เสียงแหบ

ความหมาย เสียงแหบ

เสียงแหบ (Hoarseness) ตือ อาการที่เสียงเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือมีความผิดปกติ มีระดับสูง-ต่ำหรือความดังของเสียงที่เปลี่ยนแปลงไป มีเสียงหายใจแทรก หรือต้องออกแรงในการเปล่งเสียง  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มักเกิดจากความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับเส้นเสียงในกล่องเสียง (Larynx)

เสียงแหบ

เสียงแหบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและอาการจะหายเองได้ในไม่ช้า แต่หากอาการยังคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและหาทางรักษาต่อไป

อาการของเสียงแหบ

อาการเสียงแหบ อาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น เสียงพูดมีลมหายใจแทรก เสียงแห้งแหบ เสียงสั่น เสียงที่ไม่เป็นธรรมชาติต้องออกแรงมากกว่าปกติ หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงกับระดับสูง-ต่ำ หรือความดังของเสียง ทำให้ไม่สามารถออกเสียงหรือเปล่งเสียงได้ราบรื่นเหมือนปกติ

นอกจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเสียงดังกล่าว อาจเกิดอาการร่วมอย่างอื่นที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุของโรค

หากมีอาการต่อไปนี้ ควรพบแพทย์

  • พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหรือการกลืนอาหาร
  • อาการเสียงแหบและมีน้ำลายไหลยืด เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก
  • อาการเสียงแหบที่เกิดขึ้นในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน
  • อาการเสียงแหบที่เกิดกับเด็กเป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ หรือ 2-3 สัปดาห์ในผู้ใหญ่

สาเหตุของเสียงแหบ

เสียงแหบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยมากจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงและสามารถหายได้เองในไม่ช้า มีสาเหตุที่พบบ่อย คือ กล่องเสียงอักเสบหรือการอักเสบที่เส้นเสียง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่  

  • เนื้องอกที่เส้นเสียง เกิดเป็นตุ่ม ซีสต์หรือถุงน้ำ ติ่งเนื้อ
  • ไข้หวัด
  • การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน
  • โรคกรดไหลย้อน
  • โรคภูมิแพ้
  • ภาวะที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคพาร์กินสัน
  • ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งโพง
  • มะเร็งกล่องเสียง ไทรอยด์ หรือปอด
  • เกิดการบาดเจ็บที่กล่องเสียงหรือเส้นเสียง
  • เกิดจากการใช้เสียงมากเกินไปหรือใช้เสียงในทางที่ผิด เช่น ตะโกนดัง ๆ หรือร้องเพลงเป็นเวลานาน
  • มีอาการไอมากเกินไปหรือไอเป็นเวลายาวนาน
  • ใช้ยาพ่นสเตียรอยด์
  • สูดดมสารพิษ
  • ระคายเคืองจากการสูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การวินิจฉัยเสียงแหบ
แพทย์จะเริ่มวินิจฉัยด้วยการสอบถามถึงอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงโรคประจำตัว สุขภาพโดยรวมและรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์จะตรวจดูกล่องเสียงและบริเวณใกล้เคียงด้วยกระจกส่องหรือเครื่องส่องตรวจกล่องเสียง (Laryngoscope) และประเมินคุณภาพเสียง เช่น

  • เสียงพูดที่มีเสียงเหมือนลมหายใจแทรก อาจหมายถึง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกล่องเสียง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเนื้องอก ติ่งเนื้อ หรือมะเร็งกล่องเสียง
  • เสียงแหบแห้ง อาจหมายถึง เส้นเสียงหนาขึ้นจากอาการบวม การอักเสบจากการติดเชื้อ การระคายเคืองจากสารเคมี การใช้เสียงในทางที่ผิด หรืออัมพาตที่เส้นเสียง
  • เสียงแหบแหลม เสียงสั่น หรือเสียงเบา อาจหมายถึง ปัญหาที่เกี่ยวกับการหายใจ

รวมไปถึงการตรวจเพิ่มเติมด้วยการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เช่น การตัดเนื้อเยื้อไปตรวจ (Biopsy) การเอกซเรย์ปอด ตรวจสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์ หรือการตรวจเลือด เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)

การรักษาเสียงแหบ

การรักษาเสียงแหบมีหลากหลายวิธี แต่การรักษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นสาเหตุ โดยปกติเมื่อสาเหตุของอาการเสียงแหบได้รับการรักษาจนหายแล้ว เสียงที่แหบก็จะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติได้

  • ในขณะที่มีอาการเสียงแหบ ควรงดใช้เสียงหรือพูดเฉพาะที่จำเป็นจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ
  • หากอาการเสียงแหบมาจากการสูบบุหรี่ ผู้ป่วยควรเลิกบุหรี่ โดยอาจขอคำแนะนำจากผู้ให้คำปรึกษาเพื่อการเลิกบุหรี่
  • กล่องเสียงอักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน อาการมักจะดีขึ้นได้เอง หรือทำการรักษาแบบประคับประคองอาการด้วยการรับประทานยาแก้ไอ และใช้เครื่องทำความชื้นในอากาศเพื่อช่วยให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • หากอาการเสียงแหบมาจากโรคกรดไหลย้อน รักษาได้ด้วยการรับประทานยาหรือควบคุมการรับประทานอาหารตามที่แพทย์แนะนำ
  • หากอาการเสียงแหบที่มีสาเหตุจากปุ่มหรือติ่งเนื้อที่เส้นเสียง การบาดเจ็บที่กล่องเสียงหรือเส้นเสียง รวมไปถึงมะเร็งกล่องเสียง อาจมีความจำเป็นที่แพทย์ต้องผ่าตัด

นอกจากนั้น หากพบว่าอาการเสียงแหบที่เป็นต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ โดยไม่ได้รับการรักษา ควรได้รับการวินิฉัยตรวจหาสาเหตุเพิ่ม

ภาวะแทรกซ้อนของเสียงแหบ

สาเหตุของอาการเสียงแหบที่พบบ่อยคือ เกิดจากโรคกล่องเสียงอักเสบ ซึ่งโรคกล่องเสียงอักเสบมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเกิดการแพร่กระจายเชื้อไปยังส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินหายใจ

การป้องกันเสียงแหบ

อาการเสียงแหบป้องกันได้ในบางกรณี ตัวอย่างเช่น

  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องใช้เสียงมากเกินไปหรือใช้เสียงผิดวิธี หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้เสียงดังควรใช้ไมโครโฟนช่วยขยายเสียง
  • ขอคำแนะนำหรือฝึกการใช้เสียงที่ถูกต้องจากนักบำบัดการใช้เสียงหรือการพูด และครูสอนร้องเพลงได้
  • เลิกสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับควันบุหรี่ เนื่องจากการสูดควันบุหรี่เข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเส้นเสียงหรือกล่องเสียง และทำให้คอแห้ง นอกจากนั้น การเลิกบุหรี่ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกล่องเสียงได้อีกด้วย
  • ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรค ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ วันละประมาณ 8 แก้ว ซึ่งช่วยเจือจางเมือกที่อยู่ในลำคอและช่วยให้คอมีความชุ่มชื้นขึ้น
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ เช่น เครื่องดื่มคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเสมือนเป็นยาขับปัสสาวะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้
  • ใช้เครื่องทำความชื้นหรือเครื่องทำไอระเหยเพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ ซึ่งจะช่วยให้หายใจได้สะดวก
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ควรใช้ยาช่วยลดกรดหรือควบคุมการรับประทานอาหารตามที่แพทย์แนะนำ