการบ่งชี้ที่หลากหลายและอาจใกล้เคียงกับอาการของโรคชนิดอื่น เช่น กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น

ในขั้นแรกแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นและตรวจดูอาการผิดปกติของผู้ป่วย จากนั้นจึงตรวจหาความเป็นไปได้เพิ่มเติมโดยวิธีตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เอกซเรย์ หรือฉายรังสี ซึ่งผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรค Fibromyalgia มักมีผลวินิจฉัยดังนี้

  • มีอาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตั้งแต่ 7 ตำแหน่งขึ้นไป หรือมีอาการปวดรุนแรง 3-6 ตำแหน่ง
  • มีอาการผิดปกติมานานอย่างน้อย 3 เดือน และมักมีอาการคงที่
  • ไม่พบสาเหตุอื่นที่เป็นไปได้

หากวินิจฉัยพบว่าผู้ป่วยเป็นโรค Fibromyalgia แพทย์อาจตรวจหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคนี้ร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคลำไส้แปรปรวน โดยใช้วิธีวินิจฉัยสำหรับโรคนั้น ๆ โดยเฉพาะ

การรักษาไฟโบรมัยอัลเจีย

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรค Fibromyalgia ให้หายขาด เป้าหมายของการรักษาจึงเป็นการประคับประคองอาการเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาช่วยบรรเทาอาการปวด ดังนี้

  • ยาระงับปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน หรือนาพรอกเซน หากอาการปวดไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาระงับปวดที่มีฤทธิ์รุนแรงขึ้น เช่น โคเดอีน ทรามาดอล เป็นต้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาทุกชนิด เพราะการใช้ยาระงับปวดติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ
  • ยารักษาอาการชัก มักใช้บรรเทาอาการปวดตามร่างกาย เช่น กาบาเพนติน พรีกาบาลิน เป็นต้น
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า มีสรรพคุณช่วยควบคุมปริมาณสารสื่อประสาทของสมอง จึงมีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการอ่อนเพลีย เช่น ดูล็อกซีทีน มิลนาซิแปรนเป็นต้น บางกรณีอาจแนะนำให้ใช้ยาอะมิทริปไทลีนหรือยาคลายกล้ามเนื้ออย่างไซโคลเบนซาพรีนด้วย เพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนั้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับกายภาพบำบัดเพื่อสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ รวมถึงเข้าร่วมการทำกิจกรรมบำบัดเพื่อเรียนรู้การปรับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานและการจัดวางร่างกายระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ส่วนผู้ป่วยที่รู้สึกเครียดหรือหดหู่ ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้ให้คำปรึกษาจากองค์กรที่เชื่อถือได้ เพื่อเรียนรู้การจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม

ภาวะแทรกซ้อนของไฟโบรมัยอัลเจีย

อาการเจ็บปวด นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท อาจกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันหรือทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดต่ำลง นอกจากนี้ การต้องเผชิญกับอาการต่าง ๆ ของโรคนี้อาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้เช่นกัน

การป้องกันไฟโบรมัยอัลเจีย

เนื่องจากยังไม่อาจสรุปสาเหตุการเกิดโรค Fibromyalgia ได้แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล การรักษาแบบประคับประคองอาการร่วมกับการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น ทำได้ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนให้ตรงเวลา และพยายามไม่งีบหลับระหว่างวัน เพื่อป้องกันการนอนไม่หลับในตอนกลางคืน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในระยะแรกการออกกำลังอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองเมื่อทำเป็นประจำ
  • จัดการความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น ฝึกการหายใจ นั่งสมาธิ เป็นต้น
  • ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันแต่พอดี ไม่หักโหมจนเกินไป
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน