เลเซอร์ผิวหนัง ทางเลือกในการรักษาปัญหาผิวพรรณ

เลเซอร์ผิวหนัง คือกระบวนการรักษาผิวหนังชนิดหนึ่งที่แพทย์จะใช้อุปกรณ์ยิงแสงเลเซอร์ไปบนผิวหนังบริเวณที่มีความผิดปกติเพื่อลอกชั้นผิวหนังออกทีละชั้น เพื่อช่วยปรับสภาพผิวให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งบางคนอาจเรียกการเลเซอร์ผิวหนังว่า การกรอผิวด้วยแสงเลเซอร์ (Lasabrasion) หรือการยิงทำลายด้วยแสงเลเซอร์ (Laser Vaporization) 

เลเซอร์ผิวหนัง เป็นวิธีรักษาโรคหรืออาการทางผิวหนังได้หลายชนิด อย่างไรก็ตาม การเลเซอร์ผิวหนังก็เป็นวิธีที่มีข้อควรรู้หลายอย่างที่ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาควรทราบก่อน เพื่อการรักษาที่เห็นผลและความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นชนิดของเลเซอร์แต่ละชนิด การเตรียมตัวก่อนเซอร์ การดูแลตัวเองหลังเลเซอร์ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทุกคนสามารถศึกษาได้จากในบทความนี้

เลเซอร์

ประเภทของเลเซอร์ผิวหนัง

การเลเซอร์ผิวหนังสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการรักษา ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาชนิดของเลเซอร์ที่เหมาะสมต่อผู้เข้ารับการรักษาเป็นรายบุคคลไป

โดยชนิดของเลเซอร์ที่แพทย์มักใช้ก็เช่น

เลเซอร์ที่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก (Ablative Laser Resurfacing)

วิธีนี้เป็นวิธีที่แพทย์จะยิงเลเซอร์ที่มีระดับความแรงสูงไปที่ผิวหนัง เพื่อลอกผิวชั้นบนบริเวณที่เกิดปัญหา โดยเลเซอร์จะผ่านแทรกเข้าไปในผิวชั้นกลาง ทำให้ผิวกระชับและเรียบเนียนขึ้น

การยิงเลเซอร์แต่ละครั้งจะช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพออกไป โดยเลเซอร์ผิวหนังกลุ่มสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่

  • คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (CO2 Laser) วิธีนี้เป็นวิธีที่มักใช้เพื่อกำจัดรอยแผลเป็นที่หนาและลึก รักษารอยเหี่ยวย่น หูด รูขุมขนกว้างบนจมูก รวมทั้งกระเนื้อและมะเร็งผิวหนัง 
  • เลเซอร์เออร์เบียม (Erbium: YAG laser) วิธีนี้มักใช้รักษาปัญหาผิวที่เกิดขึ้นตื้น ๆ เช่น ริ้วรอยบนใบหน้า มือ ลำคอ หรือหน้าอก หรือหลุมสิว 

เลเซอร์ที่ทำให้ผิวเกิดอาการลอกเฉพาะส่วน (Fractionated Laser Resurfacing)

วิธีนี้เป็นวิธีที่มักใช้รักษาปัญหาผิวพรรณเฉพาะส่วน โดยแพทย์จะยิงแสงเลเซอร์บาง ๆ ผ่านเข้าไปในชั้นผิวให้เกิดหลุมเล็ก ๆ จำนวนมากซึ่งเป็นบริเวณที่เซลล์ผิวเก่าถูกทำลายและกระตุ้นเซลล์ผิวที่อยู่ลึกลงไปให้ผลิตคอลลาเจนออกมา ส่วนเซลล์ผิวดีที่อยู่ล้อมรอบนั้นจะช่วยรักษาผิวหนังที่ถูกเลเซอร์ทำลาย ทำให้เกิดเซลล์ผิวใหม่

หลังทำเลเซอร์อาจเกิดรอยแดงหรือบวมเล็กน้อยซึ่งจะหายไปภายในไม่กี่วัน ผู้ที่ทำเลเซอร์ผิวชนิดนี้อาจต้องมารับการทำเลเซอร์อีก 3–5 ครั้ง โดยแต่ละครั้งให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้อาจแตกต่างกันไป บางรายอาจเห็นผลทันที และบางรายอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2–3 เดือนจึงจะเห็นผลอย่างชัดเจน

เลเซอร์ที่ไม่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก (Non–Ablative Laser Resurfacing)

วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาผิวหนังแบบรุนแรงน้อยกว่าและใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่าการทำเลเซอร์ที่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก โดยแพทย์จะใช้รังสีอินฟราเรดยิงเข้าไปที่ผิวชั้นใน เพื่อให้ความร้อนของเลเซอร์กระตุ้นการผลิตคอลลาเจนและสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาแทนที่เซลล์ผิวที่ซึ่งถูกทำลาย

อย่างไรก็ตาม การทำเลเซอร์ผิวหนังชนิดนี้เน้นยิงเลเซอร์เข้าไปที่ผิวชั้นใน จึงอาจทำให้ต้องใช้เวลาหลายเดือนจึงจะเห็นผล

ประโยชน์ของการทำเลเซอร์ผิวหนัง

การทำเลเซอร์ผิวหนังเป็นวิธีที่อาจช่วยรักษาหรือบรรเทาปัญหาผิวพรรณได้หลายชนิด โดยปัญหาผิวที่แพทย์มักพิจารณาใช้วิธีการเลเซอร์เพื่อรักษาก็เช่น

  • เนื้องอกหลอดเลือด ปานแดง เส้นเลือดฝอยบนใบหน้าหรือบริเวณคอขยายตัวผิดปกติ เกิดเนื้องอกฮีแมงจิโอมา (Haemangiomas) หรือมะเร็งคาโปซี (Kaposi Sarcoma) 
  • รอยปาน ฝ้า หรือปานดำแต่กำเนิด รวมทั้งใช้ลบรอยสักบนผิวหนัง
  • การกำจัดขน โดยเฉพาะผู้ที่เกิดภาวะขนดกขึ้นตามร่างกาย
  • คีลอยด์และรอยแผลเป็นที่นูนหนา
  • รอยเหี่ยวย่น รอยแผลเป็น และผิวไหม้จากแสงแดด 
  • การรักษาอื่น ๆ นอกจากปัญหาผิวพรรณต่างๆ ที่กล่าวไปแล้ว การทำเลเซอร์ผิวหนังยังช่วยรักษาหูดที่เกิดจากการติดเชื้อ อาการรอยโรคบนผิวหนัง มะเร็งผิวหนัง สิว และโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (Psoriasis Plaques)

ทั้งนี้ ในบทความจะกล่าวถึงเฉพาะการทำเลเซอร์เพื่อฟื้นฟูและปรับภาพผิวเพียงอย่างเดียว เช่น ริ้วรอย รอยเหี่ยวย่น จุดด่างดำ กระแดดกระในผู้สูงอายุ สีผิวไม่สม่ำเสมอ ผิวไม่เรียบเนียน ผิวไหม้แดด ผิวหนังกลับมาหย่อนคล้อยหลังจากยกกระชับผิว หลุมสิว รอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว อีสุกอีใส หรือได้รับบาดเจ็บ

ปัจจัยเสี่ยงและผลข้างเคียงของการเลเซอร์ผิวหนัง

การทำเลเซอร์ผิวหนังถือเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยรักษาปัญหาผิวพรรณต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้จะไม่สามารถเข้ารับการทำเลเชอร์ผิวหนังได้

  • ผู้ที่เคยใช้ยารักษาสิวไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) ก่อนเข้ารับการรักษาได้ไม่นาน
  • ผู้ป่วยเบาหวาน ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
  • ผู้ที่เคยมีประวัติรับการรักษาด้วยการฉายรังสีที่ใบหน้า
  • ผู้ที่เคยมีประวัติเกิดแผลเป็นคีลอยด์
  • สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร

นอกจากนี้ การทำเลเซอร์ผิวหนังยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษา ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทของเลเซอร์ ดังนี้

การทำเลเซอร์ชนิดที่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก

ผลข้างเคียงจากการทำเลเซอร์ผิวหนังชนิดที่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก เช่น

  • เกิดรอยแดง บวม หรืออาการระคายเคือง 
  • เกิดสิว หลังเข้ารับการทำเลเซอร์แล้วต้องทาขี้ผึ้งหนาหรือพันผ้าที่ใบหน้า อาจทำให้สิวเห่อและกลายเป็นผื่นหัวขาว (Milia) ขึ้นตรงบริเวณผิวหนังที่ถูกยิงเลเซอร์
  • ติดเชื้อ ผู้ที่ทำเลเซอร์ชนิดนี้เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราได้ ส่วนใหญ่แล้ว มักทำให้ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริมกำเริบ
  • สีผิวเปลี่ยน ผิวบริเวณที่ถูกยิงเลเซอร์อาจเข้มขึ้นหรืออ่อนลง ซึ่งจะเป็นเช่นนี้อยู่หลายสัปดาห์หลังทำเลเซอร์และหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา ปัญหาสีผิวเข้มขึ้นมักพบได้ทั่วไปสำหรับผู้ที่มีผิวเข้มอยู่แล้ว โดยอาจใช้ยาทาวิตามินเอหรือกรดไกลโคลิค (Glycolic Acid) ทาหลังแผลหายดี ส่วนปัญหาสีผิวอ่อนกว่าปกตินั้นรักษาได้ยาก
  • เกิดแผลเป็น ผู้ที่ทำเลเซอร์ชนิดนี้มีแนวโน้มเกิดรอยแผลเป็นบนผิวถาวร
  • ขอบเปลือกตาม้วนออก (Ectropion) การทำเลเซอร์ใกล้บริเวณเปลือกตาล่างส่งผลให้เปลือกตาล่างม้วนออกข้างนอก จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

การทำเลเซอร์ชนิดที่ไม่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก

ผลข้างเคียงจากการทำเลเซอร์ผิวหนังชนิดที่ไม่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก เช่น

  • ติดเชื้อ การทำเลเซอร์ชนิดนี้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้ป่วยเป็นโรคเริมได้
  • สีผิวเปลี่ยน หากผู้ที่ทำเลเซอร์มีสีผิวเข้มอยู่แล้ว สีผิวอาจเข้มขึ้นกว่าเดิมหลังรับการรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดนี้ โดยสีผิวจะเข้มขึ้นเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น
  • เกิดรอยแดงและบวมเล็กน้อย หลังทำเลเซอร์ผู้ป่วยอาจเกิดรอยแดงและบวมขึ้นมา ซึ่งอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นและคงอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน
  • มีตุ่มใส ๆ และรอยแผลเป็น หลังรับการรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดนี้ อาจเกิดตุ่มใส ๆ และมีรอยแผลเป็นที่ผิวหนัง ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก

การเตรียมตัวสำหรับทำเลเซอร์ผิวหนัง

ผู้ที่ต้องการทำเลเซอร์ผิวหนังเพื่อรักษาปัญหาผิวพรรณควรเตรียมตัวให้พร้อมดังนี้

  • ปรึกษาแพทย์ ผู้ที่ตัดสินใจทำเลเซอร์ผิวหนังควรเริ่มจากการปรึกษาแพทย์ เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการรักษา โดยแพทย์จะซักประวัติอาการป่วยหรือการใช้ยาที่ผ่านมา รวมทั้งกระบวนการทางการแพทย์อื่น ๆ ที่เคยเข้ารับการรักษา ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเป็นโรคเริมที่ปากควรให้ข้อมูลดังกล่าวด้วย เนื่องจากการทำเลเซอร์ที่ใบหน้าอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาดังกล่าว
  • หยุดยาบางชนิด ผู้ที่ตัดสินใจทำเลเซอร์ผิวหนังควรหยุดใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิดประมาณ 10 วันก่อนรับการเลเซอร์ เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือวิตามินอี เนื่องจากยาหรืออาหารเสริมเหล่านี้อาจส่งผลให้เลือดหยุดยาก
  • ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคเริมที่ปาก จะได้รับยาต้านไวรัสทั้งก่อนและหลังทำเลเซอร์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส ทั้งนี้ แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะระหว่างที่เข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • งดสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่ควรงดสูบบุหรี่เป็นเวลา 2 สัปดาห์ทั้งก่อนและหลังเข้ารับการรักษา เนื่องจากการสูบบุหรี่จะทำให้ฟื้นตัวได้ช้า
  • เลี่ยงออกแดด ก่อนทำเลเซอร์ผิวหนังควรเลี่ยงออกแดดในตอนที่แดดแรง และใช้ครีมกันแดดเมื่อต้องออกแดดเสมอ เนื่องจากการออกแดดและโดนแดดแรงมากกว่า 2 เดือนก่อนทำเลเซอร์นั้น อาจทำให้บริเวณผิวหนังที่ทำเลเซอร์เปลี่ยนสีและไม่สม่ำเสมอ

ขั้นตอนการทำเลเซอร์ผิวหนัง

การเลเซอร์ผิวหนังเพื่อปรับสภาพผิวแต่ละประเภทต่างมีรายละเอียดขั้นตอนเฉพาะเจาะจง ดังนี้

การทำเลเซอร์ชนิดที่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก (Ablative Laser Resurfacing)

ก่อนทำเลเซอร์ แพทย์จะทำความสะอาดผิวใบหน้า ปิดตาผู้ป่วยไว้ และให้ยาชาเฉพาะที่ หรือบางครั้งอาจให้ยาที่ช่วยให้หลับแทนหากแพทย์เห็นว่าผู้เข้ารับการรักษาต้องทำเลเซอร์ทั่วใบหน้า

จากนั้นแพทย์จะยิงเลเซอร์ไปตรงจุดที่ต้องการรักษา เพื่อทำลายผิวชั้นนอกหรือหนังกำพร้า และส่งผ่านความร้อนไปที่หนังแท้ ซึ่งเมื่อแผลจากเลเซอร์หายแล้ว ผิวบริเวณที่เลเซอร์จะเกิดผิวใหม่ที่เรียบและบางขึ้นมา โดยทั่วไปแล้ว การทำเลเซอร์ชนิดนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที–2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับเทคนิคที่ใช้และขนาดของผิวที่ต้องรักษา

หลังจากการเลเซอร์ ผิวหนังที่ถูกยิงเลเซอร์จะบวมและเกิดอาการระคายเคืองหลังรับการรักษา รวมทั้งอาจมีสะเก็ดน้ำเหลืองออกมาด้วย ซึ่งไม่ควรแกะสะเก็ดนั้น ทั้งนี้ แพทย์อาจทาขี้ผึ้งและปิดแผลบริเวณที่ยิงเลเซอร์อย่างดีไม่ให้สัมผัสน้ำหรืออากาศได้

หากเกิดอาการปวดบริเวณแผล ควรรับประทานยาแก้ปวดและประคบน้ำแข็งเพื่อบรรเทาอาการให้ทุเลาลง นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเปล่า น้ำเกลือ หรือกรดแอซีติก (Acetic Acid) และทาขี้ผึ้งบริเวณดังกล่าวระหว่างพักฟื้นร่างกาย รวมทั้งนอนพักอยู่บ้านและเลี่ยงทำกิจกรรมหนัก ๆ เมื่อเกิดเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมา ผู้ป่วยอาจแต่งหน้าเพื่อปกปิดรอยแดงได้ตามปกติ

การทำเลเซอร์ชนิดที่ไม่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก (Non–ablative Laser Resurfacing)

ก่อนเริ่มทำเลเซอร์แพทย์จะทำความสะอาดใบหน้า ปิดตาผู้ป่วย และอาจให้ยาชาเฉพาะที่เช่นเดียวกับการทำเลเซอร์แบบแรก ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้สารที่ทำให้เย็น ทาบริเวณที่จะยิงเลเซอร์เพื่อปกป้องผิวชั้นนอก

เมื่อแพทย์ยิงเลเซอร์ แสงเลเซอร์จะกระตุ้นให้ผลิตคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ รวมทั้งกระชับผิวและปรับสภาพโทนสีผิวให้ดีขึ้น โดยทั่วไปแล้ว จะใช้เวลาทำเลเซอร์ประมาณ 15 นาที–1 ชั่วโมงครึ่ง 

หลังเข้ารับการทำเลเซอร์แล้ว อาจเกิดรอยแดงหรือบวมขึ้นสักระยะหนึ่ง ผู้ป่วยอาจใช้น้ำแข็งประคบ รวมทั้งสามารถกลับไปแต่งหน้าและทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติทันที

ผลลัพธ์หลังทำเลเซอร์ผิวหนัง

เมื่อเข้ารับการรักษาปัญหาผิวพรรณด้วยการทำเลเซอร์แล้ว อาจต้องใช้เวลาสักระยะจนกว่าจะเห็นผล โดยการทำเลเซอร์ผิวหนังแต่ละประเภทให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

การทำเลเซอร์ชนิดที่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก

หลังทำเลเซอร์ผิวหนังชนิดนี้ ผิวอาจมีรอยแดงหรือออกสีชมพูเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อบริเวณที่ถูกยิงเลเซอร์เริ่มหายดีแล้ว คุณภาพและลักษณะของผิวหนังบริเวณดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงทันทีอย่างเห็นได้ชัด โดยการทำเลเซอร์ชนิดนี้จะช่วยให้เห็นผลได้นานหลายปี

การทำเลเซอร์ชนิดที่ไม่ทำให้ผิวเกิดอาการลอก

ผู้ที่รับการรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดนี้จะค่อย ๆ เห็นผลการรักษาที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้เห็นผลทันที โดยลักษณะผิวและสีผิวจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าการรักษาเพื่อขจัดริ้วรอย

ทั้งนี้ หลังรับการทำเลเซอร์ผิวหนังทุกชนิด ควรเลี่ยงออกแดดหรือรับแดดจ้าเป็นเวลา 1 ปี เพื่อป้องกันเม็ดสีผิวเกิดความผิดปกติ เนื่องจากผลลัพธ์ที่ได้จากการทำเลเซอร์ผิวหนังไม่ได้คงอยู่ถาวร และริ้วรอยสามารถเกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น

วิธีดูแลผิวหลังทำเลเซอร์ผิวหนัง

เมื่อทำเลเซอร์ผิวหนังเรียบร้อยแล้ว ควรดูแลผิวของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้บริเวณที่ทำเลเซอร์หายดีและเห็นผลอย่างชัดเจน โดยวิธีดูแลผิวหลังทำเลเซอร์ทำได้ ดังนี้

  • เมื่อครบ 24 ชั่วโมงหลังเข้ารับการทำเลเซอร์แล้ว ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ถูกยิงเลเซอร์วันละ 4–5 ครั้ง และหมั่นทาขี้ผึ้งเพื่อไม่ให้เกิดสะเก็ดแผล
  • แพทย์อาจสั่งให้ใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการบวมรอบดวงตา
  • เมื่อถึงเวลานอน อาจนำหมอนมารองหนุนให้สูงเพื่อช่วยลดอาการบวมที่เกิดขึ้นหลังจากทำเลเซอร์ผิวหนัง
  • โดยทั่วไปแล้ว จะใช้เวลา 10–21 วัน ผิวหนังที่ถูกยิงเลเซอร์จึงจะหายดี ผู้ป่วยสามารถแต่งหน้าได้ โดยใช้เครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน (Oil–free Makeup) เพื่อปกปิดรอยแดง
  • ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดดหรือค่าเอสพีเอฟ (Sun Protection Factor: SPF) 30 ขึ้นไป เพื่อปกป้องผิวที่บางลงหลังทำเลเซอร์
  • เลี่ยงออกแดดหรือโดนแดดแรง รวมทั้งสวมเสื้อผ้าที่ปกป้องผิวจากแสงแดด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือสวมหมวกเมื่อต้องออกกลางแจ้ง
  • ควรบำรุงเซลล์ผิวใหม่ให้ชุ่มชื้น ส่วนผู้ที่ใช้ยาทารักษาสิวอุดตันหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดไกลโคลิค ต้องหยุดใช้แล้วจึงกลับมาใช้ได้อีกครั้งหลังผ่านไป 6 สัปดาห์หรือตามแพทย์สั่ง

สุดท้ายนี้ อีกสิ่งที่สำคัญก่อนจะตัดสินใจรับการรักษาด้วยการเลเซอร์ผิวหนังก็คือการเลือกคลินิกที่น่าเชื่อถือ โดยผู้ที่เข้ารับการรักษาควรเลือกคลินิกที่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย