ถนอมสายตาอย่างไรไม่ให้เสื่อมก่อนวัย

ดวงตาของคนเรามีความละเอียดอ่อนและต้องการดูแลเป็นพิเศษ เมื่ออายุมากขึ้นบวกกับปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ทำให้ดวงตาเหนื่อยล้าและเสื่อมก่อนวัยได้ง่าย การดูแลสายตาอย่างถูกวิธีจะช่วยถนอมสายตาให้แข็งแรงและสดใสอยู่กับคุณไปนานเท่านานด้วยเคล็ดลับง่าย ๆ ต่อไปนี้

ถนอมสายตา

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อุดมด้วยสารอาหารครบถ้วน

สุขภาพดวงตาที่ดีเริ่มต้นจากอาหารที่เรารับประทาน การเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ลูทีน ซิงค์ วิตามินซี วิตามินอี อาจจะช่วยชะลอหรือลดการเกิดโรคทางสายตา เช่น โรคจอตาเสื่อม (Macular Degeneration) และโรคต้อกระจก (Cataracts)   

แหล่งสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพดวงตา เช่น

  • ผักโขม หรือผักใบเขียวเข้มอื่น ๆ   
  • ปลาแซมอน ปลาทูน่า หรือเนื้อปลาที่มีกรดไขมันจำเป็นสูง
  • ไข่ ถั่ว โปรตีนที่ไม่ได้มาจากเนื้อสัตว์
  • ส้ม ผลไม้หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยว
  • หอยนางรม เนื้อหมู สัตว์ปีก
  • ธัญพืช
  • ผักผลไม้ที่มีสีเหลืองหรือส้ม ซึ่งมีสารเบต้าแคโรทีน เช่น แครอท

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

นอกเหนือจากการรับประทานในสัดส่วนที่เหมาะสม ในแต่ละสัปดาห์ควรมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ห่างไกลจากโรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันสูง หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตัวโรคอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อดวงตา หรือมีปัญหาสายตาในอนาคต

ดื่มแอลกอฮอล์อย่างจำกัด

ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละวันควรอยู่ในระดับที่พอดี เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคทางสายตาอย่างโรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ (Age-Related Macular Degeneration: AMD) และปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ให้น้อยลง โดยทั่วไป ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพปกติไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกิน 14 หน่วยมาตรฐานต่อสัปดาห์ และควรกระจายการดื่มออกเป็นหลาย ๆ วัน หรืออาจลองงดดื่มแอลกอฮอล์ลงบางวัน

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่เป็นผลเสียต่อดวงตาและสุขภาพโดยรวมของร่างกาย ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ โรคต้อกระจก อาจทำลายเส้นประสาทตาจนสามารถทำให้ตาบอดได้ในอนาคต

ปกป้องดวงตาจากแสงแดด

แสงแดดสามารถทำร้ายดวงตาได้เช่นเดียวกับผิวหนังของเรา และยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม เมื่อต้องเผชิญกับแสงแดดหรืออยู่กลางแจ้งจึงไม่ควรปล่อยให้สายตาโดนแสงแดดโดยตรง สามารถสวมแว่นตากันแดดชนิดที่มีเลนส์กรองแสงยูวีเอ (UV-A) และยูวีบี (UV-B) ที่มีป้ายระบุคุณสมบัติในการกรองรังสีได้ 99-100 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะมีประสิทธิภาพในการปกป้องได้สูงสุด นอกจากนี้ แว่นตากันแดดบางรูปทรงยังออกแบบมาเฉพาะ เพื่อช่วยถนอมสายตาให้เหมาะกับแต่ละกิจกรรม เช่น ทรงที่หน้าเลนส์และตัวเฟรมค่อนข้างโค้ง (Wrap Around) จะช่วยป้องกันแสงแดดจากทางด้านข้าง หรือแว่นตากันแดดที่ใช้เลนส์ Polarized ซึ่งเป็นเลนส์ที่เหมาะสมกับกิจกรรมกลางแจ้งและยังลดแสงสะท้อนในขณะขับรถได้ดี

พักสายตาจากหน้าจอ

การมองจอคอมพิวเตอร์ มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการตาล้า ตามัว ตาแห้ง ปวดศีรษะ มีปัญหาในการปรับโฟกัสให้มองเห็นได้ชัดเจนไปจนถึงรู้สึกปวดบริเวณคอ ไหล่ หรือหลัง เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีอาการตาแห้ง ควรกระพริบตาหรือพักสายตาชั่วครู่จากหน้าจอทุก ๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาที โดยให้มองออกไปไกลประมาณ 20 ฟุต และมีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายทุก ๆ 2 ชั่วโมง อาจเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวันบ่อย ๆ ลุกไปเดิน แต่ไม่ควรนั่งแช่หน้าจอตลอดทั้งวัน รวมไปถึงปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือถืออุปกรณ์ให้อยู่ในระดับสายตาพอดี นั่งในท่าที่ถูกต้อง และกะระยะคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากสายตาประมาณ 25 นิ้ว

ป้องกันดวงตาเมื่อต้องทำกิจกรรมหรืองานอันตราย

กีฬาหรืองานบางประเภทมีความเสี่ยงทำให้ดวงตาได้รับอันตราย เช่น การบาดเจ็บที่ดวงตาจากการเล่นกีฬา การทำงานในโรงงานและสถานที่ก่อสร้าง หรืองานซ่อมแซมบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการตอกตะปู ใช้สเปรย์ ก็สามารถเกิดอุบัติเหตุกับดวงตาได้ ดังนั้น การสวมแว่นตาหรืออุปกรณ์ป้องกันที่ออกแบบมาเพื่อกิจกรรมเหล่านั้นจะลดอันตรายที่เกิดกับดวงตาให้น้อยลง ซึ่งเลนส์แว่นตาส่วนใหญ่จะทำมาจากโพลีคาร์บอเนต มีความเหนียวและแข็งแรงมากกว่าพลาสติกทั่วไปถึง 10 เท่า อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบา

โยนเครื่องสำอางเก่าทิ้งไป

เครื่องสำอางประเภทครีมหรือของเหลวมักเกิดแบคทีเรียขึ้นได้ง่ายเมื่อเก็บเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้บนผลิตภัณฑ์ สาว ๆ หลายคนมักเสียดายหรือเก็บเครื่องสำอางไว้จนลืม การนำเครื่องสำอางเหล่านั้นมาใช้จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ดวงตาได้ง่าย ดังนั้น ก่อนการใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาจึงควรตรวจดูวันหมดอายุและลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ หากผลิตภัณฑ์หมดอายุก็ได้เวลาโยนทิ้งไปบ้าง รวมไปถึงไม่ควรใช้เครื่องสำอางร่วมกับกับผู้อื่น ทดลองเครื่องสำอางตัวอย่างตามร้านกับดวงตาโดยตรง และทำความสะอาดผิวหน้าทั้งก่อนและหลังการแต่งหน้าให้สะอาดหมดจด

รักษาความสะอาดของคอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์เป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ใช้กับดวงตาอย่างแพร่หลาย และก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาได้ง่ายเมื่อไม่มีการรักษาความสะอาดที่เพียงพอ ก่อนการใส่หรือถอดเลนส์จึงควรล้างมือให้สะอาด ทำตามคำแนะนำในการใส่หรือถอดเลนส์อย่างถูกวิธี ทำความสะอาดตัวเลนส์และตลับใส่คอนแทคเลนส์ทุกครั้ง เมื่อครบ 2-3 เดือน ก็ควรเปลี่ยนตลับคอนแทคเลนส์อันใหม่ นอกจากนี้ ไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์เกินระยะเวลาที่กำหนด สวมคอนแทคเลนส์ในขณะว่ายน้ำ หรือใส่ข้ามวันโดยไม่ถอดออก เพราะมีความเสี่ยงกับการระคายเคืองหรือการติดเชื้อตามมา

รู้ปัจจัยเสี่ยงของตนเอง

นอกเหนือจากอายุที่ทำให้ดวงตาเสื่อมไปตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น โรคของดวงตาบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทราบความเสี่ยงด้านสุขภาพของตนเอง โดยเฉพาะประวัติเกี่ยวกับโรคทางดวงตาของบุคคลในครอบครัว การทำความเข้าใจและรู้จักปัจจัยเสี่ยงของตนเองจะช่วยให้ระมัดระวังการใช้ชีวิตด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสายตาและคาดคะเนโอกาสในการเกิดโรค เพื่อใช้ชีวิตแบบไม่เสี่ยง

ตรวจตาเป็นประจำ

การเข้ารับการตรวจตาพร้อมกับวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคทางดวงตา เพราะโรคบางโรคไม่สามารถสังเกตหรือบอกได้ในช่วงแรก เช่น โรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ โรคเบาหวานขึ้นตา การตรวจตาและวัดสายตาจึงเป็นวิธีเดียวที่ช่วยค้นหาโรคบางโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูง

วิตามินและเกลือแร่สำคัญที่ช่วยบำรุงสายตา

การได้รับวิตามินและเกลือแร่อย่างครบถ้วนอาจจะช่วยให้การทำงานของดวงตาเป็นไปตามปกติและป้องกันการเกิดโรคของดวงตา แต่ด้วยวิถีการใช้ชีวิตเร่งรีบในสังคมปัจจุบันส่งผลให้การรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ในแต่ละวันร่างกายได้รับวิตามินและเกลือแร่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงมีการใช้สายตาอย่างผิดวิธี โดยเฉพาะพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิตที่มักจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตลอดทั้งวัน จึงควรมีการบริโภควิตามินและเกลือแร่ที่มีความสำคัญต่อดวงตาเข้าไปเพิ่มเติม เช่น

  • วิตามินเอ ช่วยบำรุงจอตาหรือจอประสาทตาให้ทำงานเป็นปกติ มีสุขภาพดี สามารถผลิตน้ำตาที่ใช้หล่อลื่นภายในดวงตาให้ชุ่มชื้น และช่วยยับยั้งโรคทางสายตาอื่น ๆ เช่น อาการตาบอดกลางคืน (Night Blindness) โดยช่วยปรับการมองแสงในเวลากลางคืน โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ หรือโรคต้อกระจก แหล่งที่พบวิตามินเอได้มาก เช่น แครอท มันเทศ ผักขม ตับ เนื้อไก่ เนื้อวัว ไข่ แต่ควรระมัดระวังการได้รับวิตามินเอในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นโทษต่อร่างกาย จึงควรปรึกษาถึงปริมาณที่เหมาะสมกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยปริมาณทั่วไปที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 700 ไมโครกรัมในผู้ชาย และ 600 ไมโครกรัมในผู้หญิง
  • วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin) จะช่วยควบคุมปฏิกิริยาทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับการออกซิเดชั่น (Oxidation) ที่ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ และการรีดักชัน (Reduction) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงช่วยรักษาระดับของวิตามินบี 3 และวิตามินบี 6 ให้เพียงพอ การขาดวิตามินบี 2 จะทำให้เกิดโรคต้อกระจกและผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป โดยปริมาณสำหรับผู้ใหญ่ที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน คือ 1.3 มิลลิกรัมในผู้ชาย และ 1.1 มิลลิกรัมในผู้หญิง
  • วิตามินซี มีความสำคัญหลายอย่างต่อร่างกาย เช่น การสร้างคอลลาเจน ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาจลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจก หรือโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ โดยแหล่งที่พบวิตามินซีไม่ได้มีเฉพาะในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอย่างส้มหรือสตรอว์เบอร์รี แต่รวมไปถึงพริกหยวก บล็อคโคลี่ มันเทศ ซึ่งปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 90 มิลลิกรัมในผู้ชาย และ 75 มิลลิกรัมในผู้หญิง    
  • วิตามินดี ส่วนใหญ่ได้มาจากการเปลี่ยนสารคอเลสเตอรอลใต้ผิวหนังที่ชื่อว่า 7-dehydrocholesterol ให้กลายเป็นวิตามินดีเมื่อผิวหนังโดนแสงแดด ซึ่งวิตามินดีมีส่วนช่วยในกระบวนการสำคัญหลายอย่างของร่างกาย เช่น เสริมความแข็งแรงของกระดูก ควบคุมระดับแคลเซียม หากร่างกายขาดวิตามินดีอาจทำให้เกิดโรคต้อกระจก อาการตาแดง (Pinkeye) โรคกระจกตาย้วยหรือโป่งพอง (Keratoconus)
  • วิตามินอี สามารถพบได้ในกระจกตาและเลนส์แก้วตาเช่นเดียวกับวิตามินซี ซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคต้อกระจก โรคจอตาเสื่อม และช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ ซึ่งแหล่งที่พบวิตามินอีได้มาก เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ ผักใบเขียว น้ำมันพืช (เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าว น้ำมันดอกคําฝอย) บล็อคโคลี่ ผักโขม ซึ่งขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 15 มิลลิกรัม
  • เกลือแร่และแร่ธาตุอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อดวงตาและเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรคทางดวงตา เช่น สังกะสี (Zinc) พบมากในชีส โยเกิร์ต เนื้อสัตว์สีแดง อาหารบางชนิดที่มีการเติมสังกะสีเสริมลงไป โดยปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 15-25 มิลลิกรัม หรือซีลีเนียม (Selenium) สามารถพบได้มากในข้าวและขนมปังบางชนิด ชีส ปลาทูน่า ไข่ไก่ ส่วนปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 55-70 ไมโครกรัม