โรคลมชัก

ความหมาย โรคลมชัก

โรคลมชัก (Epilepsy) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการชัก เหม่อลอย หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดปกติไป 

โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ก็มักจะพบในผู้ป่วยเด็ก และผู้สูงอายุ โดยโรคลมชักนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถช่วยให้อาการสงบและไม่มีอาการชักhttps://www.pobpad.com/อาการชัก-และสัญญาณรุนแรกำเริบได้หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำ

โรคลมชัก

อาการโรคลมชัก

อาการของโรคลมชักที่เห็นได้ชัดคืออาการการชัก ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนอาจเกิดอาการชักได้หลายรูปแบบ โดยอาการชักที่มักพบได้บ่อย จะแบ่งออกได้ดังนี้

อาการชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมอง (Generalized Seizures)

เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นกับสมองทั้งสองซีก ซึ่งแบ่งได้เป็นชนิดย่อย ๆ ดังนี้

  • อาการชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures) เป็นอาการชักที่มักเกิดขึ้นในเด็ก อาการที่โดดเด่นคือการเหม่อลอย หรือมีการขยับร่างกายเพียงเล็กน้อย เช่น การกะพริบตาหรือขยับริมฝีปาก อาการชักชนิดนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียการรับรู้ในระยะสั้น ๆ ได้
  • อาการชักแบบชักเกร็ง (Tonic Seizures) เป็นอาการชักที่ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยมักจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณหลัง แขนและขา จนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยล้มลงได้
  • อาการชักแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Atonic Seizures) อาการชักที่ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง ผู้ป่วยที่มีอาการชักชนิดนี้มักจะไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อขณะเกิดอาการได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยล้มพับ หรือหกล้มลงได้อย่างเฉียบพลัน
  • อาการชักแบบชักกระตุก (Clonic Seizures) เป็นอาการชักที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ โดยอาจทำให้เกิดการขยับเขยื้อนในจังหวะซ้ำ มักเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณคอ ใบหน้า และแขน
  • อาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง (Tonic–clonic Seizures) เป็นอาการชักที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อในร่างกายทุกส่วน ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกร็งและกระตุก จนผู้ป่วยอาจหมดสติและล้มลง จากนั้น หลังจากอาการบรรเทาลง ผู้ป่วยจะกลับมารู้สึกตัวแต่มักจะจำไม่ได้ว่าเกิดอาการชักขึ้น
  • อาการชักแบบชักสะดุ้ง (Myoclonic Seizures) อาการชักชนิดนี้มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน โดยจะเกิดอาการชักกระตุกของแขนและขาคล้ายกับการโดนไฟฟ้าช็อต ส่วนใหญ่มักจะเกิดหลังจากตื่นนอน บ้างก็เกิดขึ้นร่วมกับอาการชักแบบอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน

อาการชักเฉพาะส่วน (Partial หรือ Focal Seizures)

อาการชักประเภทนี้จะเกิดขึ้นกับสมองเพียงบางส่วน โดยส่งผลให้เกิดอาการชักที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  • อาการชักแบบรู้ตัว (Simple Focal Seizures) กรณีนี้ ขณะที่เกิดอาการ ผู้ป่วยมักยังคงมีสติอยู่ โดยผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกวูบ ๆ ภายในท้อง มีอาการเดจาวู เกิดความรู้สึกร่าเริงหรือกลัวอย่างกะทันหัน การได้กลิ่นหรือรับรู้รสชาติแปลกไป ชาที่แขนและขา หรือมีอาการชักกระตุกที่แขนและมือ ทั้งนี้ อาการชักดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการชักชนิดอื่น ๆ ที่กำลังตามมา
  • อาการชักแบบไม่รู้ตัว (Complex Partial Seizures) สามารถเกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวและไม่สามารถจดจำได้ว่าเกิดอาการขึ้นเมื่อใด ไม่ว่าจะในขณะที่เกิดอาการหรืออาการสงบแล้ว อาการชักชนิดนี้ไม่สามารถคาดเดาได้ โดยอาจมีอาการเช่น ขยับริมฝีปาก ถูมือ ทำเสียงแปลก ๆ หมุนแขนไปรอบ ๆ จับเสื้อผ้า เล่นกับสิ่งของในมือ อยู่ในท่าทางแปลก ๆ เคี้ยวหรือกลืนอะไรบางอย่าง

ทั้งนี้ บางครั้งอาการชักแบบเฉพาะส่วนอาจคล้ายกับอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอื่น ๆ เช่น อาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งอาจมีอาการเห็นแสงวูบวาบ โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในการนอนหลับ ซึ่งอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบกะทันหัน หรืออาการของโรคจิต จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้การทดสอบและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อแยกโรคลมชักออกจากโรคอื่น ๆ

อาการชักต่อเนื่อง (Status Epilepticus)

อาการชักชนิดนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป หรือเป็นอาการชักต่อเนื่องที่ผู้ป่วยไม่สามารถคืนสติในระหว่างที่ชัก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว โดยการรักษาในเบื้องต้นสามารถทำได้โดยผู้ที่ผ่านการฝึกการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักชนิดต่อเนื่อง

แต่หากไม่เคยได้รับการฝึก ควรโทรแจ้งหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน อาทิ ศูนย์นเรนทร 1669 หรือโรงพบาบาลเพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ โรคลมชักเป็นโรคที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน และการเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่เกิดอาการชักครั้งแรก มีอาการชักนานเกิน 5 นาที ชักติดต่อกัน กำลังตั้งครรภ์ มีภาวะเบาหวาน รับประทานยาต้านชักแล้วแต่ยังมีอาการ หรือมีอาการบางอย่างร่วมด้วย เช่น มีไข้ ยังไม่ได้สติหลังเกิดอาการชัก หรืออาการหายใจผิดปกติไม่หายไปหลังชัก

สาเหตุของโรคลมชัก

สาเหตุของโรคลมชักนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทราบสาเหตุ ส่วนในกลุ่มที่สามารถระบุสาเหตุได้ก็มักพบว่าเกิดจากการที่สมองถูกกระทบกระเทือน เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่เต็มไปด้วยเซลล์ประสาท กระแสไฟฟ้า และสารเคมีที่ถูกเรียกว่าสารสื่อประสาท เมื่อได้รับการกระทบกระเทือนจึงอาจส่งผลให้สมองเกิดความเสียหายและทำงานผิดปกติจนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการชัก

โดยโรคลมชักสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

  • กลุ่มอาการที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้แน่ชัด (Idiopathic หรือ Primary Epilepsy) ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถหาสาเหตุของโรคลมชักที่แน่ชัดได้ แต่อาจมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคลมชัก มีการสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือมีความผิดปกติของยีนในร่างกาย
  • กลุ่มที่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ (Symptomatic หรือ Secondary Epilepsy) ซึ่งเป็นกลุ่มที่หาสาเหตุของโรคลมชักได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองพิการ เนื้องอกในสมอง อุบัติเหตุที่ศีรษะ ยาเสพติด พิษสุราเรื้อรัง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ขาดออกซิเจนขณะคลอด หรือสมองพัฒนาไม่สมบูรณ์ โดยชนิดนี้มักพบในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กได้เช่นกัน

ทั้งนี้ อาการจากโรคลมชักสามารถเกิดโดยมีตัวกระตุ้นหรือไม่มีตัวกระตุ้นก็ได้ โดยตัวกระตุ้นที่มักพบ เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาบางชนิด การใช้ยาเสพติด ภาวะมีประจำเดือน หรือในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการเมื่อเห็นแสงแฟลชที่สว่างจ้า แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย 

โรคลมชัก เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคลมชักสูง โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้คนทั่วไปเป็นโรคลมชักนั้น ได้แก่

  • อายุ โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุแต่ก็มักเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กตอนต้น และช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ประวัติครอบครัว หากในครอบครัวมีประวัติว่ามีผู้ป่วยโรคลมชัก ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมชักในครอบครัวก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
  • อาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง เป็นสาเหตุที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคลมชัก
  • โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากหลอดเลือดสมองจนทำให้สมองถูกทำลายสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคลมชักได้
  • โรคสมองเสื่อม (Dementia) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองโดยตรง ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุ โรคนี้สามารถทำให้ความเสี่ยงโรคลมชักเพิ่มขึ้นได้
  • การติดเชื้อที่สมอง (Brain Infections) เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบที่สมองหรือไขสันหลัง ทำให้สมองและระบบทำงานของประสาทผิดปกติจนเกิดโรคลมชัก
  • โรคพยาธิตืดหมู (Cysticercosis) โดยโรคนี้มีสาเหตุมาจากพยาธิที่อยู่ในอาหารที่ปนเปื้อนและไม่ผ่านการปรุงสุก
  • อาการชักในวัยเด็ก โดยส่วนใหญ่ อาการชักที่เกิดขึ้นไม่นานมักไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมา แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่อาจส่งผลให้เด็กเสี่ยงเกิดโรคลมชักได้

การวินิจฉัยโรคลมชัก

การวินิจฉัยโรคลมชักเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากไม่ทราบสาเหตุก็จะไม่สามารถรักษาได้ หรือการรักษาอาจได้ผลไม่เต็มที่ ซึ่งการวินิจฉัยโรคลมชักนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะบางอาการของโรคลมชักก็ใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคไมเกรน ภาวะตื่นตระหนก การวินิจฉัยจึงต้องใช้เวลาในการตรวจและทดสอบจึงจะทราบผลที่แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าเกิดอาการชักขึ้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการซักถามข้อมูลเกี่ยวกับอาการชักจากตัวผู้ป่วยเองถึงสิ่งที่สามารถจดจำได้ในขณะที่เกิดอาการ หรืออาการที่รู้สึก รวมทั้งสัญญาณเตือนต่าง ๆ และอาจยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้นหากได้สอบถามกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดซึ่งอยู่กับผู้ป่วยในช่วงที่อาการกำเริบ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยจดจำอะไรไม่ได้เลย

นอกจากนี้ แพทย์จะซักถามเกี่ยวกับประวัติการรักษาและประวัติส่วนตัวต่าง ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ประวัติการใช้ยา ประวัติการใช้เสพยาเสพติด หรือพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ จากนั้นแพทย์จะนำข้อมูลที่ได้จากผู้ป่วยและคนใกล้ชิดไปพิจารณาควบคู่กับการทดสอบทางการแพทย์ เช่น

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram: EEG) เพื่อตรวจการทำงานที่ผิดปกติของสมองผ่านขั้วไฟฟ้าที่ติดอยู่กับหนังศีรษะ โดยในขณะทำการทดสอบ อาจมีการให้มองเข้าไปในแสงแฟลช และหายใจลึก ๆ แล้วหลับตา และในบางรายอาจมีการตรวจเช็กคลื่นสมองในขณะหลับ โดยใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กบันทึกการทำงานของสมองตลอด 24 ชั่วโมงแล้วจึงนำมาวิเคราะห์อีกครั้ง
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography: CT Scan) เป็นการเอกซเรย์ที่ช่วยให้เห็นภาพตัดขวางของสมอง ซึ่งอาจทำให้แพทย์สามารถเห็นภาพความผิดปกติของสมองที่อาจเป็นสาเหตุของอาการชักได้
  • การเอกซเรย์เอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เป็นการตรวจที่ใช้คลื่นแม่เหล็กและคลื่นวิทยุสร้างภาพร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งเป็นประโยชน์ในรายที่สงสัยว่าอาจเกิดโรคลมชักจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ความบกพร่องของสมอง หรือเนื้องอกสมอง
  • การตรวจเลือดและการเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจหาสัญญาณของการติดเชื้อในสมอง

แม้การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีทางการแพทย์จะทำให้การระบุโรคลมชักเป็นไปได้ง่ายขึ้น ทว่าก็มีบางรายที่ผลทดสอบไม่สามารถบอกอะไรได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยจะไม่เป็นโรคลมชัก จึงอาจต้องมีการตรวจซ้ำและติดตามผลอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะได้ผลที่แน่ชัด

การรักษาโรคลมชัก

การรักษาโรคลมชักนั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย บางกรณีสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีหลายรายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้เพียงยับยั้งไม่ให้เกิดอาการชักด้วยการรับประทานยาควบคุมอาการ โดยวิธีการรักษาโรคลมชักที่แพทย์มักใช้มีดังนี้

การใช้ยา

ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการรักษาโดยการใช้ยาต้านอาการชัก (Anti–epileptic Drugs: AEDs) ทว่ายาต้านอาการชักนั้นไม่สามารถรักษาโรคลมชักให้หายขาดได้ ทำได้เพียงควบคุมอาการชักเท่านั้น โดยกลไกหลักของยาต้านอาการชักนั้นก็คือ ตัวยาจะเข้าไปปรับเปลี่ยนปริมาณสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับนำกระแสไฟฟ้าในสมอง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดอาการชัก

โดยการเลือกใช้ยาต้านอาการชักนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  • ชนิดของอาการชักที่ผู้ป่วยเป็น
  • อายุของผู้ป่วย
  • การใช้ยาของผู้ป่วย เนื่องจากยาต้านอาการชักอาจส่งผลกับยาชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยใช้อยู่ เช่น ยาคุมกำเนิด

นอกจากนี้ ในกรณีที่วางแผนมีบุตร แพทย์อาจต้องพิจารณาในเรื่องการใช้ยาต้านอาการชักด้วยเช่นกัน โดยยาต้านอาการชักที่มักถูกใช้ในการรักษาโรคลมชัก เช่น ยาโซเดียม วาลโพรเอท (Sodium Valproate) ยาคาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) ยาลาโมทรีจีน (Lamotrigine) ยาลีวีไทราซีแทม (Levetiracetam) ออกซ์คาร์บาซีปีน (Oxcarbazepine) โทพิราเมท (Topiramate)

ทั้งนี้ แม้ว่าการใช้ยาต้านอาการชักจะช่วยควบคุมโรคได้ แต่ผู้ป่วยก็อาจเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง ขึ้นอยู่กับชนิดของยา โดยในการรักษา แพทย์จะเริ่มให้ยาในปริมาณที่ต่ำสุดก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปจนกว่าปริมาณยาจะสามารถควบคุมอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจพบได้ เช่น อาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ น้ำหนักขึ้น มวลกระดูกลดลง ผื่นขึ้น เสียการทรงตัว เหงือกบวม หรือมีปัญหาเรื่องการพูด ความจำ และความคิด

นอกจากนี้ อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้น้อย เช่น ภาวะซึมเศร้า รู้สึกอยากตาย ผื่นขึ้นอย่างรุนแรง และหากได้รับยาในปริมาณที่สูงมากเกินไป อาจส่งผลให้ผู้ป่วยทรงตัวไม่อยู่ สมาธิลดลง และอาเจียน โดยหากผู้ป่วยมีผื่นขึ้นตามผิวหนังโดยไม่มีสาเหตุหลังจากใช้ยาต้านอาการชัก ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการแพ้ที่เกิดจากยาต้านอาการชัก

นอกจากนี้ เพื่อให้การรักษาด้วยยาสัมฤทธิ์ผล ในระหว่างการรักษาผู้ป่วยควรปฏิบัติตนดังนี้

  • รับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากมีการเปลี่ยนแปลงของยาที่ใช้ หรือต้องใช้ยาชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปหรือสมุนไพร
  • ห้ามหยุดยาด้วยตนเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • แจ้งแพทย์ทันทีหากมีอาการซึมเศร้าหรือมีความคิดฆ่าตัวตาย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ
  • ปรึกษาแพทย์หากผู้ป่วยมีอาการไมเกรนร่วมด้วย ซึ่งแพทย์อาจมีการพิจารณาให้ใช้ยาต้านอาการชักที่สามารถป้องกันโรคไมเกรนไปได้พร้อม ๆ กัน

หากการใช้ยาต้านอาการชักไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะให้ใช้การรักษาอื่น ๆ อย่างเช่น การควบคุมอาหารแบบคีโตเจนิคไดเอต (Ketogenic Diet) ที่เป็นการควบคุมอาหารโดยเน้นอาหารที่มีไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตกับโปรตีนต่ำ เนื่องจากการรับประทานอาหารสูตรนี้มีความเชื่อว่าอาจช่วยลดแนวโน้มการเกิดอาการชักได้

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโดยส่วนใหญ่แล้ว การควบคุมอาหารวิธีนี้จะใช้กับเด็กที่ควบคุมอาการชักได้ยากและการใช้ยาไม่ได้ผล รวมถึงต้องได้รับการดูแลโดยโภชนากรและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

การผ่าตัดสมอง

ในกรณีที่การใช้ยาไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะแนะให้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำเอาสมองส่วนที่เป็นสาเหตุของโรคลมชักออก

โดยก่อนที่จะได้รับการผ่าตัด จะต้องมีการตรวจวินิจฉัยว่าโรคลมชักเกิดขึ้นจากจุดใด และต้องมีการทดสอบความจำและการทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มในการรับมือกับความเครียดจากการผ่าตัดอย่างไร และเพื่อให้รู้ว่าการผ่าตัดจะส่งผลกระทบกับผู้ป่วยอย่างไรบ้าง

