สังเกตอาการแพ้ถั่วและวิธีรับมือก่อนเป็นอันตรายถึงชีวิต

แพ้ถั่ว (Nut Allergy) เป็นอาการในกลุ่มแพ้อาหารที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อโปรตีนในถั่ว โดยระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ก่ออันตรายต่อร่างกายซึ่งต้องถูกกำจัดออกไป จึงทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนังและทางเดินอาหาร และบางรายอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

ผู้ที่แพ้ถั่วมักเกิดอาการแพ้เมื่อรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วลิสงและถั่วประเภทยืนต้น (Tree Nuts) จึงควรอ่านฉลากสินค้าและระมัดระวังการรับประทานอาหารเสมอ หากอยากรู้ว่าแพ้ถั่วเป็นอย่างไร บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการแพ้ วิธีรักษา และวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดอาการแพ้ถั่วอย่างรุนแรงไว้แล้ว

สังเกตอาการแพ้ถั่วและวิธีรับมือก่อนเป็นอันตรายถึงชีวิต

ทำความรู้จักการแพ้ถั่ว

แพ้ถั่วเป็นอาการที่เกิดจากการแพ้โปรตีนบางชนิดในถั่ว ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไม่สลายไปหลังผ่านความร้อน ดังนั้น แม้จะรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วที่ปรุงสุกแล้วก็อาจทำให้บางคนเกิดอาการแพ้ได้ 

โดยร่างกายจะการปล่อยแอนติบอดี้เพื่อกำจัดโปรตีนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารฮิสตามีน (Histamine) ส่งผลให้อาการแพ้ต่าง ๆ แสดงออกมา โดยถั่วแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่

  • ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน เช่น ถั่วลิสง ถั่วลูกไก่ (Chickpeas) และถั่วเลนทิล (Lentils)
  • ถั่วประเภทยืนต้น หรือถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย ฮาเซลนัท เชสนัท วอลนัท ถั่วพิสตาชิโอ ถั่วพีแคน ถั่วฮิกคอรี (Hickory nuts) และถั่วบราซิล (Brazil Nuts) 

ผู้ที่แพ้ถั่วประเภทใดประเภทหนึ่ง มีความเสี่ยงที่จะแพ้ถั่วอื่น ๆ เช่นกัน โดยผู้ที่แพ้ถั่วเมล็ดแห้งอย่างถั่วลิสงประมาณร้อยละ 20–30 มักแพ้ถั่วประเภทยืนต้นด้วยอย่างน้อย 1 ชนิดหรือมากกว่า และมักพบว่าผู้ที่แพ้ถั่วลิสงอาจมีอาการแพ้ถั่วเหลืองด้วย ทั้งนี้ อาการแพ้ถั่วสามารถเริ่มเกิดได้ตั้งแต่ในวัยเด็กและต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และอาจทำให้บางคนเกิดอาการแพ้รุนแรงและเสียชีวิต 

แพ้ถั่วมีอาการอย่างไร

การแพ้ถั่วจะเกิดขึ้นหลังรับประทานถั่วหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของถั่ว โดยอาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาทีหรือไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่ว โดยอาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • รู้สึกชาในปากหรือลำคอ และบางครั้งอาจรู้สึกแน่นในลำคอ
  • ริมฝีปากบวม
  • เกิดผื่นแดงคันที่ผิวหนัง และผื่นลมพิษ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน 

บางคนอาจมีอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) โดยอาจมีอาการต่าง ๆ ข้างต้นร่วมกับผิวหนังแดง หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด ลำคอบวม หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ ความดันโลหิตลดลง และอาจหมดสติได้

รักษาการแพ้ถั่วอย่างไรได้บ้าง

หากสงสัยว่าตัวเองอาจแพ้ถั่ว ควรจดบันทึกอาการ ช่วงเวลา และอาหารที่รับประทาน เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ทราบข้อมูลการแพ้และวินิจฉัยอาการได้ดีขึ้น

โดยหลังจากสอบถามประวัติการแพ้และอาการต่าง ๆ แพทย์จะตรวจร่างกายและอาจพิจารณาการตรวจเพิ่มเติม เช่น การทดสอบทางผิวหนัง (Skin Prick Test) และการตรวจเลือด เพื่อหาปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อโปรตีนในถั่ว

