DHA (ดีเอชเอ)

DHA (ดีเอชเอ)

DHA (Docosahexaenoic Acid) หรือดีเอชเอ เป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุกเซลล์ มีหน้าที่สำคัญในการทำงานของระบบประสาทและสมอง DHA จึงเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และทารก พบมากในปลาทะเลน้ำเย็น เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาแซลมอน เป็นต้น และพบได้บ้างในเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ รวมถึงไข่ไก่  

DHA

หลายคนนิยมใช้อาหารเสริม DHA เพื่อบำรุงสุขภาพร่างกายหรือรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งแม้จะมีงานวิจัยบางส่วนชี้ว่าการกินอาหารเสริมชนิดนี้อาจช่วยช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิด แต่ก็มีจำนวนค่อนข้างจำกัดและยังไม่น่าเชื่อถือพอที่จะยืนยันว่าได้ผลจริง ตัวอย่างสรรพคุณของ DHA ที่มีการกล่าวอ้างถึง ได้แก่

  • มีประโยชน์ต่อดวงตาและการมองเห็น เช่น เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ในดวงตา ช่วยกระตุ้นการทำงานของโปรตีนโรดอพซิน (Rhodopsin) ซึ่งเป็นเซลล์ในจอประสาทตาที่ทำหน้าที่รับแสง และลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากการขาด DHA อาจเพิิ่มความเสี่ยงให้เกิดปัญหาในการมองเห็นได้
  • ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับสมอง เช่น ความจำเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
  • ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โดยจากการวิจัยพบว่าหากมีระดับของ DHA ในร่างกายต่ำจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้
  • ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหืด โรคข้ออักเสบ และโรคมะเร็ง

DHA ในรูปแบบอาหารเสริม มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยบางรายและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ

เกี่ยวกับ DHA

กลุ่มยา อาหารเสริม
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ บำรุงสมอง เสริมกรดไขมัน DHA
กลุ่มผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดแคปซูล

คำเตือนในการ DHA

  • ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาความดันโลหิต เช่น ยาแคปโตพริล ยาอีนาลาพริล ยาลอซาร์แทน และยาวาลซาร์แทน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ DHA และให้ระมัดระวังในการใช้ เพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกันและส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำจนเกินไป
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน ยาวาร์ฟาริน ยาโคลพิโดเกรล ยาไดโคลฟีแนค และยานาพรอกเซน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ DHA และระมัดระวังในการใช้ เพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกันและเสี่ยงทำให้เกิดรอยช้ำหรือมีเลือดออกได้ง่าย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ DHA เพราะอาหารเสริมชนิดนี้อาจส่งผลให้มีระดับน่้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
  • ก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้องหยุดใช้อาหารเสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งรวมถึง DHA เป็นเวลา 1 หรือ 2 สัปดาห์

ปริมาณการใช้ DHA

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ DHA ขึ้นอยู่กับวัย จุดประสงค์ของการใช้ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา  โดยมีตัวอย่างการใช้ ดังนี้

ปริมาณที่ใช้โดยทั่วไป

น้ำมันปลาปริมาณ 5 กรัม มี DHA เป็นส่วนประกอบปริมาณ 72-312 มิลลิกรัม และมี EPA ปริมาณ 169-563 มิลลิกรัม

ผู้ใหญ่ รับประทานอย่างน้อย 250-500 มิลลิกรัม/วัน

เด็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี รับประทานปริมาณ 10-12 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนเด็กอายุ 2 ปี ขึ้นไปอาจรับประทานปริมาณไม่เกิน 250 มิลลิกรัม/วัน

หญิงที่ตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร รับประทานอย่างน้อย 200 มิลลิกรัม หรือรับประทาน DHA ที่ผสมกับ EPA ในปริมาณ 300-900 มิลลิกรัม/วัน

ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำหรือการรับรู้ รับประทานปริมาณ 500–1,700 มิลลิกรัม/วัน อาจช่วยพัฒนาการทำงานของสมอง

การใช้ DHA

  • ใช้ DHA ตามฉลากและตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ใช้ในปริมาณมากกว่าหรือติดต่อกันนานกว่าที่กำหนด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ
  • ควรรับประทาน DHA พร้อมอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงจากการใช้ DHA

การใช้ DHA  อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ ท้องอืด เกิดรอยช้ำตามร่างกาย มีเลือดออกเป็นเวลานาน เป็นต้น ส่วนการใช้น้ำมันปลาซึ่งมี DHA เป็นส่วนประกอบ อาจทำให้มีอาการข้างเคียงบางอย่างได้เช่นกัน เช่น ท้องอืด เลือดกำเดาไหล ท้องเสีย และมีกลิ่นคาวปลาในปาก ซึ่งการรับประทานพร้อมอาหารจะช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้ แต่หากอาการดังกล่าวไม่หายไป อาการแย่ลง หรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ DHA ในปริมาณมากเกินไป กำลังใช้ยาบางชนิดร่วมด้วย หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง อาจได้รับผลข้างเคียงอื่น ๆ จากการใช้อาหารเสริมชนิดนี้ ดังนี้

  • การใช้ DHA ร่วมกับ EPA ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำมันปลา หากใช้ในปริมาณมากกว่า 3 กร้ัม/วัน อาจเพิ่มความเสี่ยงให้มีเลือดออกได้ง่าย
  • การใช้ DHA ร่วมกับยาแอสไพริน โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อยาแอสไพริน อาจทำให้ม่ีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหลังใช้ DHA
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่กำลังใช้ยารักษาความดันโลหิตอาจมีความดันโลหิตลดต่ำเกินไปจนเกิดอันตรายได้ หากใช้ควบคู่กับ DHA ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตเช่นเดียวกัน