การรักษาด้วยวิธีนี้จะถูกแนะนำให้ผู้ป่วยก็ต่อเมื่อสาเหตุของโรคลมชักเกิดจากส่วนใดส่วนหนึ่งในสมองที่แน่ชัด หรือการผ่าตัดนำส่วนของสมองนั้นออกแล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของสมองโดยรวม 

นอกจากการผ่าตัดเพื่อนำสมองส่วนที่เกิดปัญหาออกแล้ว ก็ยังมีวิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคลมชักดังนี้

  • การกระตุ้นเส้นประสาทสมอง (Vagus Nerve Stimulation: VNS) เป็นการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณกระดูกไหปลาร้า เพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าไปยังเส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve) และช่วยให้ความถี่และความรุนแรงของอาการชักลดลงได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังต้องใช้ยาต้านอาการชักร่วมด้วย และอาจพบอาการข้างเคียง เช่น เสียงแห เจ็บคอ หรือไอขณะที่อุปกรณ์ทำงาน
  • การกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation: DBS) เป็นการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าไว้ที่บริเวณสมองเพื่อลดการทำงานที่ผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองที่เกี่ยวข้องกับอาการชัก โดยอุปกรณ์นี้สามารถลดความถี่ของอาการชักได้ แต่ก็มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในสมอง เกิดภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาเกี่ยวกับความจำ

ทั้งนี้ การผ่าตัดนั้นก็มีความเสี่ยงไม่น้อย โดยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด เช่น ปัญหาเกี่ยวกับความจำ หรือโรคหลอดเลือดสมองหลังผ่าตัด ดังนั้นก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะแจ้งประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดนั้นผู้ป่วยจะฟื้นตัวในเวลาไม่กี่วัน และใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะกลับมาสุขภาพดีเต็มร้อยจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคลมชัก

โรคลมชักหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อทั้งสุขภาพ และอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น

  • เกิดภาวะสมองถูกทำลายอย่างถาวร เช่น โรคหลอดเลือดสมอง
  • ความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities) ในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก
  • เกิดภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspiration Pneumonia) ในขณะที่เกิดอาการชัก
  • อาการบาดเจ็บของสมองที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากศีรษะถูกกระทบกระเทือนซ้ำขณะที่เกิดอาการชัก
  • อุบัติเหตุที่เกิดจากอาการชัก เช่น หกล้ม ลื่นล้ม บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
  • จมน้ำ จากการเกิดอาการชักขณะอยู่ในน้ำ

นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนของโรคลมชักอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตด้วย เพราะผู้ป่วยโรคลมชักมีแนวโน้มอย่างมากที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และในรายที่อาการรุนแรงอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตนั้นเกิดจากปัญหาในการรับมือกับอาการชักและผลข้างเคียงจากการใช้ยา

สำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์ หากเป็นโรคลมชักจะเป็นอันตรายต่อทั้งตัวผู้ป่วยและทารกในครรภ์ และยาต้านอาการชักก็ส่งผลกระทบต่อเด็กทารกได้เช่นกัน ดังนั้น หากผู้ป่วยเพศหญิงต้องการตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งหากได้รับการดูแลที่เหมาะสมก็จะสามารถตั้งครรภ์ได้โดยที่อาการชักไม่ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์

การป้องกันโรคลมชัก

ในเบื้องต้น อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมชักได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

ป้องกันการบาดเจ็บที่สมอง

อาการบาดเจ็บที่สมองคือสาเหตุของโรคลมชักที่มักพบได้บ่อย ดังนั้น ควรป้องกันศีรษะจากการถูกกระทบกระเทือนด้วยวิธีดังนี้

  • ขับขี่อย่างปลอดภัย ใช้อุปกรณ์ป้องกัน คาดเข็มขัดนิรภัย หมวกกันน็อก หากผู้โดยสารเป็นเด็กเล็กควรจัดให้นั่งบนที่นั่งเฉพาะสำหรับเด็กเพื่อความปลอดภัย
  • เดินอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการหกล้ม โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงที่จะพลัดตกหรือหกล้มได้ง่าย จึงควรมีคนคอยดูแลอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะจนเกิดการบาดเจ็บที่สมอง ควรหมั่นดูแลรักษาตัวเองให้มากขึ้นกว่าปกติ เพื่ือหลีกเลี่ยงการเกิดโรคลมชักที่อาจเกิดขึ้นได้หากการดูแลรักษาไม่ดีพอ

ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง

กลุ่มโรคนี้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคลมชักในผู้สูงอายุ ดังนั้น การป้องกันโรคลมชัก รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดคือการดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้

ล้างมือให้สะอาดและรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ

เนื่องจากโรคพยาธิตืดหมู ซึ่งมีสาเหตุมาจากพยาธิที่อยู่ในอาหารที่ปนเปื้อนและไม่ผ่านการปรุงสุก คือหนึ่งในสาเหตุของโรคลมชักที่สามารถพบได้ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก และหมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหารเข้าปากก็อาจช่วยป้องกันโรคพยาธิตัวตืดหมูอันก่อให้เกิดโรคลมชักได้

ดูแลสุขภาพในขณะตั้งครรภ์

ปัญหาสุขภาพในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์และในช่วงการทำคลอดเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกที่เกิดมาเป็นโรคลมชักได้ ดังนั้นมารดาจึงควรดูแลสุขภาพและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามดูแลสุขภาพทั้งแม่และเด็ก จะช่วยให้ความเสี่ยงโรคลมชักของทารกลดลง

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคลมชัก อาจลดความเสี่ยงต่อการกำเริบของอาการได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  • รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง ผู้ป่วยโรคลมชักไม่ควรเปลี่ยนปริมาณยาด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์หากรู้สึกว่าการรับประทานยาไม่สามารถควบคุมอาการชักได้
  • นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถกระตุ้นอาการชักได้ ดังนั้นควรนอนหลับให้ได้วันละ 6–8 ชั่วโมง
  • สวมป้ายข้อมือทางการแพทย์ การสวมใส่ป้ายข้อมือที่ระบุว่าเป็นโรคลมชัก สามารถช่วยให้คนรอบข้างช่วยผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีเมื่ออาการกำเริบ และควรระมัดระวังในการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การขับรถหรือการทำงานกับเครื่องจักร
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดอาการภาวะซึมเศร้าได้ แต่ก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรหยุดพักหากรู้สึกเหนื่อย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรระมัดระวังในการเล่นกีฬาบางอย่าง เช่น การว่ายน้ำ 

การปฏิบัติตนเมื่อพบผู้ป่วยเกิดอาการชัก

ไม่เพียงแต่ตัวผู้ป่วยเท่านั้นที่จะต้องรับมือกับผู้ป่วยที่มีอาการชัก ผู้คนรอบข้างที่ทำงานหรืออาศัยร่วมกับผู้ป่วยโรคลมชักควรต้องรู้วิธีการรับมือกับอาการชักของผู้ป่วยที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน วิธีการปฏิบัติตนของคนรอบข้างเมื่อพบผู้ป่วยเกิดอาการชักมีดังนี้

  • ค่อย ๆ พลิกตัวผู้ป่วยไปด้านใดด้านหนึ่ง
  • หาวัสดุนิ่ม ๆ เช่น หมอน หรือผ้าหนา ๆ รองไว้ใต้ศีรษะผู้ป่วย
  • ปลดเครื่องประดับที่คอ หรือปลดกระดุมเสื้อที่บริเวณคอผู้ป่วยออกเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ห้ามนำนิ้วมือหรือสิ่งของเข้าไปในปาก เพราะอาจตกลงไปในคอจนทำให้หายใจไม่ออก อีกทั้งความเชื่อที่ว่าคนที่เกิดอาการชักจะกัดลิ้นตัวเองนั้นไม่เป็นความจริง
  • อย่าพยายามมัดตัวเพื่อหยุดอาการชักของผู้ป่วย
  • ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารใด ๆ ขณะเกิดอาการชัก
  • หากผู้ป่วยที่มีอาการชักกำเริบมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ควรนำสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายไปให้ห่างตัว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจคาดไม่ถึง
  • อยู่กับผู้ป่วยจนกว่าบุคลากรทางการแพทย์จะเดินทางมาถึง
  • สังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับอาการชักเมื่อการช่วยเหลือมาถึงได้อย่างถูกต้อง
  • จับเวลาที่เกิดอาการชัก
  • ตั้งสติให้มั่นขณะที่อยู่กับผู้ป่วย ไม่ควรวิตกกังวล หรือตื่นตระหนกจนเกินไป