เมื่อทราบผลการตรวจว่ามีอาการแพ้ถั่วชนิดใด วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ โดยผู้ที่แพ้ถั่วควรอ่านส่วนประกอบที่ระบุบนฉลากสินค้าของอาหารทุกชนิดก่อนรับประทาน เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วและอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่ว เช่น

  • เนยถั่วและน้ำมันถั่วลิสง
  • ขนมอบต่าง ๆ เช่น คุกกี้ แครกเกอร์ เค้ก พาย
  • ไอศกรีม พุดดิ้ง ลูกอม และช็อกโกแลต
  • ซีเรียล กราโนล่า และโปรตีนบาร์
  • น้ำสลัด ซอสปรุงอาหาร และน้ำผึ้ง
  • เครื่องดื่มแอลกฮอล์บางชนิด ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้ระบุในฉลากว่ามีถั่วเป็นส่วนผสม

อาหารไทยทั้งเมนูอาหารคาวและหวานมักมีส่วนประกอบของถั่วลิสง เช่น มัสมั่น ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ และยำ จึงควรระมัดระวังทุกครั้งเมื่อรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยถามคนขายก่อนซื้อเสมอหากไม่แน่ใจว่าอาหารที่เลือกซื้อมีส่วนประกอบของถั่วหรือไม่ 

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์หรือขนมในร้านที่ใช้ช้อนหรือที่คีบร่วมกัน เพราะถั่วอาจติดมากับอุปกรณ์เหล่านี้จากการตักหรือคีบอาหารอื่น และไม่ควรรับประทานอาหารชนิดใดก็ตามที่ไม่ทราบส่วนประกอบ

นอกจากอาหารที่เรารับประทาน ถั่วอาจเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิว เช่น แชมพู สบู่ และโลชั่นที่อาจมีส่วนผสมของน้ำมันสกัดจากถั่ว ผู้ที่แพ้ถั่วควรอ่านฉลากสินค้าของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก่อนซื้อหรือนำมาใช้เช่นกัน

หากเกิดอาการแพ้ไม่รุนแรง สามารถรับประทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการได้ทันทีหลังมีอาการ โดยตัวยามักออกฤทธิ์ภายใน 15–30 นาที แต่กรณีที่เกิดอาการแพ้รุนแรงจำเป็นต้องฉีดยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) โดยแพทย์อาจให้ผู้ที่แพ้ถั่วพกยาอิพิเนฟรินรูปแบบปากกาติดตัวไว้เสมอเพื่อใช้ฉีดยับยั้งอาการแพ้ในกรณีฉุกเฉิน

รับมืออย่างไรเมื่อแพ้ถั่วอย่างรุนแรง

ผู้ที่แพ้ถั่วควรบอกคนใกล้ชิด เช่น ครอบครัวและเพื่อน ให้ทราบถึงอาการแพ้และบอกสถานที่เก็บยาอิพิเนฟริน เพราะเมื่อเกิดอาการแพ้รุนแรงและผู้ที่แพ้ถั่วหมดสติ บุคคลเหล่านี้จะสามารถช่วยเหลือได้ และผู้ที่แพ้ถั่วควรพกบัตรที่มีข้อมูลการแพ้ติดตัวเสมอเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแพ้ซ้ำ

หากเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรให้ผู้ป่วยนอนราบและยกขาสูงเล็กน้อย ยกเว้นหากมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ อาจให้ผู้ป่วยนั่งแทนได้ ฉีดยาอิพิเนฟรินชนิดปากกาเข้าที่บริเวณต้นขา กดค้างไว้ประมาณ 3 วินาทีและดึงกระบอกฉีดออก นวดคลึงเบา ๆ ประมาณ 10 วินาที หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 5 นาทีสามารถฉีดซ้ำได้ และรีบไปพบแพทย์

เมื่อทราบว่าตัวเองมีอาการแพ้ถั่ว ต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วและอาหารที่มีส่วนผสมของถั่ว ผู้ที่แพ้ถั่วประเภทหนึ่งอาจมีโอกาสแพ้ถั่วประเภทอื่นได้ด้วย จึงควรระมัดระวังการเลือกซื้อและรับประทานอาหารที่ไม่ทราบส่วนประกอบแน่ชัด เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการแพ้ถั่ว หรือการใช้ยาแก้แพ้ต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมในการดูแลตัวเอง