เลือกอาหารเด็กอย่างไร ให้เหมาะสมกับพัฒนาการทารก

อาหารเด็ก คือ การเริ่มให้เด็กเล็กหรือทารกหัดรับประทานอาหารแข็งอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการดื่มน้ำนมแม่หรือนมผง พ่อแม่จะเริ่มฝึกให้ทารกรับประทานอาหารต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหารที่สับหรือบดละเอียด

อาหารเด็ก

การรับประทานอาหารอื่น ๆ จะช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วน เนื่องจากร่างกายนำสารอาหารที่สะสมไว้ไปใช้เรื่อย ๆ ส่งผลให้สารอาหารเหล่านั้นเริ่มหมดลงเมื่อทารกอายุ 6 เดือน จึงต้องรับประทานอาหารอื่นควบคู่กับนมวัวที่กลายมาเป็นอาหารหลักเมื่อทารกอายุครบ 1 ปี ทั้งนี้ การฝึกให้ทารกหัดเคี้ยวหรือกัดอาหารก็ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อที่จำเป็นต่อพัฒนาการด้านการพูด

ควรให้อาหารเด็กแก่ทารกเมื่อไหร่ ?

โดยทั่วไปแล้ว พ่อแม่ควรเริ่มให้อาหารเด็กควบคู่กับการดื่มนมแม่หรือนมผงเมื่อทารกอายุครบ 6 เดือน การหัดให้รับประทานอาหารอื่นในช่วงวัยนี้จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพของทารก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ช่วยลดโอกาสที่ทารกจะเกิดอาการสำลักอาหาร แพ้อาหาร หรือติดเชื้อจากการรับประทานอาหารบางอย่าง  โดยเฉพาะผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคแพ้กลูเตน (Coeliac Disease) ซึ่งอาจเกิดอาการดังกล่าวได้หากได้รับกลูเตนจากการรับประทานอาหารจำพวกธัญพืช ทั้งนี้ ยังมีวิธีสังเกตอาการหรือสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าทารกต้องการรับประทานอาหาร ดังนี้

  • ทารกตั้งศีรษะตรง
  • ลุกขึ้นนั่งโดยมีคนช่วยหนุนหลังหรือประคองให้นั่ง ผู้เป็นแม่อาจให้ทารกนั่งตักของตนก่อนขณะที่ให้เด็กรับประทานอาหาร เมื่อทารกนั่งได้เองแล้ว อาจให้นั่งบนเก้าอี้ได้
  • เริ่มหัดเคี้ยว โดยทารกสามารถหยิบอาหารเข้าปากและกลืนได้ พ่อแม่จะสังเกตได้ว่าทารกน้ำลายไหลออกจากปากน้อยลง หรือมีฟันขึ้นมาประมาณ 1-2 ซี่
  • ทารกจะเริ่มรับประทานอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวได้เมื่อมีน้ำหนักตัวเพิ่มเป็น 2 เท่าจากน้ำหนักตัวแรกคลอด โดยน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน
  • ทารกมองหรือพยายามหยิบอาหารแบบที่ผู้ใหญ่ทำ
  • ทารกมองอาหารและหยิบอาหารเข้าปากตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ทารกอาจแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าสามารถให้เริ่มรับประทานอาหารเด็กได้ เช่น กัดมือหรือกำปั้นตัวเอง ตื่นขึ้นมากลางดึกหลังจากหลับไปแล้ว หรือต้องการดื่มนมมากขึ้น

อาหารเด็กสำหรับพัฒนาการทารกวัยต่าง ๆ

ทารกแต่ละช่วงวัยจะรับประทานอาหารแตกต่างกันไปตามพัฒนาการของร่างกาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก ได้แก่ ช่วงแรกเกิด-6 เดือน และช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป ดังนี้

  • ช่วงแรกเกิด-6 เดือน
    • น้ำนม ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน ควรดื่มนมแม่หรือนมผงสำหรับทารกในกรณีที่แม่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ ซึ่งทารกจะได้รับปริมาณน้ำนมแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน ดังนี้
      • น้ำนมแม่ การให้นมบุตรตลอด 6 เดือนแรกนับว่ามีประโยชน์ต่อทารกและมารดา โดยทารกจะสามารถต้านการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เจริญเติบโตสมวัย และได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างครบถ้วน ส่วนมารดาที่ให้นมบุตรนั้นจะน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วและสามารถคุมกำเนิดได้นานขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานควรรับประทานอาหารให้เพียงพอและครบถ้วน เพื่อเลี่ยงภาวะน้ำหนักตัวลดลงอันส่งผลเสียต่อสุขภาพ แม่ที่ให้นมบุตรเอง ควรให้นมทารกวันละ 8-12 ครั้ง ทั้งนี้ เมื่อทารกอายุมากขึ้น ก็อาจใช้เวลาในการให้นมบุตรน้อยลง เนื่องจากร่างกายของทารกสามารถรับปริมาณน้ำนมได้มากและดีขึ้น
      • นมผง ผู้เป็นแม่ควรชงนมผงสำหรับทารกในปริมาณ 60-90 มิลลิลิตร โดยให้ทารกดื่มนมทุก 3-4 ชั่วโมง ทั้งนี้ ทารกอาจดื่มนมวันละประมาณ 950 มิลลิลิตรเมื่ออายุครบ 6 เดือน และจะดื่มนมบ่อยขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงเจริญเติบโต
    • ถั่วลิสง อาการแพ้ถั่วถือเป็นภาวะร้ายแรงและอันตรายต่อชีวิต การให้ทารกรับประทานถั่วลิสงตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทำการศึกษาทารกช่วงอายุ 4-11 เดือน จำนวน 640 คน  ที่มีอาการแพ้ไข่หรือป่วยเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบอย่างรุนแรง โดยแบ่งทารกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่รับประทานถั่ว และกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานถั่ว และใช้เวลาทำการทดลองจนทารกอายุครบ 60 เดือน พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้รับประทานถั่วเกิดอัตราความชุกของภาวะแพ้ถั่วมากกว่ากลุ่มที่รับประทานถั่ว ทารกที่ป่วยเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบรุนแรงหรือแพ้ไข่ จัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเกิดอาการแพ้ถั่วได้สูง จึงควรรับประทานถั่วลิสงตั้งแต่อายุ 4-6 เดือน แล้วจึงให้รับประทานอาหารเด็กอย่างอื่นเมื่อครบกำหนดอายุที่เหมาะสม ส่วนทารกที่เกิดอาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบระดับอ่อนไปจนถึงค่อนข้างรุนแรง ควรหัดรับประทานถั่วลิสงเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน เพื่อเลี่ยงการเกิดอาการแพ้ถั่ว และทารกที่ไม่ได้ป่วยเป็นผื่นผิวหนังอักเสบหรือมีอาการแพ้อาหาร สามารถรับประทานถั่วลิสงร่วมกับอาหารเด็กชนิดอื่น ๆ ได้ตามต้องการ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ควรให้ทารกเริ่มหัดรับประทานถั่วลิสงในรูปของเนยถั่วชนิดบดละเอียดที่ผสมกับผักหรือผลไม้บดละเอียด เพื่อไม่ให้อาหารติดคอทารก
  • ช่วงอายุ 6 เดือน ขึ้นไป ทารกที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถรับประทานอาหารอื่นนอกเหนือจากน้ำนมแม่หรือนมผงสำหรับทารกได้ ควรเริ่มให้อาหารที่มีส่วนผสมอย่างเดียวทีละชิ้นหรือในปริมาณ 0.5-1 ออนซ์ โดยเลือกอาหารที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งสังเกตว่าทารกเกิดอาการแพ้อาหารที่ให้หรือไม่ โดยใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน แล้วจึงให้ทารกรับประทานอาหารอย่างอื่น ค่อย ๆ เพิ่มเวลาในการรับประทาน ปริมาณอาหาร และสารอาหารที่หลากหลายตามอายุของทารก ทารกควรได้รับประทานอาหารครบถ้วนทุกหมู่เมื่ออายุประมาณ 7-8 เดือน โดยทารกแต่ละช่วงอายุจะรับประทานอาหารต่าง ๆ ได้ ดังนี้
  • ช่วงอายุ 6-8 เดือน
    • น้ำนม ทารกช่วงอายุนี้ยังต้องได้รับสารอาหารจากน้ำนมแม่หรือนมผงสำหรับทารกอยู่ โดยอาจดื่มนมน้อยลงและรับประทานอาหารอื่นมากขึ้น ผู้ที่ให้นมบุตรควรให้ทารกดื่มนมตามความต้องการของร่างกาย ส่วนทารกที่ดื่มนมผงจะได้ดื่มนมประมาณ 700-950 มิลลิลิตร ตามความต้องการสารอาหารของร่างกาย
    • ผลิตภัณฑ์ธัญพืชต่าง ๆ ทารกควรรับประทานอาหารจำพวกธัญพืชจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ซีเรียลอุดมธาตุเหล็ก ขนมปัง หรือแครกเกอร์ชิ้นเล็กประมาณ 1-2 ออนซ์
    • ผักและผลไม้ ทารกควรรับประทานผักปรุงสุกหรือผลไม้ที่บดจนเนื้อสัมผัสของอาหารละเอียดข้น โดยให้ทารกรับประทานในปริมาณ 2-4 ออนซ์
    • อาหารที่มีโปรตีน ทารกควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยให้รับประทานเนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ไข่ ชีส โยเกิร์ต หรือถั่วเมล็ดแห้งที่บดจนป่นหรือเนื้อสัมผัสอาหารละเอียดและข้นในปริมาณ 1-2 ออนซ์
  • ช่วงอายุ 8-12 เดือน
    • น้ำนม ทารกช่วงอายุนี้สามารถดื่มน้ำนมแม่ได้อยู่ ส่วนทารกที่ดื่มนมผงควรดื่มประมาณ 700 มิลลิลิตร หรือให้นมแก่ทารกตามความต้องการของร่างกาย
    • ผลิตภัณฑ์ธัญพืชต่าง ๆ ทารกควรรับประทานอาหารที่ได้จากธัญพืชต่าง ๆ มากขึ้น โดยให้รับประทานซีเรียลที่อุดมธาตุเหล็กประมาณ 2-4 ออนซ์ รวมทั้งเสริมอาหารธัญพืชอื่น ๆ ได้แก่ แครกเกอร์ ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว หรือแป้งข้าวโพดชนิดหยาบ (Corn Grits)
    • ผักและผลไม้ ทารกช่วงอายุนี้สามารถรับประทานผักและผลไม้ที่มีเนื้อสัมผัสหยาบขึ้นกว่าเดิมได้ โดยให้รับประทานแบบสับละเอียดหรือหั่นชิ้นเล็ก ๆ เป็นลูกเต๋าในปริมาณ 4-6 ออนซ์
    • อาหารที่มีโปรตีน ควรรับประทานไก่ และปลาที่สับหรือหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ รวมทั้งรับประทานไข่ ชีส โยเกิร์ต หรือถั่วเมล็ดแห้งที่บดละเอียดในปริมาณ 2-4 ออนซ์

อาหารเสริมสำหรับอาหารเด็ก

ทารกที่อายุตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไป ควรได้รับอาหารเสริมต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนและเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ดังนี้

  • วิตามินเอและวิตามินซี ทารกที่ไม่ได้ดื่มนมผงวันละ 500 มิลลิลิตร ควรรับประทานอาหารเสริมที่ประกอบด้วยวิตามินเอหรือวิตามินซีเพิ่ม เนื่องจากทารกอาจได้รับวิตามินที่ผสมอยู่ในนมผงสำหรับทารกอย่างไม่เพียงพอ ทั้งนี้ พ่อแม่สามารถให้ทารกรับประทานวิตามินเอและวิตามินซีเสริมได้จนกระทั่งทารกโตอายุครบ 5 ขวบ เพื่อช่วยให้ได้รับวิตามินที่จำเป็นอย่างครบถ้วน
  • วิตามินดี ทารกที่ไม่ได้ดื่มนมผงวันละ 500  มิลลิลิตร ควรรับประทานอาหารเสริมที่ผสมวิตามินดีวันละ 8.5-10 ไมโครกรัม โดยทารกสามารถรับวิตามินดีเสริมได้จนอายุครบ 5 ปี ทั้งนี้ เด็กสามารถรับประทานวิตามินดีเสริมได้วันละ 10 ไมโครกรัม ในกรณีที่เด็กรับประทานอาหารต่าง ๆ ได้ยาก
  • วิตามินบี 12 เด็กเล็กที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ควรรับประทานอาหารเสริมที่ผสมวิตามินบี 12 ควบคู่กัน เพื่อช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ

อาหารที่ควรเลี่ยงสำหรับเด็ก

เด็กแต่ละช่วงวัยควรได้รับอาหารที่เหมาะสมกับพัฒนาการของตน เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ควรระวังอาหารบางอย่างที่ไม่ควรให้ทารกรับประทาน โดยอาหารที่ควรเลี่ยง มีดังนี้

  • เกลือ พ่อแม่ควรเลี่ยงปรุงอาหารด้วยเกลือ รวมทั้งจำกัดการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือหรืออาหารที่ผ่านการปรุงแต่งให้กับทารก เช่น เบคอน หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการบางอย่าง โดยทารกที่อายุ 7 เดือนขึ้นไป ควรได้รับเกลือวันละไม่เกิน 1 กรัม
  • น้ำตาล พ่อแม่ควรเลี่ยงให้ทารกบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งน้ำตาลเข้าไป ซึ่งรวมไปถึงอาหารหรือเครื่องดื่มที่ใส่สารให้ความหวานอื่น ๆ
  • น้ำผึ้ง ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ควรเลี่ยงรับประทานน้ำผึ้ง เนื่องจากอาจมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ ซึ่งก่อให้เกิดโรคที่เกิดสารพิษจากการได้รับเชื้อดังกล่าว หรือที่เรียกว่าโรคบูทูลิซึม (Botulism) แก่ทารกได้
  • เครื่องดื่มต่าง ๆ ทารกและเด็กเล็กไม่ควรดื่มเครื่องดื่มโซดา เครื่องดื่มผสมเจลาติน กาแฟ ชา น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มโซดารสผลไม้
  • นมวัว ทารกไม่ควรบริโภคผลิตภัณฑ์นมวัวต่าง ๆ จนกว่าจะมีอายุครบ 12 เดือน
  • อาหารบางประเภทและเครื่องปรุงรส ไม่ควรให้ทารกรับประทานอาหารทอดหรือเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรุงอื่น ๆ รวมทั้งควรเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน เนย ไขมันอื่น ๆ และเครื่องปรุงต่าง ๆ