แสงสีฟ้ากับสุขภาพดวงตาและวิธีป้องกัน

คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอของเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแสงสีฟ้าที่มากับอุปกรณ์เหล่านี้ เนื่องจากมีรายงานทางวิทยาศาสตร์พบว่า แสงสีฟ้าอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาและเพิ่มความเสี่ยงของโรคตาได้ 

แสงสีฟ้าหรือแสงสีน้ำเงิน (Bluelight) เป็นแสงที่มีความยาวคลื่น 400–450 นาโนเมตร ซึ่งความยาวคลื่นระยะนี้ทำให้สายตามนุษย์มองเห็นเป็นสีฟ้าและสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า บางครั้งแสงสีฟ้าอาจสะท้อนออกมาพร้อมกับสีอื่น ๆ จึงทำให้ไม่เห็นสีเป็นสีฟ้าชัดเจนหรืออาจเห็นเป็นสีอื่นแทน

แสงสีฟ้าเวลากลางคืน

แสงสีฟ้าส่งผลต่อดวงตาอย่างไร?

ในทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แสงที่มีความยาวคลื่นในระยะดังกล่าวอาจมีพลังงานและความเข้มข้นสูงกว่าแสงในระยะอื่นหรือแสงที่เป็นสีอื่น หากเซลล์ของดวงตาสัมผัสกับแสงสีฟ้าอาจทำให้เซลล์เสียหายได้ โดยอาการทั่วไปที่พบได้เมื่อดวงตาสัมผัสกับแสงสีฟ้า คือ ปวดตา ตาแห้ง และปวดศีรษะ

การสัมผัสกับแสงสีฟ้าไม่เพียงส่งผลต่อดวงตาเท่านั้น แต่การอยู่หน้าจอติดต่อกันนานเป็นประจำอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในด้านอื่นด้วย โดยมีบางทฤษฎีชี้ว่าแสงสีฟ้าอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) ซึ่งเป็นกลไกควบคุมการทำงานของร่างกายในแต่ละช่วงเวลาของวัน โดยแสงสีฟ้าอาจทำให้การทำงานของนาฬิกาชีวภาพเปลี่ยนแปลงหรือผิดเพี้ยนไป ทำให้มีปัญหานอนหลับยาก นอนไม่หลับ นอนไม่เป็นเวลา อารมณ์เปลี่ยนแปลง และมีการเคลื่อนไหวน้อยลง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการกระตุ้นจากแสงและพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟน

แสงสีฟ้าทำให้ตาบอดได้ไหม?

แม้หลายคนจะตระหนักถึงผลกระทบของการใช้โทรศัพท์ แต่บางครั้งก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง ทำให้เกิดความกังวลและสงสัยว่าแสงชนิดนี้ส่งผลต่อดวงตามากน้อยแค่ไหน แสงสีฟ้าอันตรายถึงขั้นทำให้ตาบอดได้หรือไม่ จากข้อมูลทางการแพทย์ในปัจจุบันสรุปว่า แสงสีฟ้าจากหน้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้มีส่วนทำให้ตาบอดหรือทำให้เกิดโรคดวงตาแต่อย่างใด

แต่ข้อมูลในอีกด้านพบว่า การจ้องแสงสีฟ้าที่มีความเข้มข้นสูง (High-intensity blue light) จากแหล่งกำเนิดแสงโดยตรง อย่างหลอดไฟแอลอีดี (LED) หลอดไส้ หรือดวงอาทิตย์ อาจเป็นอันตรายต่อดวงตาและอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรค AMD (Age-related Macular Degeneration) หรือโรคจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งสาเหตุหลักของโรคนั้นมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยโรคนี้อาจส่งผลให้การมองเห็นแย่ลงหรือร้ายแรงจนสูญเสียการมองเห็นได้ 

อย่างไรก็ตาม ตามทฤษฎีงานวิจัยแสงสีฟ้าอาจเป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นเท่านั้น โดยคาดกันว่าแสงสีฟ้าทำให้จุดรับภาพ (Macula) ของจอประสาทตาเสียหายและเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น

วิธีปกป้องดวงตาจากแสงสีฟ้า

แม้ว่าข้อมูลในปัจจุบันไม่ได้สรุปว่าแสงสีฟ้าทำให้ตาบอด แต่ผลข้างเคียงอื่นก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเรียน และการใช้ชีวิต การปกป้องดวงตาจากแสงสีฟ้าจึงเป็นอีกวิธีที่อาจช่วยบรรเทาและลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ โดยวิธีลดความเสี่ยงจากแสงสีฟ้าทำได้ดังนี้

1. จำกัดการใช้งานเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์

วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยลดการสัมผัสกับแสงหน้าจอได้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยควรพักสายตาเป็นประจำ รักษาระยะห่างระหว่างหน้าจอกับดวงตาให้เหมาะสม และลดการใช้สมาร์ทโฟนให้น้อยลงหากในวันนั้นต้องใช้สายตาไปกับจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

2. ใช้โหมดกลางคืน 

เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่มักมีโหมดกลางคืนหรือ ไนท์โหมด (Night Mode) ให้เลือกใช้ เพื่อลดแสงสว่างของหน้าจอและปรับสีของแสงหน้าจอให้มีความเข้มข้นน้อยลง จึงอาจช่วยลดผลกระทบจากแสงสีฟ้าได้ นอกจากนี้ การปรับแสงภายในห้องให้เหมาะสม ไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป และเพิ่มความคมชัดของหน้าจอเพื่อให้มองเห็นชัดขึ้นอาจลดอาการตาล้าได้

3. ใช้อุปกรณ์ป้องกันแสงสีฟ้า

แม้ว่าแสงสีฟ้าจากหน้าจอไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตา แต่หากจำเป็นต้องสัมผัสกับแสงหน้าจอและกังวลเกี่ยวกับแสงสีฟ้าอาจเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันแสง เช่น แว่นตากรองแสงสีฟ้า ฟิล์มหรือแผ่นกรองแสงสำหรับหน้าจอ ฯลฯ นอกจากนี้ แสงจากดวงอาทิตย์ก็มีแสงสีฟ้าเป็นส่วนประกอบ จึงอาจป้องกันได้ด้วยการสวมแว่นกันแดด

4. เลิกบุหรี่

สารพิษภายในบุหรี่เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคหลายโรค รวมถึงโรคจอประสาทตาเสื่อมหรือ AMD ที่ส่งผลต่อการมองเห็น ดังนั้น การงดหรือลดการสูบบุหรี่ก็อาจชะลอการเสื่อมของเซลล์ภายในดวงตาได้อีกทาง

5. ตรวจสุขภาพดวงตา

โดยทั่วไป ผู้ที่ไม่มีปัญหาด้านการมองเห็น ไม่มีความเสี่ยงหรือสัญญาณของความผิดปกติบริเวณดวงตา ควรเริ่มเข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตาเมื่ออายุ 40 ปี ซึ่งจักษุแพทย์อาจตรวจสุขภาพตาเบื้องต้นและนัดหมายการตรวจในครั้งต่อไป แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา อย่างตนเองหรือคนในครอบครัวมีโรคประจำตัวของที่เกี่ยวกับดวงตา โรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับตรวจดวงตาก่อนอายุ 40 ปี และถี่กว่าคนอีกกลุ่ม

 

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินอี สังกะสี ลูทีน ซีแซนทีน (Zeaxanthin) กรดไขมันโอเมก้า 3 อาจช่วยรักษาการทำงานของดวงตาและลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ หากใครมีปัญหาทางด้านสายตาก็ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง