ลำไส้แปรปรวนกับอาหาร เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

การรับประทานอาหารและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคลำไส้แปรปรวน และการหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรคจะช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติไม่ว่าจะเป็นอาการท้องผูก ท้องเสีย ปวดท้องหรือท้องอืดได้ ซึ่งในผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนบางราย การรับประทานอาหารที่เหมาะสมร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะสามารถควบคุมอาการที่เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา

ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) เป็นโรคที่ส่งผลให้การทำงานของลำไส้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายอาจมีอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือมีอาการท้องเสียและท้องผูกสลับกัน ทั้งนี้ อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจขัดขวางการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย อีกทั้งผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้มักมีอาการเกิดขึ้นตลอดชีวิต ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่การรับประทานอาการอย่างเหมาะสมสามารถช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมอาการได้ บทความนี้จะช่วยแนะนำวิธีการเลือกและทานอาหารอย่างเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยลำไส้แปรปรวน  

ลำไส้แปรปรวนกับอาหาร เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

ประเภทอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยลำไส้แปรปรวน

ในปัจจุบัน การวิจัยทางวิทยาศาสตร์มุ่งเน้นความสนใจไปยังวิธีการรับประทานอาหารเพื่อรักษาอาการของลำไส้แปรปรวนที่สำคัญ โดยตัวอย่างอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยมีดังนี้ 

อาหารที่มีไฟเบอร์สูง

การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงอย่างผัก ผลไม้และธัญพืชเต็มเมล็ดจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถขับถ่ายได้ดีขึ้นและป้องกันอาการท้องผูก โดยทั่วไปวัยผู้ใหญ่ควรรับประทานไฟเบอร์ในปริมาณ 20-34 กรัมต่อวัน และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณไฟเบอร์ในมื้ออาหารวันละ 2-3 กรัม แต่หากผู้ป่วยมีอาการท้องอืดเนื่องจากการรับประทานไฟเบอร์จากธัญพืชมากเกินไป ควรเน้นผักและผลไม้แทน 

อาหารที่มีไฟเบอร์ต่ำ

ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนที่มีอาการท้องเสียไม่ควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์มากเกินไปเพราะอาจส่งผลให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรรับประทานแอปเปิล เบอร์รีชนิดต่าง ๆ แครอท หรือข้าวโอ๊ตเนื่องจากอาหารเหล่านี้มีใยอาหารที่ละลายน้ำ (Soluble Fiber) เพื่อไม่ให้ปริมาณไฟเบอร์ในร่างกายมากเกินไป หรือผู้ป่วยอาจทานยาต้านอาการท้องเสียก่อนการรับประทานไฟเบอร์เป็นเวลา 30 นาทีเพื่อลดความรุนแรงของอาการที่อาจเกิดขึ้น แต่ไม่ควรทานยาดังกล่าวจนบ่อยจนเกินไป ควรทานเมื่อต้องรับประทานอาหารนอกบ้านเท่านั้น

อาหารไขมันต่ำ

โดยทั่วไปอาหารที่มีไขมันสูงจะมีปริมาณไฟเบอร์ต่ำ ซึ่งเป็นอาหารที่ทำให้อาการของโรคลำไส้แปรปรวนรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียและท้องผูกรวมกัน ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำจะช่วยให้ลำไส้สามารถทำงานได้ดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน ผัก ผลไม้ ธัญพืชและผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ

อาหารปลอดกลูเตน

กลูเตนคือโปรตีนที่พบได้ในผลิตภัณฑ์จากธัญพืช อย่างเส้นพาสต้าหรือขนมปัง โปรตีนชนิดดังกล่าวอาจทำลายลำไส้ได้ในผู้ที่มีอาการแพ้กลูเตน บางรายที่มีอาการแพ้หรือไวต่อกลูเตนจะมีอาการของโรคลำไส้แปรปรวนร่วมด้วย ดังนั้น การหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารที่มีกลูเตน เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์และข้าวสาลี ก็อาจช่วยลดความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร โดยรับประทานควินัว (Quinoa) ข้าวโอ๊ต หรือบักวีต (Buckwheat) ซึ่งเป็นธัญพืชปลอดกลูเตนแทน

ผู้ที่มีอาการท้องผูกควรดื่มน้ำในปริมาณมาก ทานอาหารที่มีสารให้ความหวานซอร์บิทอล (Sorbitol) อย่างพลัมอบแห้งหรือน้ำลูกพรุนในปริมาณจำกัด ส่วนผู้ที่มีอาการท้องเสียไม่ควรทานอาหารที่เย็นและอาหารร้อนในมื้อเดียวกัน รับประทานอาหารในปริมาณน้อย ดื่มน้ำก่อนหรือหลังการรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมงและไม่ควรดื่มน้ำขณะรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตาม ก่อนการปรับรูปแบบการรับประทานอาหาร ผู้ป่วยควรจดบันทึกการกินทุกสัปดาห์ เพื่อช่วยให้สามารถระบุอาหารที่อาจเป็นสาเหตุของอาการได้

อาหารควรเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยลำไส้แปรปรวน

ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่าผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม การทานเส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายในน้ำ (Insoluble Fiber) เช่น แป้งโฮลวีท รำข้าวสาลี ดอกกะหล่ำ และมันฝรั่ง ถั่วชนิดต่าง ๆ อาหารแปรรูปอย่างมันฝรั่งทอดและคุ้กกี้ หมากฝรั่งไม่มีน้ำตาล ของทอด อีกทั้งผู้ป่วยไม่ควรรับประทานอาหารปริมาณมากในแต่ละมื้อ 

อีกทั้งควรจำกัดอาหารกลุ่ม FODMAP หรือกลุ่มคาร์โบไฮเดรตสายสั้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ลำไส้เล็กดูดซึมได้ยาก โดยคาร์โบไฮเดรตชนิดดังกล่าวทำให้เกิดน้ำมากขึ้นในลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการท้องอืดและท้องเสีย จึงควรจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารในกลุ่มนี้เป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ โดยตัวอย่างอาหารกลุ่ม FODMAP ได้แก่ 

  • นม ไอศกรีม ชีส หรือโยเกิร์ต
  • ผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรุกโตสบางชนิด เช่น แตงโม มะม่วง แอปเปิล พลัมหรือพีช เป็นต้น
  • ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี หัวหอม ดอกกะหล่ำหรือเห็ด เป็นต้น
  • พืชฝักตระกูลถั่วอย่างถั่วลูกไก่ (Chick Pea) ถั่วแดงหรือถั่วเหลือง
  • สารให้ความหวาน (Sweetener)
  • พาสต้า ซีเรียล หรือขนมปังที่ทำจากข้าวสาลี
  • เม็ดมะม่วงหิมพานต์และถั่วพิสตาชิโอ

ทั้งนี้ผู้ป่วยควรทดลองหลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการกระตุ้นให้เกิดอาการ เริ่มจากการลองงดการรับประทานอาหารแต่ละชนิดเป็นเวลา 12 สัปดาห์และทดลองครั้งละ 1 อย่าง พร้อมทั้งจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนการทดลองกับอาหารชนิดต่อไป

อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายและผ่อนคลายร่างกายไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร เช่น เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เล่นโยคะ ทำอโรมาเธอราพี (Aromatherapy) หรือนวด การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดและรับประทานอาหารอย่างไม่เร่งรีบ ก็มีส่วนช่วยให้อาการของลำไส้แปรปรวนดีขึ้นได้เช่นกัน