นอกจากอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ในแสงแดดที่เราต้องต่อกรด้วยทุกวันแล้ว แสงอีกประเภทที่น่ากลัวและอยู่ใกล้ตัวเราในชีวิตประจำวัน แต่หลายคนยังไม่ตระหนักถึงอันตรายมากนัก คือแสงจากอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ แสงไฟ LED จากหน้าจอสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และทีวีจอแบน แสงที่อุปกรณ์เหล่านี้ปล่อยออกมามีชื่อเรียกง่าย ๆ ว่า แสงสีฟ้า
แสงสีฟ้า (Blue Light) คือ แสงพลังงานสูงที่มองเห็นได้ (High-energy Visible Light: HEV) เป็นหนึ่งในเจ็ดของสเป็คตรัมแสงสีรุ้งที่ประกอบไปด้วยสีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง อย่างที่เราเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้าก็เพราะแสงนี้นั่นเอง แสงสีฟ้ามีคลื่นความยาวประมาณ 400-500 นาโนเมตร เป็นคลื่นความยาวที่สั้นที่สุด พลังงานมากที่สุด นอกจากจะมีอยู่ในแสงแดดแล้วก็ยังมีอยู่ในสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วย
แสงสีฟ้านำมาใช้ในอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อเพิ่มความสว่างและความชัดของหน้าจอ แม้ว่าแสงสีฟ้าที่สังเคราะห์ขึ้นจะเป็นส่วนเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับแสงที่ปล่อยโดยตรงมาจากดวงอาทิตย์ แต่การใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านี้บ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องหลายปีสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อสายตา เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ ดังนี้
เสี่ยงจอประสาทตาเสื่อม
ในระยะยาวดวงตาที่รับแสงสีฟ้ามากเกินไปสามารถนำไปสู่การเสื่อมของศูนย์กลางเรตินา การวิจัยทางการแพทย์เผยว่าแสงสีฟ้าสามารถแทรกผ่านสารสีที่พบในตาและเป็นอันตรายต่อดวงตาบริเวณเซลล์ที่ศูนย์กลางเรตินา โดยจะเข้าไปลดความเข้มข้นของสารสี เกิดเป็นปัจจัยเสี่ยงให้จอประสาทตาเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้น ที่สำคัญโรคนี้อันตรายถึงขั้นตาบอดได้เลย นอกจากนี้สถาบันโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุยังรายงานว่า แสงสีฟ้าอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดโรคนี้ก่อนวัยอันควร จากที่ปกติพบในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
ดวงตาล้าจากการจ้องหน้าจอ
ทุกครั้งที่จ้องหน้าจอ ดวงตาของคนเราต้องทำงานหนักจากการเพ่งมองภาพที่ประกอบขึ้นมาจากพิกเซลเล็กๆ ที่สั่นไหวอยู่ตลอดทุกวินาที และเนื่องจากคุณสมบัติของแสงสีฟ้าที่มีคลื่นความยาวสั้นที่สุด ทำให้การกระจายของแสงสูงกว่าแสงสีอื่น ๆ ส่งผลให้ระบบสายตาทำงานลำบากและโฟกัสภาพบนจอได้ยาก ความคมชัดของภาพจึงลดลงและทำให้ตาอ่อนล้า นอกจากนี้อาจตามมาด้วยอาการปวดไหล่ ปวดหัว ระคายเคืองที่ตา เจ็บตา ตาพร่าหรือเห็นภาพซ้อน ตาอ่อนไหวต่อแสงแดด น้ำตาไหล ตาแห้ง และมองภาพไม่ชัดเจนได้ด้วย
นาฬิกาชีวิตผิดเพี้ยน
การได้รับแสงสีฟ้าในเวลากลางวันจะทำให้รู้สึกกระตือรือร้น ช่วยในเรียนรู้ การจดจำ และอารมณ์ดีขึ้น แต่ตรงกันข้าม การได้รับแสงสีฟ้าในตอนกลางคืน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกลางคืนหรือปิดไฟเล่นโทรศัพท์มือถือ 2-3 ชั่วโมงก่อนนอน จะส่งผลกระทบต่อการตื่นและการนอนได้มาก อาจทำให้ต้องเผชิญภาวะนอนไม่หลับ และเกิดอาการเหนื่อยล้าในเช้าวันถัดไป
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทดสอบด้วยการเปรียบเทียบผลกระทบจากการได้รับแสงสีฟ้ากับแสงสีเขียวที่มีคลื่นความยาวในระดับถัดจากแสงสีฟ้าเพียงแถบเดียวเป็นเวลา 6 ชั่วโมงครึ่ง พบว่าฮอร์โมนเมลาโทนินที่มีหน้าที่ควบคุมนาฬิกาชีวิตจะถูกยับยั้งโดยแสงสีฟ้า และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของนาฬิกาชีวิตในกลุ่มผู้ทดลองเป็นสองเท่าของแสงสีเขียวเลยทีเดียว
สุขภาพตาที่ดีสร้างได้ง่าย ๆ
การหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าที่มีอยู่แทบทุกที่คงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ทุกคนต่างมีโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองง่าย ๆ เพียงไม่กี่ข้อต่อไปนี้อาจช่วยต่ออายุของสุขภาพสายตาให้อยู่กับเราได้นานยิ่งขึ้น
- ไม่จ้องหน้าจอใกล้เกินไป ควรรักษาระยะห่างที่ประมาณ 20-26 นิ้ว หรือในระยะที่สามารถเหยียดแขนตรงออกไปแตะหน้าจอได้ ซึ่งจะเป็นระยะที่สบายต่อสายตา
- ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ตรงหน้า ไม่เอียงซ้ายหรือขวา และอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาประมาณ 10-15 องศา และเงยหน้าจอขึ้น 10-15 องศา เพื่อป้องกันอาการเมื่อยคอและไหล่จากการนั่งผิดท่า
- ใช้สูตร 20-20-20 วิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อในการเพ่งมองของดวงตาที่แพทย์สายตาต่างแนะนำ ทำได้ง่าย ๆ โดยการหยุดพักสายตาเป็นเวลา 20 วินาที ทุก ๆ 20 นาที ด้วยการมองไกลออกไป 20 ฟุต วิธีนี้ยังกระตุ้นให้เรากระพริบตาเพื่อเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงที่ดวงตาด้วย เพราะการจ้องคอมเป็นเวลานาน ๆ มักทำให้ลืมกระพริบตาไปโดยปริยาย
- ปรับความสว่างของหน้าจอในระดับสบายตา ให้แสงไฟโดยรอบอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและพอดีกัน ไม่สว่างจ้าจนตัดกันเกินไป
- เลือกเลนส์แว่นตาที่ป้องกันการสะท้อนแสง และหลีกเลี่ยงการนั่งบริเวณที่หน้าจอเกิดแสงสะท้อน เพื่อช่วยให้สบายตายิ่งขึ้น
- ควรถือสมาร์ทโฟนให้ห่างสายตาเพื่อช่วยลดอาการล้า และควรปรับขนาดตัวอักษรและรูปภาพให้อ่านแล้วสบายตา
- ตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี ปัญหาทางสายตาอย่างสายตายาว สายตาเอียง หรือตาพร่าก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดวงตาอ่อนล้าจากการเล่นคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้น จึงควรตรวจเช็คสายตาเพื่อตัดเลนส์ที่ช่วยปรับสายตาให้เป็นปกติและใช้คอมพิวเตอร์ได้สบายตายิ่งขึ้น
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาในการตัดแว่นสายตาสำหรับภาวะแสงน้อย เพื่อช่วยปรับภาพให้สว่างขึ้น อีกทั้งยังบรรเทาอาการล้าจากการจ้องหน้าจอและป้องกันแสงสีฟ้าได้ด้วย
- รับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา การได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพดวงตาและลดความเสี่ยงต่อปัญหาด้านการมองเห็น อาหารที่ควรรับประทานเพื่อสุขภาพตาที่แข็งแรง เช่น
- ลูทีน (Lutein) และซีแซนทิน (Zeaxanthin) พบได้ในไข่ไก่ ส้ม มะละกอ ข้าวโพด และผักใบเขียวอย่างคะน้า บรอกโคลี่ ผักโขม เป็นต้น มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลตและแสงสีฟ้า อีกทั้งมีงานวิจัยหลายงานชี้ว่าสารทั้ง 2 ชนิดนี้อาจช่วยป้องกันและรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก และโรคตาบอดตอนกลางคืนจากกรรมพันธุ์ได้
- เบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) มักพบได้จากอาหารที่มีสีเหลืองหรือส้ม เช่น แครอท ฟักทอง มันเทศ มะม่วง เป็นต้น ร่างกายจะเปลี่ยนสารชนิดนี้เป็นวิตามินเอที่มีคุณสมบัติช่วยในด้านการมองเห็นและบำรุงสายตา โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางงานสนับสนุนว่าการรับประทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนหรือวิตามินเอ รวมทั้งสารอาหารอื่นที่คาดว่ามีคุณสมบัติช่วยป้องกันความเสียหายของจอประสาทตาจากอนุมูลอิสระได้เช่นเดียวกันอย่างวิตามินซี วิตามินอี และอย่างสังกะสี น่าจะช่วยชะลอการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้
- บิลเบอร์รี่ (Bilberry) หนึ่งในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่อาจมีประโยชน์ในการช่วยถนอมและบำรุงสายตา เนื่องจากมีการศึกษาบางชิ้นพิสูจน์ให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมที่ประกอบด้วยสารสกัดจากบิลเบอร์รี่ช่วยลดอาการตาล้าที่เกิดจากการเพ่งมองจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
- คริลล์ ออยล์ (Krill Oil) เป็นน้ำมันสกัดจากสัตว์น้ำในตระกูลเคย ประกอบไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างแอสตาแซนทิน (Astaxanthin) ซึ่งคาดว่ามีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพดวงตา และมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวสนับสนุนว่าการรับประทานอาหารเสริมที่ประกอบด้วยแอสตาแซนทิน ลูทีน กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิด DHA และไซยานิดิน-3-กลูโคไซด์ (Cyanidin-3-Glucoside) มีส่วนช่วยลดอาการตาล้า ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อผู้ที่ต้องใช้สายตาจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