อาการชัก และสัญญาณรุนแรงที่ควรนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์

อาการชักเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันไป บางคนอาจมีอาการเล็กน้อยโดยไม่มีอาการแขนขากระตุก แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นหมดสติ โดยอาจควบคุมอาการนี้ได้ด้วยการใช้ยาตามที่แพทย์สั่งหรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่แพทย์แนะนำ อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาการชัก เพื่อให้พร้อมรับมือและให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างถูกวิธีเมื่อมีคนใกล้ตัวเกิดอาการขึ้น

2100 อาการชัก rs

อาการชักเป็นอย่างไร ?

อาการชักเกิดขึ้นเมื่อคลื่นไฟฟ้าในสมองถูกรบกวนอย่างฉับพลัน ทำให้การเคลื่อนไหว อารมณ์ และพฤติกรรมเปลี่ยนไป อาการชักมีหลายประเภทและมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าความผิดปกตินั้นเกิดได้อย่างไรและเกิดที่สมองส่วนใด สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการชัก คือ โรคลมชัก แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น นอนน้อย มีเนื้องอกในสมอง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีอาการชักอาจสับสน แขนหรือขากระตุกแบบควบคุมไม่ได้ หรืออาจหมดสติไป โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจคงอยู่ประมาณครึ่งนาทีไปจนถึง 2 นาที อย่างไรก็ตาม หากมีอาการนานกว่า 5 นาที ควรเรียกรถฉุกเฉินหรือพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที

ทั้งนี้ อาการชักอาจควบคุมได้หากเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ ซึ่งผู้ที่มีอาการชักควรให้ความร่วมมือกับแพทย์อย่างเต็มที่ เพื่อให้ควบคุมอาการชักได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นตามมา

สัญญาณและลักษณะของอาการชัก

อาการชักมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแตกต่างกันไป โดยบางคนอาจมีสัญญาณเตือนก่อนจะเกิดอาการชัก เช่น รู้สึกกังวล รู้สึกกลัว หรืออาเจียน เป็นต้น จากนั้นอาจเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น

  • ตาลอย
  • พฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป
  • น้ำลายไหล หรือน้ำลายเป็นฟอง
  • ตากลอกไปมา
  • หายใจมีเสียงดัง
  • ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
  • มีอาการสั่นทั่วร่างกาย
  • มีอาการกัดฟันตัวเอง
  • รู้สึกถึงรสขมหรือรสชาติของโลหะในปาก
  • แขนขาและกล้ามเนื้อกระตุกแบบควบคุมไม่ได้
  • เกิดอาการวูบ แล้วตามด้วยอาการสับสนหรืออาจจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้
  • หยุดหายใจชั่วขณะ
  • หมดสติ หรือล้มลงทันที

นอกจากอาการต่าง ๆ ที่กล่าวไปแล้ว หากผู้ป่วยมีอาการชักในลักษณะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

  • ผู้ป่วยไม่เคยเกิดอาการชักมาก่อน
  • มีไข้สูงร่วมด้วย
  • มีอาการชักนานกว่า 2-5 นาที
  • มีอาการเพลียแดด
  • เกิดอาการชักแล้วไม่ฟื้น ไม่หายใจ หรือเมื่อฟื้นขึ้นมาแล้วพฤติกรรมแปลกไป
  • เกิดอาการชักขึ้นซ้ำอย่างต่อเนื่อง
  • เกิดอาการชักเมื่ออยู่ในน้ำ
  • เป็นโรคเบาหวาน ได้รับบาดเจ็บ หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ด้วยในขณะที่มีอาการชัก
  • อาการชักที่เกิดขึ้นดูแปลกไปเมื่อเปรียบเทียบกับอาการชักที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น

วิธีช่วยเหลือเบื้องต้นหากพบผู้ป่วยที่มีอาการชัก

เมื่อพบคนเกิดอาการชัก ควรหาทางป้องกันบุคคลดังกล่าวจากการล้มลงจนอาจได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยจับผู้ที่กำลังชักให้นอนลงในบริเวณที่ปลอดภัย แล้วคลายเสื้อผ้าหรือสิ่งของที่อยู่รอบคอออก จากนั้นให้พลิกตัวของผู้ที่มีอาการให้อยู่ในท่านอนตะแคงจนกว่าจะดีขึ้นหรือจนกว่ารถฉุกเฉินจะมาถึง แต่ไม่ควรกดผู้ป่วยไว้กับพื้นหรือนำสิ่งของรวมทั้งนิ้วไปงัดปาก ไม่ควรเคลื่อนย้ายบุคคลนั้นหากไม่จำเป็น รวมทั้งไม่ควรปั๊มหัวใจหรือทำซีพีอาร์ (CPR) จนกว่าผู้ป่วยจะหยุดชักแล้วพบว่าไม่มีสัญญาณชีพหรือหยุดหายใจแล้วจึงค่อยทำ CPR เพื่อช่วยชีวิต

นอกจากนี้ หากเด็กเกิดอาการชักและมีไข้สูงร่วมด้วย ควรทำให้เด็กตัวเย็นลงโดยใช้น้ำอุ่นแทนการอาบน้ำเย็นร่วมกับให้รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล และควรพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว