Levetiracetam (ลีวีไทราซีแทม)

Levetiracetam (ลีวีไทราซีแทม)

Levetiracetam (ลีวีไทราซีแทม) เป็นยากันชักที่อาจช่วยลดอาการชักได้หลายชนิด นำมาใช้รักษาอาการชักหรืออาจใช้ร่วมกับยาต้านชักชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ อาจนำมาใช้รักษาโรคอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย
1545 Levetiracetam Resized

ยา Levetiracetam มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Levetiracetam

กลุ่มยา ยาต้านชัก
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาอาการชัก
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Levetiracetam

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากเป็นผู้ป่วยที่ไตทำงานผิดปกติหรือกำลังฟอกไต เนื่องจากยา Levetiracetam อาจต้องถูกปรับลดปริมาณลงเมื่อใช้กับผู้ป่วยที่ไตผิดปกติ
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • ระหว่างที่ใช้ยา ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง
  • ห้ามหยุดใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการชัก และหากหยุดใช้ยาก็ต้องค่อย ๆ หยุดยาตามที่แพทย์สั่ง
  • ยานี้อาจทำให้อารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป หากเกิดความผิดปกติใด ๆ ให้ไปปรึกษาแพทย์
  • ยา Levetiracetam อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรงได้ อย่างภาวะแองจิโออีดีมา (Angioedema) หรืออาการบวมรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ใบหน้าบวม มือบวม ริมฝีปากบวม ตาบวม ลิ้นบวม หรือคอบวม มีปัญหาในการหายใจและการกลืน หรือเสียงแหบผิดปกติ ซึ่งหากพบอาการผิดปกติดังกล่าวให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ให้ใช้ยาอย่างระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงได้สูง
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้กับเด็ก และใช้ยาอย่างระมัดระวังเสมอ
  • เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปีที่ใช้ยานี้ อาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตอยู่บ่อยครั้ง
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้เสมอ และยานี้อาจออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์
  • สตรีที่ให้นมบุตรหรือวางแผนให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Levetiracetam

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ใช้ร่วมกับยารักษาอาการชักชนิดอื่น

ยาฉีด

ผู้ใหญ่ สำหรับผู้ป่วยทีี่มีอาการชักเฉพาะส่วน โดยอาจมีหรือไม่มีอาการชักทั้งตัวในภายหลัง อาการชักแบบชักสะดุ้ง และอาการชักชนิดชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ในวันที่ 1 ให้หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณเริ่มต้น 500 มิลลิกรัมเป็นเวลาประมาณ 15 นาที วันละ 2 ครั้ง และปรับลดหรือเพิ่มปริมาณยาจากเดิมแล้วให้ยาวันละ 2 ครั้งในช่วงระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ โดยปริมาณยาสูงสุดต้องไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

เด็ก

  • อายุไม่เกิน 6 เดือนจนถึง 1 ปี ให้หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ ปริมาณยาเริ่มต้น 14 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณอีก 14 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 42 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม ให้หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณยาเริ่มต้น 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาอีก 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในสัปดาห์ที่ 2 โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำเป็นเวลาประมาณ 15 นาที

ยารับประทาน

ผู้ใหญ่ สำหรับผู้ป่วยทีี่มีอาการชักเฉพาะส่วน โดยอาจมีหรือไม่มีอาการชักทั้งตัวในภายหลัง อาการชักแบบชักสะดุ้ง และอาการชักชนิดชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ในวันที่ 1 ให้รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และปรับลดหรือเพิ่มปริมาณยาอีก 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ โดยปริมาณยาสูงสุดต้องไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

เด็ก

  • อายุน้อยกว่า 6 เดือนจนถึง 1 ปี รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 14 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน อาจปรับปริมาณยาเพิ่มอีก 14 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 โดยมีปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 42 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน อาจเพิ่มปริมาณยาอีก 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 โดยมีปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ใช้รักษาอาการชักเฉพาะส่วน โดยอาจมีหรือไม่มีอาการชักทั้งตัวในภายหลังร่วมด้วย และใช้เป็นยารักษาเพียงขนานเดียว

ยาฉีด

ผู้ใหญ่ ให้ยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณเริ่มต้น 250 มิลลิกรัม เป็นเวลาประมาณ 15 นาที วันละ 2 ครั้ง หลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ เพิ่มปริมาณขึ้นจากเดิม 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และอาจเพิ่มปริมาณยาขึ้นอีก 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก ๆ 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยา โดยมีปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

ยารับประทาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาเริ่มต้น 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังผ่านไป 2 สัปดาห์ เพิ่มปริมาณจากเดิม 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง อาจเพิ่มปริมาณยาอีก 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก ๆ 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยา โดยมีปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

การใช้ยา Levetiracetam

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ยา Levetiracetam ชนิดยาฉีดจะใช้หยดเข้าทางหลอดเลือดดำภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ยา Levetiracetam ชนิดรับประทาน ผู้ป่วยสามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
  • หากลืมรับประทานยา ควรปรึกษาแพทย์
  • หากสงสัยว่าตนรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ระหว่างที่ใช้ยา ควรดื่มน้ำเปล่าให้มาก นอกจากแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีเก็บยาและกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Levetiracetam

การใช้ยา Levetiracetam อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ท้องเสีย เวียนศีรษะ ง่วงนอน คัดจมูก ระคายเคืองคอและจมูก ปวดท้อง นอนไม่หลับ รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน อาเจียน และไม่อยากอาหาร เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง มีเม็ดพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • กลุ่มอาการสตีเวนส์–จอห์นสัน ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ผิวหนังและเยื่อบุผิวทั่วร่างกาย
  • มีการติดเชื้อ ซึ่งอาจมีอาการบางอย่าง เช่น มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอรุนแรง เจ็บหู เจ็บไซนัส ไอ มีเสมหะมาก เสมหะเปลี่ยนสี เจ็บเวลาปัสสาวะ มีแผลในปาก และแผลหายช้า เป็นต้น
  • ง่วงนอนมาก รู้สึกเหนื่อย หรืออ่อนเพลีย มากผิดปกติ
  • การทรงตัวเปลี่ยนแปลง การเดินผิดปกติ
  • มีเลือดออกหรือมีรอยฟกช้ำผิดปกติโดยไม่สามารถอธิบายได้
  • ปวดศีรษะมาก เวียนศีรษะรุนแรง หรือหมดสติ
  • อาการชักรุนแรงขึ้น หรือมีอาการเหมือนก่อนใช้ยา
  • ประสาทหลอน

นอกจากนี้ ยา Levetiracetam ชนิดยาฉีด อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ใช้มีความคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติพฤติกรรมดังกล่าว ดังนั้น หากพบว่ามีอาการ เช่น ซึมเศร้า ประหม่า กระสับกระส่าย หงุดหงิด โรคแพนิค อารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการแย่ลงหรือมีอาการใหม่เกิดขึ้น เป็นต้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และหากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน