ยาหมดอายุกับข้อควรรู้เพื่อความปลอดภัย

รู้หรือไหมว่ายาทุกชนิดมีวันหมดอายุ ซึ่งวันหมดอายุนั้นจะมีการระบุไว้บนฉลากบรรจุภัณฑ์และอาจมีสัญลักษณ์ EXP ตามด้วยตัวเลขวัน เดือน ปีกำกับไว้  ผู้ป่วยจึงควรใส่ใจกับวันหมดอายุที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อให้การใช้ยาเป็นไปอย่างปลอดภัย

ยาหลายชนิดอาจเสื่อมประสิทธิภาพไปตามกาลเวลา อีกทั้งยาบางชนิดอาจหมดอายุก่อนวัน เดือน ปีที่ระบุอยู่บนฉลากเนื่องจากการเก็บรักษาไม่เหมาะสม การรับประทานยาตามวันที่ระบุบนฉลากนั้นสำคัญอย่างไร และยาหมดอายุชนิดใดบ้างที่อาจเป็นอันตรายหากรับประทาน บทความนี้มีคำตอบ 

ยาหมดอายุกับข้อควรรู้เพื่อความปลอดภัย

วันหมดอายุบนฉลากหมายความว่าอย่างไร?

วัน เดือน ปีที่ระบุอยู่บนฉลากยานั้นหมายถึง วันสุดท้ายที่ผู้ผลิตรับประกันว่า ยาสามารถบรรเทาอาการหรือรักษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งจะระบุอยู่บนฉลากบรรจุภัณฑ์ของยาเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ (Over-The-Counter: OTC) และรวมไปถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรืออาหารเสริมด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามผู้ผลิตไม่สามารถให้การรับรองได้ว่ายาที่หมดอายุจะมีประสิทธิภาพในการรักษาคงเดิมเนื่องจากเหตุผลทางกฎหมายและความรับผิดชอบ อีกทั้งหลังการเปิดใช้ยาจากบรรจุภัณฑ์เป็นครั้งแรก ก็ไม่สามารถรับรองได้แม่นยำว่ายาจะหมดอายุตามวัน เดือน ปีที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่

ยาหมดอายุปลอดภัยจริงหรือ ?

โดยส่วนมากแล้ว ยาหมดอายุจะมีประสิทธิภาพในการรักษาลดลงและเกิดความเสี่ยงในการใช้ยา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ตัวยามีความเข้มข้นน้อยลง อาจมีแบคทีเรียเจริญเติบโตในยาหมดอายุบางชนิด และยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการรักษาอาการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้อาการเจ็บป่วยมีความรุนแรงมากขึ้นหรือเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะได้ ดังนั้นจึงห้ามรับประทานหากพบว่า ยาหมดอายุหรือมีลักษณะที่เปลี่ยนไปเนื่องจากการจัดเก็บที่ไม่เหมาะสม 

ตัวอย่างของยาที่เป็นอันตรายหากรับประทานหลังวันหมดอายุ ได้แก่ อินซูลิน วีคซีน ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเตตราไซคลิน (Tetracycline) รวมไปถึงยาไนโตรกลีเซอรินชนิดรับประทาน (Oral Nitroglycerin: NTG) ที่ประสิทธิภาพของยาจะลดลงอย่างรวดเร็วทันทีที่เปิดขวด ทั้งนี้หากพบว่ายาเปลี่ยนจากลักษณะเดิมกลายเป็นผง ละลาย แห้งหรือมีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง และหากยาฉีดมีลักษณะขุ่น เปลี่ยนสีหรือมีตะกอนที่เห็นได้ชัดเจนลอยอยู่ด้านบน ก็ไม่ควรนำมาใช้หรือรับประทานเนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นกัน 

การทิ้งยาหมดอายุอย่างถูกวิธี

หากมียาหมดอายุ ควรเก็บให้พ้นมือเด็กหรือสัตว์เลี้ยง และนำยาดังกล่าวไปคืนให้สถานบริการสุภาพที่จ่ายยาให้เรามาหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำจัดสารเคมีอันตรายในครัวเรือน เพื่อให้ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่ควรทิ้งลงอ่างล้างจานหรือชักโครกนอกจากจะมีคำแนะนำกำกับอยู่ และควรลบชื่อและรายละเอียดต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ก่อนนำไปทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นทราบถึงข้อมูลการรักษา

อย่างไรก็ตามการอ่านฉลากเพื่อดูวันหมดอายุควบคู่ไปกับการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของยาทุกครั้งก่อนการใช้ยาเป็นเรื่องสำคัญ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวยาแม้ว่าจะยังไม่ถึงวันหมดอายุ ผู้ป่วยควรนำยาไปให้เภสัชกรตรวจสอบเพื่อขอคำปรึกษาและควรหยุดการใช้ยาทันที ยิ่งไปกว่านั้นยังควรขอคำแนะนำในการจัดเก็บยาแต่ละชนิดอย่างเหมาะสม เช่น เก็บยาในที่เย็นและแห้ง หรือไม่แกะยาออกจากบรรจุภัณฑ์หากยังไม่รับประทาน