หลักการใช้ยาให้ถูกต้องและปลอดภัย

การใช้ยาให้ถูกต้องตามหลักการใช้ยาจะช่วยควบคุมและบรรเทาอาการของโรคไม่ให้แย่ลง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษา เพราะการใช้ยาไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม เช่น ใช้ยาไม่ถูกกับโรค รับประทานไม่ถูกเวลาและปริมาณที่กำหนด อาจส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย หรือบางครั้งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

การใช้ยาไม่ถูกต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังเกิดบ่อยกับเด็กเล็กที่คิดว่ายาเป็นขนมเลยรับประทานโดยไม่ได้ตั้งใจ และผู้สูงอายุที่มักมีโรคประจำหลายโรค สายตาไม่ดีและความจำแย่ลงตามวัย จึงอาจทำให้หยิบยาผิดหรือลืมรับประทานยา หากอยากรู้ว่าหลักการใช้ยาที่ถูกต้องมีอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบไว้ให้แล้ว

หลักการใช้ยาให้ถูกต้องและปลอดภัย

หลักการใช้ยาให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

ข้อควรรู้และควรปฏิบัติในการใช้ยาอย่างปลอดภัย มีดังนี้

1. สอบถามข้อมูลจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

หลักการใช้ยาที่ถูกต้องข้อแรกคือการสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลของยาและการรับประทานยาอย่างถูกต้อง เช่น

  • วิธีใช้ยา เช่น กลืนยาพร้อมกับการดื่มน้ำ เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน ทาบาง ๆ เฉพาะบริเวณที่เป็น หรือนวดจนตัวยาซึมเข้าสู่ผิว
  • ปริมาณและเวลาในการใช้ยา เช่น รับประทานวันละกี่ครั้ง ช่วงเวลาใดบ้าง ครั้งละกี่เม็ดหรือกี่ช้อน รับประทานติดต่อกันนานเท่าใด หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร
  • ข้อควรระวังในการใช้ยา เช่น ไม่ควรรับประทานยานี้ร่วมกับยา อาหารเสริม หรืออาหารชนิดใด หรือยาบางชนิดอาจทำให้ง่วงนอน จึงไม่ควรขับรถหรือทำงานที่ใช้เครื่องจักร
  • ผลข้างเคียงจากการรับประทานยา และหากเกิดผลข้างเคียงควรทำอย่างไร อาการแบบใดที่ควรไปพบแพทย์

นอกจากนี้ การใช้ยาให้เหมาะสมกับปัจจัยด้านสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับอาการของโรค และระยะเวลาที่เป็น หากมีประวัติแพ้ยา มีโรคประจำตัว และกำลังใช้ยา สมุนไพร อาหารเสริม หรือสารเสพติดชนิดใดอยู่ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเช่นกัน 

โดยทั่วไป ยาที่แพทย์สั่งจ่ายมักจะระบุปริมาณและระยะเวลาการรับประทานไว้ที่ฉลาก แต่กรณีที่ซื้อยามารับประทานหรือใช้เอง ควรให้เภสัชกรเขียนปริมาณและระยะเวลาการรับประทานยาที่ฉลาก หรือจดข้อมูลยาไว้เองเพื่อป้องกันการลืมและใช้ยาผิด

2. ใช้ยาให้ถูกขนาด

การรับประทานยาเกินขนาดอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ซึ่งปริมาณและระยะห่างในการรับประทานยาแต่ละชนิดแตกต่างกัน ควรใช้ตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำเท่านั้น

เช่น ยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานได้ครั้งละไม่เกิน 2 เม็ด หรือ 1,000 มิลลิกรัม รวมไม่เกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม และเว้นระยะห่างของการรับประทานยาแต่ละครั้งอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

การใช้ยากับเด็ก ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสม พ่อแม่ไม่ควรซื้อยาให้เด็กรับประทานเอง โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และไม่ควรให้เด็กรับประทานยาในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่ เนื่องจากการดูดซึมและการขับถ่ายยาออกจากร่างกายของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ 

3. ใช้ยาให้ถูกเวลา

ควรใช้ยาตามระยะเวลาที่ระบุบนฉลากหรือตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งโดยทั่วไปมีหลักการใช้ยาให้ถูกเวลา ดังนี้ 

  • ยาก่อนอาหาร ควรรับประทานก่อนอาหาร 15–30 นาที
  • ยาหลังอาหาร ควรรับประทานหลังอาหาร 15–30 นาที เพื่อให้กรดจากน้ำย่อยช่วยดูดซึมยา หากเป็นยาหลังอาหารทันที ควรรับประทานยาทันทีหลังรับประทานอาหารอิ่ม
  • ยาก่อนนอน ควรรับประทานก่อนนอน 15–30 นาที

นอกจากนี้ ควรรับประทานยาเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น ไม่ควรรับประทานยากันไว้ก่อนหากยังไม่มีอาการใด ๆ รวมทั้งไม่ควรแบ่งยาของตัวเองให้คนอื่นหรือรับประทานยาของคนอื่น เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เนื่องจากแต่ละคนมีอาการและปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกัน 

หลายคนมักหยุดยาเองเมื่อเห็นว่าอาการดีขึ้นแล้ว แต่ยาหลายชนิดไม่ควรหยุดใช้เอง เช่น ยาปฏิชีวนะควรรับประทานติดต่อกันจนหมดตามที่แพทย์สั่งเพื่อป้องกันการดื้อยา รวมทั้งผู้ใช้ยารักษาโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง และโรคทางจิตเวช ไม่ควรหยุดใช้ยาเองเพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้

4. เก็บยาให้เหมาะสม

การจัดเก็บยาอย่างเหมาะสมเป็นหลักการใช้ยาที่ถูกต้องที่หลายคนนึกไม่ถึง การเก็บยาอย่างเหมาะสมจะช่วยคงประสิทธิภาพของยาไม่ให้เสื่อมก่อนหมดอายุ และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจากการรับประทานยาที่เสื่อมสภาพ 

ยาแต่ละชนิดมีวิธีการจัดเก็บต่างกัน โดยทั่วไปควรเก็บยาในที่แห้งในอุณหภูมิห้อง หรือประมาณ 18–25 องศาเซลเซียส เก็บในที่แสงแดดส่องไม่ถึง และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง แต่ยาบางชนิด เช่น ยาหยอดตา ควรเก็บในตู้เย็น จึงควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการเก็บยาอย่างเหมาะสม

หลังใช้ยาควรเก็บยาในซองยาหรือกล่องยาที่ปิดมิดชิด หากยังไม่ต้องการใช้ยาไม่ควรแกะเม็ดยาออกจากแผงยา และไม่ควรรับประทานยาที่เปิดไว้นานแล้ว โดยเฉพาะยาน้ำ และหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุของยา หากยาหมดอายุ หรือมีลักษณะเยิ้มเหนียว มีสีและกลิ่นเปลี่ยนไป ไม่ควรใช้ยาดังกล่าว 

5. สังเกตอาการผิดปกติหลังใช้ยา

ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาอาจเกิดขึ้นในการรับประทานยาครั้งแรก การรับประทานยาผิดเวลาหรือผิดขนาด การรับประทานยาที่หมดอายุ การรับประทานยากับเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ยา หรืออาหารเสริมชนิดอื่น

ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยมักไม่รุนแรง เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ ปากแห้ง และง่วงซึม แต่บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น เกิดความเสียหายต่อตับและไต หัวใจขาดเลือด ไปจนถึงการเสียชีวิต 

นอกจากนี้ บางรายอาจเกิดอาการแพ้ยา ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านยา ทำให้มีผื่นคันที่ผิวหนัง เคืองตา น้ำตาและน้ำมูกไหล ใบหน้าบวม และมีไข้ แต่บางคนอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หายใจลำบาก ชัก และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากมีอาการเหล่านี้ควรหยุดใช้ยา และไปพบแพทย์ทันที

การรับประทานยาอย่างถูกต้องตามหลักการใช้ยา นอกจากจะช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพ ยังช่วยป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาอีกด้วย ดังนั้น ก่อนใช้ยาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเสมอ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา และหากมีอาการผิดปกติใด ๆ หลังการใช้ยา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป