เริมที่ปากอาการเป็นแบบไหน เป็นแล้วดูแลตัวเองอย่างไร

เริมที่ปาก (Herpes Labialis หรือ Cold Sores) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดตุ่มน้ำขนาดเล็กบริเวณรอบ ๆ ริมฝีปากในลักษณะกระจุกตัวกัน บางรายอาจเกิดภายในช่องปากร่วมด้วย และมักส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด 

เริมที่ปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 แต่ส่วนมากมักเกิดจากชนิดที่ 1 เชื้อไวรัสชนิดนี้จะแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ เช่น การจูบ การทำออรัลเซ็กส์ หรือการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น เครื่องสำอาง ช้อนส้อม มีดโกนหนวด ผ้าเช็ดตัว ซึ่งผู้ที่มีเชื้ออาจมีหรือไม่มีร่องรอยแผลตามผิวหนังก็ได้ 

เริมที่ปากเกิดจากอะไร เป็นแล้วดูแลตัวเองอย่างไร

กลไกการเกิดเริมที่ปาก และวิธีสังเกตอาการ

ผู้ที่เป็นเริมที่ปากจะพบอาการในลักษณะดังนี้

  1. ในช่วงแรกผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกคันและแสบร้อนบริเวณรอบ ๆ ริมฝีปากประมาณ 1-2 วัน
  2. จากนั้นบริเวณรอบ ๆ ปากจะเริ่มเกิดตุ่มน้ำ บวม แดง เจ็บ ประมาณ 2–3 วัน ต่อมาตุ่มน้ำจะแตกออกและเกิดเป็นแผล บางคนอาการอาจลามขึ้นไปถึงบริเวณรอบ ๆ จมูก แก้ม หรือภายในปากด้วย
  3. เมื่อแผลเริ่มแห้ง รอยแผลจะเริ่มตกสะเก็ดและหลุดออกไปเอง บางคนอาจมีอาการเลือดออกร่วมด้วย

เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น เชื้อไวรัสจะไปอยู่บริเวณปมเส้นประสาท ผู้ป่วยบางคนจึงอาจเกิดอาการซ้ำได้หากมีปัจจัยบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น เช่น ความเครียด ความอ่อนเพลีย การเจ็บป่วย การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การโดนแสงแดด สภาพอากาศที่ร้อนหรือเย็น หรืออาหารบางชนิด แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการมักจะเกิดน้อยลงเมื่อผู้ป่วยอายุเกิน 35 ปีเป็นต้นไป

ทั้งนี้ แม้เริมที่ปากจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อจะพบอาการที่กล่าวมาข้างต้น บางคนอาจไม่พบอาการเลยแม้จะติดเชื้อไปแล้ว ในขณะที่บางคนอาจพบการเกิดเริมที่ปากไม่นานหลังจากติดเชื้อ

อีกทั้งผู้ป่วยแต่ละคนมักมีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน คนที่เป็นเริมที่ปากครั้งแรกมักมีอาการที่รุนแรงและอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ เจ็บเหงือก ปวดกล้ามเนื้อ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวม ส่วนคนที่อาการกลับมาเกิดซ้ำมักพบว่า อาการมีความรุนแรงน้อยลงและมักจะเกิดบริเวณเดิม 

เป็นเริมที่ปาก ทำอย่างไรดี

เริมที่ปากมักไม่ส่งผลกระทบรุนแรงใด ๆ ต่อร่างกาย และมักหายเป็นปกติได้เองภายใน 2–4 สัปดาห์ โดยไม่ต้องรักษา ผู้ที่เป็นเริมที่ปากอาจลองทำตามวิธีต่อไปนี้ เพื่อบรรเทาอาการและช่วยให้แผลหายไวขึ้น

  • ทายาสำหรับรักษาเริมที่ปาก โดยให้ทาแผลอย่างเบามือ หลีกเลี่ยงการถูแผล ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังทายา และควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยา เพราะการใช้ยาทารักษาเริมที่ปากอาจมีประสิทธิผลที่ค่อนข้างน้อย และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนเกิดเชื้อดื้อยาได้
  • รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟนหากมีไข้ขึ้นหรือรู้สึกปวดแผล หรืออาจจะใช้ยาทาแก้ปวดเฉพาะจุด อย่างยาเบนโซเคน (Benzocaine) และยาลิโดเคน (Lidocaine) ในกรณีที่เป็นเด็กให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน เนื่องจากตัวยาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการราย (Reye’s Syndrome) ได้
  • หลีกเลี่ยงการเกาหรือบีบตุ่มแผล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและการติดเชื้ออื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
  • หมั่นทาริมฝีปากด้วยลิปบาล์มเพื่อป้องกันอาการปากแห้ง ปากแตก และที่สำคัญควรเลือกลิปบาล์มที่มีส่วนผสมของสารกันแดด เพื่อป้องกันแสงแดดซึ่งเป็นปัจจัยที่มักกระตุ้นให้เกิดเริมที่ปาก 
  • ทาปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly) บริเวณแผลและผิวหนังรอบ ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันผิวแห้ง แตก
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำเย็นประคบแผล โดยระยะเวลาการประคบแต่ละครั้งควรอยู่ที่ประมาณ 2–3 นาที แต่ควรเลือกใช้ผ้าที่สะอาด และควรทำความสะอาดผ้าหลังประคบทุกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด อาหารที่มีรสเค็ม และอาหารที่มีความเป็นกรดสูง อย่างมะเขือเทศ หรือส้ม เพื่อป้องกันการเกิดอาการแสบร้อนขณะอาหารโดนแผล

นอกจากการดูแลตัวเองแล้ว ผู้ที่เป็นเริมที่ปากควรป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่นด้วย โดยหลีกเลี่ยงการจูบ หลีกเลี่ยงการให้ผู้อื่นสัมผัสแผล รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้อื่น เช่น ลิปบาล์ม ผ้าเช็ดตัว มีดโกนหนวด หรืออุปกรณ์รับประทานอาหาร เป็นต้น

หลังจากที่อาการจากโรคเริมที่ปากดีขึ้นหรือหายแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ เช่น หมั่นล้างมือให้สะอาด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมความเครียดอยู่เสมอ 

ทั้งนี้ แม้เริมที่ปากมักหายได้เองและไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที หากอาการมีความรุนแรง อาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ อาการกลับมาเกิดซ้ำบ่อย อาการเกิดใกล้ดวงตาหรือรู้สึกระคายเคืองตา โดยเฉพาะหากผู้ป่วยเป็นเด็กทารก มีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อย่างผู้ป่วยมะเร็ง หรือเอดส์